สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคติดต่ออุบัติใหม่

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง มีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ.2495 เกิดจากเชื้อไวรัส alphavirus ในสกุล Togaviridae ชื่อ ‘chikungunya’ มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกา (ภาษา Kimakonde) ซึ่งอธิบายถึงลักษณะบูดเบี้ยวหรือบิดงอตัว (contorted) จากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากยุงลายบ้าน Aedes aegypti ซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedes albopictus ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน (โดยเฉพาะช่วงเช้าๆ และบ่ายแก่ๆ) ยุงลายสวนชอบหากินบริเวณนอกบ้าน แต่ยุงลายบ้านชอบกัดดูดเลือดภายในอาคารบ้านเรือน

สถานการณ์ในต่างประเทศ

  • มิถุนายน 2552 พบการระบาดใน 4 เมืองของประเทศอินเดีย ได้แก่ เมือง Sirsi, Siddapur, Yellapur และ Mundgodtaluks
  • มกราคม-กรกฎาคม 2552 ประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยใน 5 รัฐ ได้แก่ ปีนัง ยะโฮ สลังงอร์ กัวลาลัมเปอร์ พุตราจายา จำนวน 2,839 ราย
  • กรกฎาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 3 รายในเมือง Saint-Gilles-Les-Bains ทางตะวันตกของเกาะ Reunion มหาสมุทรอินเดีย โดยพื้นที่นี้เคยพบการระบาดของโรคในปี พ.ศ. 2548-2549 เมื่อสิ้นสุดการระบาด (ธันวาคม 2549) คิดเป็นอุบัติการณ์ของโรค เท่ากับร้อยละ 36 และความชุกทางซีรั่มวิทยาเท่ากับร้อยละ 38

สถานการณ์ในประเทศไทย

ในประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร แยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเด็ก ต่อมายังพบผู้ป่วยเด็กบ้างบางราย และในปี พ.ศ. 2551 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จำนวนทั้งสิ้น 2,494 ราย จาก 8 จังหวัด อัตราป่วย 3.95 ต่อแสนประชากร เริ่มมีรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม จำนวน 4 ราย กันยายน 112 ราย ตุลาคม 318 ราย พฤศจิกายน 558 ราย ธันวาคม 1,502 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละเดือน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, สงขลา และยะลา อัตราป่วยต่อแสนประชากรเท่ากับ 201.3, 58.59, 45.55 และ 13.74 ตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน (25 สิงหาคม 2552) พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 39,163 ราย จาก 51 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 61.78 ต่อแสนประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นราธิวาส (1080.66 ต่อแสนประชากร) ภูเก็ต (839.13 ต่อแสนประชากร) สงขลา (726.17 ต่อแสนประชากร) ปัตตานี (696.08 ต่อแสนประชากร) และยะลา (589.03 ต่อแสนประชากร) ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดยังคงเป็นภาคใต้ 432.82 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นอัตราป่วย 1.22, 0.99 และ 0.38 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ

มาตรการป้องกันโรค

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะ) เป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

  • สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และให้สุขศึกษาแก่ชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและร่วมมือกันกำจัดหรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้อยู่ในระดับต่ำอยู่เสมอ (ซึ่งต้องเร่งรัดมากขึ้น ทั้งก่อนและในช่วงฤดูฝน และในช่วงที่เกิดการระบาด) ประชาชนรู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยต้องนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดแม้เป็นเวลากลางวัน จุดยากันยุง ทายากันยุง หรือสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เป็นต้น ซึ่งหากใช้มุ้ง ผ้าม่าน มู่ลี่ ฯลฯ ที่ชุบสารเคมีกำจัดแมลง ก็จะยิ่งป้องกันยุงได้ดียิ่งขึ้น
  • สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อประเมินความชุกชุมของยุงพาหะ จำแนกชนิดของแหล่งเพาะพันธุ์ (ยุงลายชอบเพาะพันธุ์ตามภาชนะน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น) และเพื่อแนะนำวิธีการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลายแก่ประชาชน เช่น ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำในจานรองขาตู้ แจกัน ฯลฯ ทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ขัดด้านในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงติดอยู่ คว่ำกะลา กวาดเก็บใบไม้ (ตามพื้น หลังคาบ้าน ท่อน้ำฝน ฯลฯ) กำจัดยางรถยนต์เก่า หรือนำไปแปรสภาพและใช้ประโยชน์ ฯลฯ

มาตรการควบคุมการระบาด

  • สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันตามความเหมาะสม เช่น การปกปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด การหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ (เช่น ทุกๆ 7 วัน) การใส่ปลากินลูกน้ำ การใส่สารเคมีฆ่าลูกน้ำ เป็นต้น
  • ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแบบพ่นหมอกควันหรือพ่นฝอยละออง เพื่อช่วยลดความชุกชุมของยุง โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
  • แนะนำประชาชนให้ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
  • แนะนำประชาชนในครัวเรือนที่มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในบ้าน ต้องให้ผู้ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายไปกัดและแพร่เชื้อได้ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะแพร่ขณะที่มีไข้สูง (ในระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย)
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะ 7 วัน หลังมีไข้ ต้องป้องกันเชื้อจากตนเองไปสู่บุคคลอื่นโดยงดเว้นหรือชลอการเดินทางออกนอกพื้นที่ภายในระยะเวลา 7 วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อลดการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้ โดยนอนในมุ้งในเวลากลางวันและกลางคืน

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

โรคชิคุนกุนยา นับเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก ดังนั้นมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค จึงเป็นไปในลักษณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับโรคไข้เลือดออก โดยเพิ่มเติมเรื่องการให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคชิคุนกุนยา การกำจัดยุงลายสวนและยุงลายบ้าน เพื่อเป็นการบูรณาการการดำเนินงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา
โรคไข้เลือดออกมาร์เบอร์ก
โรคไข้หวัดนก
โรคไข้เหลือง
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)
โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส
โรคทูลารีเมีย (Tularemia)
โรคเมลิออยโดซิส
โรคลิชมาเนีย
โรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)
โรคแอนแทรกซ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย