ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ

(Empowerment Theories)

การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ

สถานการณ์การให้ความช่วยเหลือเป็นสถานการณ์หนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการจะช่วยกันระบุว่ากำแพงอุปสรรคในการสร้างพลังอำนาจคืออะไรบ้าง นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการจะช่วยกันค้นหาพลวัตของพลังอำนาจ ความเข้มแข็งและทรัพยากรของบุคคลและกลุ่ม ตลอดจนช่วยกันดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ว่าผู้ใช้บริการจะอยู่ในระดับจุลภาคมัชฌิมภาค หรือมหภาคของระบบสังคม สถานการณ์การให้ความช่วยเหลือตามทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจจำเป็นต้องเชื่อมโยงบุคคลไปสู่การเมืองเสมอ ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจโดยเบื้องต้นจะนิยามความหมายของสถานการณ์ในรูปของ “ปัญหาสังคม” (Social problems) และ “ประเด็นปัญหาสังคม” (Social issues) ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าใจในสมรรถภาพของตนเอง ก็สามารถนิยามได้ว่าเป็น “การสร้างความเจริญงอกงาม” ได้ประการหนึ่ง

การประเมิน กลยุทธ์การปฏิบัติ และวิธีการ

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจนั้นครอบคลุมหลักการบางประการที่นำไปสู่การทำความเข้าใจในการประเมิน กลยุทธ์ของการปฏิบัติงาน และวิธีการในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ดังนี้

(1) การกดขี่ทุกประการถือเป็นการทำลายชีวิต นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการจะต้องท้าทายการกดขี่ทุกประการ
(2) นักสังคมสงเคราะห์ควรจะมีวิสัยทัศน์เชิงองค์รวม เชิงระบบ และเชิงเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบต่อการกดขี่
(3) ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการสร้างพลังอำนาจโดยตนเอง นักสังคมสงเคราะห์ควรช่วยเหลือผู้ใช้บริการในการตั้งเป้าหมายและสร้างกลยุทธ์ แทนที่จะถือตนเองเป็นผู้กำหนดให้เขาหรือเธอ
(4) ประชาชนที่ประสบปัญหาความยากลำบากเหมือนกัน ต่างต้องการกันและกันเพื่อสร้างพลังอำนาจให้แก่กันและกัน
(5) นักสังคมสงเคราะห์ควรสร้างสัมพันธภาพที่เคารพผู้ใช้บริการอย่างเท่าเทียม (I and I relationship)
(6) นักสังคมสงเคราะห์ควรกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการได้เล่าเรื่องราวและนิยามความหมายของชีวิตและความใฝ่ฝันของตนให้เราทราบ
(7) นักสังคมสงเคราะห์ควรมองผู้ให้บริการเป็น “ผู้ชนะ” (Victor) มากกว่าเป็น “เหยื่อ” (Victim) และ
(8) นักสังคมสงเคราะห์ควรมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าเป็นการบรรเทาอาการของปัญหา หรือทำให้ผู้ใช้บริการต้องยอมจำนนตามสถานการณ์ต่างๆ

หลักการดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ได้ดีทั้งในกลุ่มสตรีนิยมและกลุ่มที่ทำงานกับชาวเกย์และเลสเบี้ยน ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจเน้นการประเมินอุปสรรคพลังอำนาจส่วนบุคคล อุปสรรคระหว่างบุคคล อุปสรรคในด้านการเมือง ที่สกัดกั้นไม่ให้บุคคลบรรลุความใฝ่ฝันของตน นอกจากนั้นการประเมินของนักสังคมสงเคราะห์ยังครอบคลุมไปถึงเป้าหมาย ความเข้มแข็ง และไหวพริบความสามารถของผู้ใช้บริการ ตลอดจนระบบการสนับสนุน และทรัพยากรที่เหมาะสมในชุมชน

การสร้างพลังอำนาจจำเป็นต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานที่สวมบทบาทนักสร้างพลังอำนาจ ซึ่งเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่กับผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ ทว่ารวมไปถึงกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือที่เน้นการสร้างพลังอำนาจบทบาทของนักสร้างพลังอำนาจครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้

(1) บทบาทการให้คำปรึกษาเรื่องทรัพยากร (Resource-consultant role) ซึ่งเน้นความสำคัญของการเชื่อมโยงผู้ใช้บริการไปสู่ทรัพยากร ในแบบแผนการกระทำที่เน้นความภาคภูมิใจในตนเอง และความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนเอง

(2) บทบาทของการสร้างความสามารถในการรับรู้ (Sensitizer role) ซึ่งเป็นการช่วยผู้ใช้บริการให้ได้รับความรู้ที่จำเป็นในการควบคุมชีวิตของตนเองได้

(3) บทบาทของครูผู้ฝึกสอน (Teacher trainer role) ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกลายเป็นผู้จัดการในกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการค้นพบทางออกหรือกุญแจไขปัญหาของตนได้

(4) บทบาทของผู้ประสานงาน (Cooperator role) ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์มีความเข้าใจต่อผู้ใช้บริการ ในฐานะที่เขาหรือเธอจะเป็นฝ่ายตัดสินใจด้วยตนเอง ในการบรรลุความสามารถของตนและการสร้างพลังอำนาจด้วยตนเอง

เช่นเดียวกัน กิวเทียร์เรซ์ (1990) ก็กำหนดบทบาทการให้ความช่วยเหลือเป็น “หุ้นส่วน” “ผู้ให้ความร่วมมือร่วมใจ” “ครูร่วมสอน” “ผู้ร่วมแสวงหาความรู้” “ผู้ร่วมสนทนาเชิงลุ่มลึก” “ผู้ร่วมตั้งคำถามเชิงวิพากษ์” “ผู้สร้างสะพานเชื่อมโยง” “ผู้แนะนำ” “พันธมิตร” “ผู้สร้างพลังความเสมอภาค” “ผู้สร้าง” “นักกิจกรรมร่วม” และ “นักปฏิบัติร่วม”

สัมพันธภาพที่ใช้ในการทำงานสร้างพลังอำนาจ เป็นสัมพันธภาพที่มีสาระสำคัญอยู่ที่การไว้วางใจ การสนทนาลุ่มลึก การร่วมมือร่วมใจ ความไม่เป็นทางการ ความจริงแท้ การสื่อสารอย่างเปิดกว้าง การร่วมแบ่งปันพลังอำนาจ และความเสมอภาคเท่าเทียม

ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือจะไม่ระบุว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทว่าเป็นเพียงผู้ให้ความร่วมมือในการแสวงหาข้อยุติหรือทางออกของปัญหา ที่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคล การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง

กลยุทธ์ที่ใช้ในการสนับสนุนการสร้างพลังอำนาจมีหลากหลาย โดยเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดคือ นักสังคมสงเคราะห์ต้องใช้สัมพันธภาพทางวิชาชีพไปในการสร้างความรู้สึกให้ผู้ใช้บริการมีพลังอำนาจ สิ่งนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งและประยุกต์พลังอำนาจนี้ไปสู่สภาพแวดล้อมของสังคมใหญ่ การสร้างพลังอำนาจจะบังเกิดขึ้นจากการกระทำโดยตรง การถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใช้บริการจะต้องเข้ามาร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างกระตือรือร้นด้วยตนเอง

เทคนิคในการสร้างพลังอำนาจให้เกิดขึ้น มีอาทิ เบื้องต้นที่สุด นักสังคมสงเคราะห์จะต้องยอมรับในการนิยามความหมายของปัญหาที่ผู้ใช้บริการเป็นผู้กำหนด และสื่อสารให้ผู้ใช้บริการทราบถึงสถานการณ์อย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้บริการ การพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ใช้บริการต้องเน้นไปที่ความสามารถและสมรรถภาพของเขาหรือเธอเป็นสำคัญ

นักสังคมสงเคราะห์ระบุให้ผู้ใช้บริการทราบถึงความเข้มแข็งของตนและสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว กลยุทธ์เช่นนี้เป็นการยืนยันที่จะปฏิเสธว่าปัญหาของคนไม่ได้เกิดจากความบกพร่องส่วนบุคคล และเป็นการสื่อสารให้ผู้ใช้บริการทราบถึงความเคารพในกำลังความสามารถในการต้านทานกับการกดขี่ของเขาหรือเธอ

การสนทนาที่เน้นการปลุกจิตสำนึกกับผู้ใช้บริการจะต้องครอบคลุมพลังในการวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้ใช้บริการ การค้นหาผลกระทบของความรู้สึกไร้พลังอำนาจที่มีต่อการดำเนินชีวิตของผู้ใช้บริการ การค้นหาแหล่งทรัพยากรพลังอำนาจในสถานการณ์ของผู้ใช้บริการ การวิเคราะห์ที่มีประสิทธิผลจำเป็นต้องมาจากความเข้าใจในสัมพันธภาพระหว่างผู้ใช้บริการกับการกระจายพลังอำนาจในสังคมโดยรวม

นักสังคมสงเคราะห์อาจจะสอนทักษะพิเศษบางประการให้กับผู้ใช้บริการ โดยมุ่งให้ผู้ใช้บริการสามารถควบคุมชีวิตของตนได้ ทักษะดังกล่าวอาจครอบคลุมทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการกระทำทางสังคม ทักษะการรวมพลังชุมชน ทักษะชีวิต เช่น ทักษะการเป็นพ่อแม่ ทักษะการแสวงหางานทำ ทักษะการปกป้องตนเอง และทักษะระหว่างบุคคล เช่น ทักษะการยืนยันสิทธิสมรรถภาพทางสังคม และการพิทักษ์สิทธิของตนเอง เป็นต้น นักสังคมสงเคราะห์ควรจะมีความรู้ในการระดมทรัพยากร และการเป็นปากเสียงให้กับผู้ใช้บริการ นักสังคมสงเคราะห์พึงตระหนักระวังว่าการทำหน้าที่เหมือนเป็น “นายหน้าหาทรัพยากร” ให้กับผู้ใช้บริการอาจจะทำให้การสร้างพลังอำนาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ การเป็นนายหน้าแสวงหาทรัพยากรควรจะดำเนินการไปในลักษณะการร่วมมือร่วมใจมากกว่าการเน้นกระทำในเชิงอุปถัมภ์ค้ำจุน

โดยทั่วไป นักสังคมสงเคราห์จะต้องมีความระมัดระวังในพลวัตของพลังอำนาจที่เกิดขึ้นในสัมพันธภาพของการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากว่า โดยพื้นฐาน นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการจะมีพลังอำนาจที่แตกต่างกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากมีตำแหน่งทางสังคมที่แตกต่างกัน และผู้ใช้บริการยังมีความเปราะบางมากกว่านักสังคมสงเคราะห์อย่างมากด้วย ในวงสัมพันธภาพระหว่างนักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการ มีแหล่งของพลังอำนาจอย่างน้อยสี่แหล่ง ดังนี้

(1) อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ (Power of expertise) ซึ่งเกิดจากการเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้านของนักสังคมสงเคราห์

(2) อำนาจของการเป็นผู้โน้มน้าวจิตใจ (Power of persuasion) ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากทักษะในการติดต่อระหว่างบุคคล รวมทั้งความสามารถในการพัฒนา ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ความไว้วางใจและความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ

(3) พลังในการครอบครองทรัพยากรของหน่วยงาน (Power of agency resources and services) ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์มักจะควบคุมไว้ได้ทั้งหมด และ

(4) พลังความชอบธรรม (Legitimate power) ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ได้มาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เหนือกว่า หรือมิฉะนั้นก็มาจากอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามบรรทัดฐาน
มีผู้กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ก็คือการช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถแสดงพลังอำนาจของตนออกมาและได้รับทรัพยากรที่ตนต้องการ

ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงพลวัตของพลังอำนาจและการทำความเข้าใจกระบวนการที่อุปสรรคเชิงโครงสร้างได้อุบัติขึ้นมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ นักสังคมสงเคราะห์พึงมีความตระหนักระวังพลังอำนาจในสามระดับคือ

(1) พลังอำนาจของนักสังคมสงเคราะห์ที่มาจากความรู้ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการคุ้มครองทางสังคม

(2) ทักษะในการใช้พลังอำนาจแทนผู้ใช้บริการในการสอนให้ผู้ใช้บริการได้เข้าใจและได้ใช้พลังอำนาจ และ

(3) ความพร้อมในการร่วมแบ่งปันพลังอำนาจกับผู้ใช้บริการ

ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้ นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใช้บริการจะร่วมกันแสดงพลังอำนาจ ถือเป็นการสร้างพลังอำนาจทั้งผู้ใช้บริการและนักสังคมสงเคราะห์พร้อมกันไปด้วย (Pinderhughes, 1983)

สำหรับวิธีการสังคมสงเคราะห์ที่เหมาะสมกับการสร้างพลังอำนาจ ได้แก่ การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน ทั้งนี้ เนื่องจากว่า การสร้างพลังอำนาจจำเป็นต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกันและการเป็นเอกภาพของบุคคลที่มีสภาพปัญหาความต้องการคล้ายคลึงกันคือ เป็นผู้ถูกกดขี่หรือเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกัน กลุ่มยังช่วยให้สมาชิกได้พูดได้พรรณนาถึงประสบการณ์ที่เหมือนๆ กัน กลุ่มช่วยให้ได้รับการสนับสนุนทางสังคม และช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับการเมือง การเข้าร่วมภายในกลุ่มยังมีผลให้สมาชิกลดการตำหนิติเตียนตนเองได้มาก ทั้งยังเอื้อให้สมาชิกในกลุ่มตระหนักในการทำความเข้าใจการกดขี่ที่ทุกคนได้รับเช่นเดียวกัน กลุ่มช่วยส่งเสริมการวิพากษ์ต้นตออุปสรรคของการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศของการทำงานภายในกลุ่มยังเอื้อต่อการช่วยกันคิดค้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการทำงานทางสังคมอีกด้วย การทำงานกลุ่มสังคมหรือการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างมาก

ประเด็นปัญหาครอบครัวเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ได้รับการวิเคราะห์ในด้านของความแตกต่างทางพลังอำนาจภายในครอบครัวและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับแบบแผนการกดขี่จากสังคมใหญ่ที่มีผลต่อครอบครัว การวิเคราะห์อำนาจในลักษณะดังกล่าว เราจะพบได้ในผู้ปฏิบัติงานด้านการบำบัดครอบครัวที่ใช้ทฤษฎีสตรีนิยม (Feminist Family Therapy) อาทิ เบรเวอร์แมน (Braverman, 1988 cited in Robbins, Chatterjee&Canda, 1998, p. 110) เสนอแนะว่า ครอบครัวบำบัดแนวสตรีนิยมควรจะให้ความสนใจกับผลกระทบที่เป็นพิษภัยของระบบชายเป็นใหญ่ที่มีต่อครอบครัวที่ตนรับผิดชอบ ควรให้ความสนใจกับความเครียดหลายๆ ประการที่ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระงานในครัวเรือน การที่ผู้หญิงไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมในการทำงาน ตลอดจนแบบแผนการครอบงำเหนือครอบครัวของผู้ชายที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง การบำบัดครอบครัวแนวสตรีนิยมยังสนใจในผลกระทบทางด้านชีวภาพต่อวงจรชีวิตของผู้หญิง อาทิ การมีรอบเดือน การตั้งครรภ์ การให้กำเนิดบุตร และการหมดประจำเดือน (Menopause) การบำบัดครอบครัวแนวสตรีนิยมสนใจหนทางในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว รวมทั้งการติดต่อสื่อสารกันภายในครอบครัวที่ย้ำเน้นความต้องการและวิสัยทัศน์ของผู้หญิงโดยตรง

นักทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจมีความสนใจเป็นกรณีพิเศษในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์เมื่อทำงานกับชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากมาก เพราะนักสังคมสงเคราะห์จำเป็นต้องคอยจัดสมดุลระหว่างการสร้างพลังอำนาจกับการพยายามทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลเอาไว้ได้ ตัวอย่างเช่น หากปราศจากการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับเกย์หรือเลสเบี้ยนที่เลือกจะสร้างพลังอำนาจด้วยการ “ก้าวออกมา” เขาหรือเธออาจจะต้องเสี่ยงกับการตกงาน สูญเสียบ้านที่อยู่อาศัย สูญเสียครอบครัว และสูญเสียการสนับสนุนทางสังคมที่ตนเคยมี ผู้ใช้บริการชาวเกย์หรือเลสเบี้ยนที่เลือกจะเข้าร่วม “รวมพลังกับชุมชน” อาจจะกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรม ผู้ใช้บริการที่เลือกจะทำงานกับการโค่นล้มระบบวัฒนธรรมความเชื่อ อาจจะต้องเผชิญอันตรายทางกฎหมายและทางสังคม เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของความเสี่ยงในความพยายามที่จะบรรลุการปลดปล่อย ยิ่งไปกว่านั้น ความเสี่ยงเหล่านี้ยังทำให้การทำงานของนักสังคมสงเคราะห์เต็มไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น ความเสี่ยงดังกล่าวนี้ ทำให้การสร้างพลังอำนาจพบกับข้อจำกัดมากมาย จนทำให้การประยุกต์ใช้กลยุทธ์ต่างๆ อาจจะไม่เป็นผลเท่าที่ควร สิ่งที่ทำได้ก็คือ การเผชิญกับระบบการกดขี่ แทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น

การประยกต์ใช้ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจจำแนกตามประเภทหน่วยงาน

หลักการทั่วไปสำหรับการสร้างพลังอำนาจที่มีการปรับปรุงดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์การกดขี่ของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันในแต่ละรายกรณี โดยพิจารณาไปที่พึ้นฐานพลวัตของการกดขี่ในแต่ละราย อาทิ การกดขี่ด้านเพศสภาพ ด้านเชื้อชาติ ด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ชนชั้น แบบแผนเพศวิถี ความพิการ และหลายๆ ประการรวมกัน

ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย