ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ

(Empowerment Theories)

หลักสำคัญของแนวคิด

แนวคิดหลักของทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ ได้แก่ แนวคิดเรื่องการสร้างพลังอำนาจ ซึ่งความหมายของการสร้างพลังอำนาจ หมายถึง กระบวนการที่กลุ่มหรือปัจเจกสามารถมีอำนาจสามารถเข้าถึงทรัพยากร และสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้ ทั้งนี้ การที่บุคคลหรือกลุ่มจะมีอำนาจขึ้นมาได้ จะต้องมีความสามารถในการดำเนินการให้บรรลุปณิธานความมุ่งหวังและเป้าหมายสูงที่สุดที่ได้ตั้งเอาไว้ ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจมีศูนย์รวมต่อบรรดาอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่สกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้ อย่างชัดเจน อุปสรรคเหล่านี้รวมไปถึงการกระจายรายได้และการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม อันกำเนิดมาจากระบบเศรษฐกิจยุคหลังอุตสาหกรรม (Postindustrial Economies) และผลจากการที่ต้องตกอยู่ในสภาพไร้พลังอำนาจมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาช้านาน ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจไม่ได้สนใจเพียงกระบวนการในการสร้างพลังอำนาจเท่านั้น ทว่ายังสนใจรวมไปถึงผลของกระบวนการที่จะต้องทำให้บุคคลและกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจได้มากขึ้นและดียิ่งขึ้น

คำว่า อำนาจ หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงและควบคุมทรัพยากร ตลอดจนการเข้าถึงการควบคุมบุคคล แนวคิดที่ใกล้เคียง มีอาทิ การจำแนกแยกชั้นชน (Stratification) หมายถึงแนวทางที่กลุ่มคนในสังคมถูกจำแนกแยกแยะให้แตกต่างกันไปตามการจัดลำดับชั้นที่ของคนในสังคม ทั้งนี้นักทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจจะมองว่าการจำแนกแยกแยะชั้นชนและการจัดลำดับชั้นต่ำสูงของคนในสังคมนั้นได้เบียดขับประชาชนและกลุ่มคนยากจน ที่ไม่มีตำแหน่งลำดับที่ในสังคมให้ออกจากการเข้าถึงทรัพยากร แยกออกจากการมีอำนาจและความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเอง

ความไร้พลังอำนาจ หมายถึง ความไร้สมรรถนะในการจัดการกับอารมณ์ ทักษะ ความรู้และ/หรือทรัพยากรทางวัตถุ ไปในหนทางที่จะทำให้บุคคลมีการแสดงออกซึ่งบทบาททางสังคมที่มีคุณค่าและเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจ ความไร้พลังอำนาจปรากฏขึ้นจากความรู้สึกต่ำต้อยน้อยคุณค่าที่มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนชายขอบ คนยากจน ผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบปัญหาความยากลำบากในสังคม

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจเสนอแนะว่าการสร้างพลังอำนาจจักเกิดขึ้นได้ต้องมีการเชื่อมโยงความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถเข้ากับจิตสำนึกเชิงวิพากษ์และการกระทำทางสังคมที่มีประสิทธิผลอย่างจริงจัง การพัฒนาจิตสำนึกเชิงวิพากษ์หรือการปลุกจิตสำนึกนั้นเป็นกระบวนการในการเพิ่มพูนความตระหนักว่า โครงสร้างทางการเมืองนั้นได้ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของปัจเจกและของกลุ่ม ตลอดจนทำให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มรู้สึกไร้อำนาจ – อย่างไร กิวเทียร์เรซ์ (Gutierrez, 1990a; 1990b) เห็นว่า จิตสำนึกเชิงวิพากษ์นั้นจะครอบคลุมองค์ประกอบการสำนึกรู้สามองค์ประกอบ ได้แก่ (1) การกำหนดรู้ว่าสภาพการณ์ของตนมีความเหมือนกันกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมอย่างไร (2) การลดการปรักปรำตำหนิหรือลงโทษตนเองสำหรับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา และ (3) การมีความรู้สึกว่าตนมีอิสรเสรีในการดำเนินชีวิต (Robbins, Chatterjee & Canda, 1998, p. 91)

บริบททางสังคมการเมืองของทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ

การทำความเข้าใจเนื้อหาของทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจจำเป็นต้องพิจารณาบริบททางสังคมการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแยกอธิบายในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย