ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ
(Empowerment Theories)
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
การปฏิบัติงานสร้างพลังอำนาจมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับค่านิยมของการสังคมสงเคราะห์ เนื่องเพราะว่าการสร้างพลังอำนาจนั้นมีพื้นฐานเป็นพันธะผูกพันต่อการทำงานเพื่อความเป็นธรรมเช่นเดียวกันกับการสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำงานเป็นตัวแทนของคนที่อยู่ชายขอบและคนที่ถูกกดขี่ การสร้างพลังอำนาจเน้นการพิจารณาอย่างประณีต เน้นในด้านการเมืองของบุคคลและสภาวะแวดล้อม ทั้งยังตระหนักว่าความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นอยู่ของมวลชนทั้งสังคมได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจปฏิเสธแนวคิดในการมองประชาชนว่าเป็น เหยื่อ และปฏิเสธการมองประชาชนผู้ถูกกดขี่ในกรอบของพยาธิสภาพ การทำงานสร้างพลังอำนาจเป็นการเกื้อหนุนต่อทรรศนะที่เน้นความเข้มแข็ง เพราะว่ามีศูนย์รวมความสนใจอยู่ที่ความสามารถที่สร้างสรรค์ จุดเด่นและทรัพยากรของบุคคลและชุมชน ตลอดจนการพัฒนาเพื่อให้สามารถเผชิญกับการการขี่ได้
การทำงานสร้างพลังอำนาจส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล โดยมองว่าสาระสำคัญที่สุดของความเป็นอยู่ที่ดีมีความหมายถึงความสามารถในการควบคุมชะตากรรมของตนเอง การมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ตลอดจนความพึงพอใจในตัวตนและการดำรงอยู่ของตนเอง เราจะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนสนับสนุนกับข้อผูกพันของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่มีต่อหลักการในการตัดสินใจด้วยตนเองของปัจเจกและกลุ่มชน
ในขณะที่ค่านิยมพื้นฐานของการสังคมสงเคราะห์มีความสอดคล้องกับการสร้างพลังอำนาจค่านิยมพื้นฐานก็อาจจะนำไปสู่ความกดดันที่อาจจะส่งผลเสียต่อการสร้างพลังอำนาจด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิชาชีพสังคมสงเคราะห์นั้นมีบทบาทสองด้านที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน นั่นคือด้านหนึ่งการสังคมสงเคราะห์เป็นการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทว่าในอีกด้านหนึ่งการสังคมสงเคราะห์ก็มีหน้าที่ของการปกป้องสังคมเดิมด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาในด้านการสร้างพลังอำนาจ สังคมสงเคราะห์จึงต้องเผชิญกับภาวะสองฝักสองฝ่าย ความกดดันระหว่างการหน้าที่ที่ขัดแย้งกันสองด้านนี้ ทำให้เราต้องคอยตระหนักระวังว่า เราจะไม่ปล่อยให้นักสังคมสงเคราะห์เป็นเพียงกลไกหรือเครื่องมือของการควบคุมทางสังคม ที่กดบังคับให้ประชาชนต้องยอมจำนนตามบรรทัดฐานของสังคม ทว่าเราพึงเน้นการสร้างพลังอำนาจในกลุ่มประชาชนที่ถูกกดขี่และต้องการการปลดปล่อยอย่างมาก
การทำงานสร้างพลังอำนาจมีความสอดคล้องกับแนวคิดด้านความหลากหลาย เนื่องเพราะการสร้างพลังอำนาจเป็นแนวคิดที่มุ่งทำความเข้าใจกับการกดขี่ชนกลุ่มน้อยและคนกลุ่มที่อยู่ชายขอบการสร้างพลังอำนาจท้าทายแนวความคิดในการให้บริการสังคมแก่ปัจเจกอย่างเหมารวม โดยทุกคนได้รับประโยชน์จากบริการอย่างเดียวกันประเภทเดียวกันหมด ทั้งนี้ การสร้างพลังอำนาจยืนยันว่าการให้บริการสังคมที่อ้างอิงมาตรฐานชุดเดียวกันหรือการบริการแบบเหมารวม (One size fits all) นั้นเป็นอันตราย เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบมากกว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมกัน
นักสังคมสงเคราะห์หลายท่านที่สนใจการสร้างพลังอำนาจได้พัฒนาการปฏิบัติงานที่เน้นวัฒนธรรมและสมรรถภาพ ตัวอย่างเช่น ลัม (Lum, 1996) ได้พัฒนากรอบการทำงานสังคมสงเคราะห์สำหรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม การทำงานกับประชาชนผิวสีที่มีพื้นฐานประสบการณ์ของการถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกเหยียบผิว เหยียบเชื้อชาติ ชาติพันธุ์และการถูกกดขี่ รูปแบบการทำงานของลัมเป็นการเน้นความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของปัจเจกและกลุ่มชน
ส่วนพินเดอร์ฮิวส์ (Pinder-hughes, 1995) ให้นิยามความหมายของ ประชากรที่มีความหลากหลาย (Diverse populations) ว่าหมายถึงกลุ่มประชาชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากบรรทัดฐานที่เกิดจากการครอบงำทางการเมืองของวัฒนธรรมแบบยูโร อเมริกัน ความแตกต่างดังกล่าวครอบคลุมไปถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ แบบแผนทางเพศวิถี ระดับการเข้าถึงการพัฒนาและฐานอื่นๆ ที่เป็นการมองด้านลบและไม่เสมอภาคเท่าเทียม ทั้งนี้ พินเดอร์ฮิวส์เห็นว่า ความสามารถเชิงวัฒนธรรมจะต้องครอบคลุมการทำความเข้าใจพลวัตของพลังอำนาจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่หลากหลายของประชาชนด้วยเป็นสำคัญ
ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม
วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก
กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป