ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ
(Empowerment Theories)
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีสตรีนิยมเป็นแบบแผนการวิเคราะห์ที่มีวิธีคิดและวิธีดำเนินการที่มีทิศทางโดยเฉพาะที่มุ่งมั่นไปสู่การปลดปล่อยผู้หญิงให้พ้นจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบให้สำเร็จ แม้ว่าทฤษฎีสตรีนิยมจะมีความหลากหลายในแนวความคิดแต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในประเด็นของการสร้างพลังอำนาจ ทั้งนี้ โดยทั่วไป ทฤษฎีสตรีนิยมจะมองภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านวัตถุ สังคม สติปัญญา และจิตวิญญาณของมนุษย์ หัวใจสำคัญของทฤษฎีสตรีนิยมคือการวิพากษ์บริบททางสังคมและรื้อสร้างการเลือกปฏิบัติต่างๆ ศูนย์รวมความสนใจที่สำคัญคือ ระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) การครอบงำระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและกฎหมายโดยผู้ชาย
ทฤษฎีสตรีนิยมเน้นความสำคัญของการกำหนดและระบุให้ชัดเจนว่าทัศนคติอย่างไร ความคาดหวังอย่างใด ภาษาประเภทไหน พฤติกรรมอย่างใด และการจัดการทางสังคมชนิดใดที่นำไปสู่การกดขี่เอารัดเอาเปรียบและการทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นคนชายขอบ ทฤษฎีสตรีนิยมจะมีความคล้ายคลึงและหยิบยืมเนื้อหาบางส่วนมาจากทฤษฎีความขัดแย้งของมาร์กซ์ ทว่าทฤษฎีสตรีนิยมมีความแตกต่าง เมื่อรวมศูนย์การวิเคราะห์ไปที่การครอบงำและการเลือกปฏิบัติอันมีผลต่อการทำให้เกิดการกดขี่นั้น ทฤษฎีสตรีนิยมตั้งคำถามเชิงลึกต่อภววิทยา (Ontology) และญาณวิทยา (Epistemology) อย่างแตกต่างจากแนวคิดมาร์กซ์ โดยเชื่อรากเหง้าสำคัญของการแสวงหาความรู้และการปฏิบัติที่มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็คือ ลัทธิผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (Androcentrism)
นักคิดสตรีนิยมร่วมสมัยคนสำคัญ ได้แก่ ซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir)
ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมและนักปรัชญาเอ็กซิสตรองเชี่ยลลิสต์ชาวฝรั่งเศส คู่ชีวิตของฌอง
ปอล ซาร์ต (Jean Paul Satre) ในหนังสือ The Second Sex (1957) เดอ โบวัวร์
เห็นว่าผู้หญิงนั้นต้องยอมรับสถานภาพเพศที่สอง ซึ่งมีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคหิน
ที่มนุษย์ยังอยู่กันเป็นสังคมล่าสัตว์และเก็บของกินตามป่าเขาลำเนาไพร เดอ โบวัวร์
วิเคราะห์จากการศึกษาบทบาทของหญิงและชายที่แตกต่างกันว่า
ผู้หญิงถูกสอนและปฏิบัติเสมือนเป็นวัตถุที่ผู้ชายเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ
แทนที่จะอยู่ในฐานะที่ผู้หญิงแต่ละคนมีประสบการณ์เป็นของตนเอง
ส่วน เบ็ตตี้ ฟรีแดน (Betty Friedan)
นักสตรีชาวอเมริกันเป็นอีกผู้หนึ่งที่วิพากษ์ความไม่เท่าเทียมทางเพศในหนังสือ The
Feminine Mystique (1963)
เธอชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่ฝังลึกอยู่ในบทบาทที่สังคมกำหนดสร้างให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่และแม่บ้านแต่เพียงเท่านั้น
ฟรีแดนยังวิจารณ์ทฤษฎีของฟรอยด์ว่าเป็นการตีตราบาบให้ผู้หญิง โดยกล่าวหาว่า
ผู้หญิงดิ้นรนแสวงหาความเป็นชายและมีความบกพร่องของความเป็นแม่
ฟรีแดนเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับบทบาททางเพศสภาพที่เท่าเทียม
โดยเฉพาะย้ำเน้นว่าผู้หญิงต้องมีโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน
สำนักคิดสตรีนิยมนั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแตกแขนงจุดยืนของสำนักคิดสตรีนิยมออกเป็นศูนย์ความสนใจสามศูนย์ ได้แก่ (1) ความสนใจทฤษฎีความแตกต่างทางเพศสภาพ (Theories of gender differences) (2) ความสนใจทฤษฎีความไม่เสมอภาคในเพศสภาพ (Theories of gender inequality) และ (3) ทฤษฎีการกดขี่ทางเพศสภาพ (Theories of gender oppression)
ทฤษฎีความแตกต่างทางเพศสภาพ มีศูนย์รวมความสนใจที่ความแตกต่างด้านจิตวิทยาและความแตกต่างเชิงสัมพัทธ์ระหว่างประสบการณ์การรับรู้ต่อโลกและต่อตนเองของผู้ชายและผู้หญิง ทั้งนี้ ผู้หญิงมีประสบการณ์และการรับรู้แตกต่างจากผู้ชายหลายๆ ด้าน อาทิ ค่านิยมพื้นฐาน ความสนใจ วิธีการแสวงหาความรู้ การกำหนดสร้างอัตลักษณ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ทฤษฎีนี้ย้ำเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของการกำหนดสร้างความเป็นจริงที่ไม่เหมือนกับผู้ชายอย่างคนละด้านมุม นักสตรีนิยมหัวรุนแรงหรือเรดิกัลมักจะปรามาสว่า ทฤษฎีนี้มีลักษณะอนุรักษ์มากเกินไปในการนำมาอธิบายประเด็นปัญหาสตรี ทว่า ทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทฤษฎีสตรีนิยมร่วมสมัย ทั้งนี้จุดยืนของทฤษฎีความแตกต่างทางเพศสภาพพยายามอธิบายพัฒนาการของผู้หญิงในด้านบวกมากกว่าการยอมรับความอ่อนด้อยของผู้หญิงในทฤษฎีชายเป็นศูนย์กลาง (Androcentric theories) ทั้งหลาย
ทฤษฎีความไม่เสมอภาคในเพศสภาพ ทฤษฎีนี้หลักการสำคัญคือ ปฏิเสธการอธิบายความแตกต่างทางบุคลิกภาพระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย และชี้ให้เห็นความเหมือนกันของมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้ถือว่ามนุษย์ทุกคนสามารถปรับตัวได้และในส่วนลึกของมนุษย์ทุกคนมีแรงขับอิสระที่จะนำไปสู่ความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization) ความแตกต่างที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างของสังคมและในองค์กรทางสังคมต่างๆ เป็นความแตกต่างที่นำไปสู่ความไม่เสมอภาค ทฤษฏีนี้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยที่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่ การเปลี่ยนแปลง อำนาจของผู้ชายที่เหนือกว่า และ การแบ่งแยกแรงงานตามเพศสภาพ (Gender division of labor) หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะ (Public sphere) ในกิจกรรมทางสังคม
นักทฤษฏีสตรีนิยมในกลุ่มที่เน้นความไม่เสมอภาคทางเพศสภาพ เห็นว่าพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันเปิดให้กับผู้ชายอย่างมหาศาล ทว่าในทางตรงกันข้าม ได้สร้างข้อจำกัดให้กับผู้หญิงอย่างที่สุดยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่ส่วนตัว (Private sphere) ผู้หญิงถูกลดความสำคัญเพราะบทบาทที่ผูกติดอยู่กับความเป็นภรรยาและแม่ ยิ่งผู้หญิงต้องพึ่งพิงกับบทบาทความเป็นแม่และภรรยามากเท่าใด โอกาสที่ผู้หญิงจะพัฒนาตนไปสู่ระดับความเข้าใจในตนเองขั้นสูงก็จะมีน้อยลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมีความจำเป็นในการขจัดความไม่เสมอภาคในเพศสภาพ
ทฤษฎีการกดขี่ทางเพศสภาพ รวมศูนย์ความสนใจมุ่งไปที่บทบาทของอำนาจและการครอบงำที่นำไปสู่การผลิตความแตกต่างและความไม่เสมอภาคทางเพศสภาพ โครงสร้างพื้นฐานของการกดขี่และการครอบงำก็คือ ระบบชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจหลักที่เป็นสาเหตุของการควบคุมผู้หญิงและลิดรอนอำนาจของผู้หญิง ทฤษฎีที่อธิบายการกดขี่ทางเพศสภาพแนวสตรีนิยมยังจำแนกออกได้อีกสามแนวคิด ได้แก่ (1) แนวคิดจิตวิเคราะห์แนวสตรีนิยม (Psychoanalytic feminism) (2) แนวคิดสตรีนิยมแนวเรดิกัล (Radical feminism) และ (3) แนวคิดสตรีนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Feminism)
แนวคิดจิตวิเคราะห์แนวสตรีนิยม รวมศูนย์ความสนใจที่ความแตกต่างทางเพศสภาพและการกดขี่เชิงเพศสภาพไปพร้อมๆ กัน แนวคิดนี้ยอมรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ในข้อสันนิษฐานพื้นฐาน อาทิ เรื่องจิตไร้สำนึกและความสำคัญของประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่มีต่อการก่อรูปของบุคลิกภาพ อย่างไรก็ตาม แนวคิดจิตวิเคราะห์แนวสตรีนิยมปฏิเสธการอธิบายปมด้อยของผู้หญิงเช่นที่ฟรอยด์อธิบาย และเปลี่ยนแปลงการอธิบายความแตกต่างระหว่างหญิงและชายไปในด้านการหน้าที่ของระบบชายเป็นใหญ่และการกดขี่เป็นสำคัญ
แนวคิดสตรีนิยมแนวเรดิกัล มองว่า ระบบชายเป็นใหญ่เป็นรากเหง้าสำคัญของการเอารัดเอาเปรียบในทุกพื้นที่ของสังคม การกดขี่ทางเพศสภาพเป็นพื้นฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับระบบชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เกิดขึ้นได้และดำเนินต่อไปอย่างยากที่จะแก้ไข ก็เพราะว่า ผู้หญิงถูกลิดรอนอำนาจในการควบคุมวิถีชีวิต และการเลือกที่จะมีชีวิตอย่างที่ตนต้องการ การทำลายทิ้งระบบชายเป็นใหญ่และการกระตุ้นให้เกิดเสรีภาพเป็นเป้าหมายสำคัญเบื้องต้นที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในจิตสำนึกของผู้หญิง จิตสำนึกใหม่ที่พึงหนุนสร้างได้แก่จิตสำนึกที่มีพื้นฐานการเห็นคุณค่าของตนเองและความแข็งแกร่ง อันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถเผชิญกับการครอบงำของระบบชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้นักวิชาการสตรีนิยมแนวเรดิกัลหลายท่านเสนอให้มีการแยกแยะโครงสร้างที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ออกจากโครงสร้างที่มีอยู่เดิมอย่างเด็ดขาด
แนวคิดสตรีนิยมแนวสังคมนิยม เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมนักทฤษฎีจำนวนหนึ่งที่พยายามผนวกผสมเอาทฤษฎีมาร์กซิสม์เข้ากับแนวคิดสตรีนิยมเรดิกัล ซึ่งตรงจุดนี้เอง เราจะเห็นว่าการกดขี่ด้านชนชั้นและการกดขี่ด้านเพศสภาพได้เชื่อมโยงเข้าหากัน นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า การกดขี่ทางชนชั้นนั้นมีรากเหง้ามาจาก วิถีการผลิตสิ่งของ ส่วนการกดขี่ทางเพศสภาพมีรากเหง้ามาจาก วิถีการผลิตบุคคล ดังนั้น ระบบทุนนิยมที่มีชายเป็นใหญ่ (Capitalist patriarchy) จึงมีพื้นฐานอยู่ที่การพยายามทำให้ผู้หญิงต้องตกเป็นเบี้ยล่าง นั่นเอง
นอกจากนั้น นักทฤษฎีจำนวนมากยังใช้การกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศสภาพเป็นฐานคิดในการสำรวจตรวจสอบและอธิบายแบบแผนการกดขี่รูปแบบอื่นๆ อาทิ การกดขี่ทางเชื้อชาติการกดขี่ทางชาติพันธุ์ และการกดขี่อันเนื่องมาจากแบบแผนทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น การเอารัดเอาเปรียบและการครอบงำเป็นแกนกลางของนักทฤษฎีเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองอันหลากหลายของระบบการครอบงำในโครงสร้างสังคมมหภาค อาทิ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครองและอุดมการณ์ โครงสร้างมหภาคเหล่านี้ยังมีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับจุลภาค ได้แก่ การสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ การครองเรือน เพศวิถีและอัตวิสัยที่ทำให้ระบบการครอบงำอันหลากหลายดำรงอยู่ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า แนวคิดสตรีนิยมคลื่นที่สาม (Third wave feminism) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากทรรศนะเชิงวิพากษ์ของนักสตรีนิยมร่วมสมัย ที่มุ่งวิพากษ์ทฤษฎีสตรีนิยมในยุคก่อนหน้า ได้แก่ ยุคทศวรรษที่ 1960 และ 1970 แนวคิดสตรีนิยมคลื่นที่สามมุ่งวิพากษ์ โดยไม่เห็นด้วยกับการจำแนกประเภท ผู้หญิง ที่ปรากฎขึ้นทั่วไปในสังคม และรวมศูนย์ความสนใจไปที่ผลที่เกิดจากการกระจายสินค้าและบริการที่ไม่เท่าเทียม ในระบบโลก ระบบชนชั้น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงผิวสีในทวีปอเมริกาเหนือและในโลกที่สามต่างพากันวิพากษ์ผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางที่มุ่งต่อต้านการกดขี่ของผู้ชาย ในขณะที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยกันที่มีผิวสีแตกต่างไปจากตน กลุ่มผู้หญิงผิวขาวยังถูกโจมตีว่าดำเนินการครอบงำการให้นิยามความหมายและเป้าหมายของการสร้างพลังอำนาจเพื่อผู้หญิงทั่วโลกอย่างไม่เหมาะสม นักทฤษฎีสตรีนิยมปัจจุบันกำลังพยายามส่งเสริมให้เพิ่มความสนใจในประเด็นผู้หญิงที่ประสบกับการกดขี่เอารัดเอาเปรียบในหลายด้านมุม ที่เป็นผลมาจากความลำเอียงทางเพศสภาพไปตอกย้ำซ้ำเติมกับการครอบงำทางชนชั้นอคติด้านแบบแผนทางเพศสัมพันธ์และลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Neocolonialism) แนวคิดสตรีนิยมคลื่นที่สามยังวิพากษ์และไม่เห็นด้วยกับการมองว่า ผู้หญิงเป็นเหยื่อ หรือเป็นฝ่ายยอมจำนน ทั้งนี้ การมองว่าผู้หญิงเป็นเหยื่อที่ยอมจำนน หรือทาสที่ปล่อยไม่ไป เหล่านี้เป็นการมองที่ขัดแย้งกับแนวทางการสร้างพลังอำนาจโดยตรง การมองดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้หญิงรู้สึกด้อยพลังแล้ว ยังทำให้ผู้หญิงถูกยับยั้งหรือกดบังคับไม่ให้มีเสรีด้านเพศสภาพ ด้านจิตใจและด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสตรีนิยมแม้จะมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ก็จะย้ำเน้นการถูกครอบงำโดยลัทธิชายเป็นศูนย์กลาง ตราบเท่าที่ผู้ชายมีอำนาจในการกำหนดความเป็นจริงของผู้หญิงตราบนั้นการครอบงำทางสังคมก็ย่อมจะเกิดขึ้น การครอบงำอุดมการณ์และการควบคุมอุดมการณ์เป็นกระบวนการพื้นฐานของการครอบงำผู้หญิง ดังนั้น การสร้างพลังอำนาจให้ผู้หญิงจำเป็นต้องรวมศูนย์ไปที่การปลุกจิตสำนึกให้เข้าใจในพลวัตของระบบชายเป็นใหญ่ และรวมศูนย์ไปที่การกระทำทางสังคมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมทางเพศสภาพ
ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม
วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก
กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป