ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ

(Empowerment Theories)

ประเด็นวิจารณ์

ปัจจัยด้านชีววิทยา จิตวิทยาและจิตวิญญาณ

เนื่องจากบรรดาทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจนั้นรวมศูนย์ความสนใจไปที่สภาวะเชิงโครงสร้างของการกดขี่จึงละเลยความสำคัญของปัจจัยด้านชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นแต่จะเป็นการอธิบายปัจจัยชีววิทยาในกรอบของการกดขี่ข่มเหง เช่น แนวคิดสตรีนิยมที่ต่อต้านการอธิบายชีววิทยาที่เน้นชายเป็นใหญ่ เป็นต้น อันที่จริง ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยกับการอธิบายประเด็นที่เน้นชีววิทยาเป็นตัวกำหนด (Biological Determinism) อย่างมาก

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจเชื่อว่า “บุคคลทุกคนเป็นเรื่องการเมืองเสมอ” ดังนั้น ปัญหาทางด้านจิตวิทยาจะถูกวิเคราะห์ในบริบทของโครงสร้างทางสังคมที่ฝ่ายผลิตปัญหาจิตวิทยาเรื่องนั้นออกมา อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจให้มุมมองที่มีคุณค่าต่อกระบวนการพลวัตทางจิตวิทยา ซึ่งอธิบายความสามารถของบุคคลในการสร้างการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่มีความเป็นไปได้ ทว่า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกันเกิดขึ้น

องค์ประกอบทางจิตวิทยายังมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาพลังอำนาจของบุคคลและการพัฒนาความสามารถในการควบคุม ตลอดจนการพัฒนาอัตตาไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเข้าใจในสมรรถนะของตนเอง และความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเอง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจิตวิทยาทั้งสิ้น

นักวิชาการบางท่านโต้แย้งว่า การสร้างพลังอำนาจในบุคคลหนึ่งนั้นเป็นเรื่องของความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์เลยทีเดียว หลายท่านเชื่อว่าการปฏิบติงานสร้างพลังอำนาจที่มีประสิทธิผลทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมไม่เพียงขึ้นอยู่กับการตระหนักในประเด็นของพลังอำนาจเท่านั้น ทว่าขึ้นอยู่กับการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของสมรรถภาพ ทักษะ ทรัพยากรและโอกาสด้วยเช่นกัน

ในด้านจิตวิญญาณทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจไม่ได้พูดถึงจิตวิญญาณในระดับบุคคลโดยตรงสถาบันศาสนาเองยังได้รับการมองว่ามีบทบาทที่ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง กล่าวคือ ศาสนาอาจจะช่วยในการสร้างพลังอำนาจก็ได้ หรืออาจจะไปส่งเสริมให้การกดขี่ดำรงอยู่อย่างยาวนานก็ได้ ซึ่งหากเราจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จุดกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของศาสนาส่วนใหญ่ มีศาสดาหรือผู้นำทางศาสนาที่ล้วนเข้าข่ายการเป็นักปฏิวัติทางความคิดแทบทั้งสิ้น ทว่า ไฉนเลย กระบวนการสืบทอดศาสนาจึงได้ผิดเพี้ยนและได้ไปผนวกรวมเอาอิทธิพลทางความคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ และจากรูปแบบความไม่เท่าเทียมอื่นๆ มาปะปนกับคำสอนและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจได้ให้ความสำคัญกับศาสนา โบสถ์ วัด และสุเหร่าในฐานะที่เป็นระบบสนับสนุนของชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เราจะพบอิทธิพลของทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในนั้นด้วย ชาวคาทอลิกที่ยากจนในลาตินอเมริกาได้ประกาศตนอย่างชัดเจนในพันธะที่มีต่อการปลดปล่อยคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจของนิกายโรมันคาทอลิกโดยตรง มีการท้าทายให้นักบวชในนิกายโรมันคาทอลิกได้เรียนรู้จากคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ โดยลดบทบาทของความเป็นผู้ชำนาญการทางศาสนาลง เช่นเดียวกัน เราอาจกลับมาประยุกต์ใช้กับนักสังคมสงเคราะห์ได้ โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำตนเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น บทบาทความชำนาญการมักมีผลเป็นอุปสรรคสกัดกั้น ทำให้เราเข้าใจผู้ใช้บริการคนยากจนและผู้ถูกกดขี่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าที่ควร เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยปฏิเสธทรรศนะแบบอุปถัมภ์นิยม ที่เน้นการดำรงการกดขี่เอาไว้ตามเดิม ทว่ากระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมการปลดปล่อยตนเองผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกและการปฏิบัติจริง (Freire, 1973)

ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย