ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ

(Empowerment Theories)

ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

วิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีพันธะต่อการทำงานกับประชากรที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบนักทฤษฎีสังคมสงเคราะห์จำนวนไม่น้อยได้พยายามพัฒนาทฤษฎีที่มีจุดยืนเน้นการปฏิบัติจริงเพื่อการสร้างพลังอำนาจ ซึ่งรวมไปถึงการวิเคราะห์โครงสร้างการกดขี่ ตลอดจนกลยุทธ์ในการสร้างพลังอำนาจ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสังคมสงเคราะห์บางท่าน อาทิ โรส (Rose, 1990, p.41) ชี้ให้เห็นว่าวิชาชีพสังคมสงเคราะห์นั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างและเชิงอุดมการณ์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากความเป็นจริงที่ว่า วิชาชีพสังคมสงเคราะห์นั้นมีจุดกำเนิดมาจากรัฐในระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจนและการลงโทษทำร้ายผู้ใช้บริการของนักสังคมสงเคราะห์ ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ที่ไม่ทันตระหนักระวังในโครงสร้างพื้นฐานนี้ อาจจะกำลังทำร้ายผู้ใช้บริการของตนโดยไม่ทันได้ตระหนักก็เป็นได้

บาร์บารา โซโลมอน (Barbara Solomon, 1976; 1987) ทำงานสร้างพลังอำนาจโดยเฉพาะกับผู้ใช้บริการที่เป็นชาวผิวดำ เธอเป็นคนแรกที่พัฒนาความรู้จากการปฏิบัติงานของตนมาเป็นทฤษฎี และจากงานเขียนของโซโลมอน จูดิธ ลี (Judith Lee, 1994) ได้พัฒนาหลักการในการทำงานสร้างพลังอำนาจต่อยอดขยายผลจากงานของโซโลมอนออกไป งานชิ้นสำคัญของจูดิธ ลี เรียกว่า วิสัยทัศน์ห้าประการ (Fifocal vision) ซึ่งครอบคลุม

(1) การทำความเข้าใจมิติเชิงประวัติศาสตร์ของการกดขี่
(2) ทรรศนะในการมองพลวัตของอำนาจด้วยฐานคิดเชิงระบบและเชิงนิเวศ
(3) ทรรศนะที่มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการกีดกันเชื้อชาติและการแบ่งแยกชนชั้น
(4) ทรรศนะสตรีนิยม และ
(5) กระบวนการปลุกจิตสำนึกและการสะท้อนเชิงวิพากษ์ในสี่ประการข้างต้น

ส่วนงานของกิวเทียร์เรซ (Gutierrez, 1994; 1995) นั้นเป็นการทำงานที่มุ่งสนใจผู้หญิงชาวผิวสีเป็นสำคัญ ส่วนโรส (Rose, 1994) สนใจในเศรษฐศาสตร์การเมืองและโครงสร้างของการจัดบริการทางสังคมที่มีผลเป็นการจำกัดศักยภาพของมนุษย์และจำกัดทางเลือกในการให้บริการ

จากงานเขียนของบาร์บารา โซโลมอน (1976, p.29) การสร้างพลังอำนาจ หมายถึงกระบวนการที่นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินกิจกรรมชุดหนึ่งกับผู้ใช้บริการหรือระบบของผู้ใช้บริการโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความรู้สึกไร้พลังอำนาจ อันทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกต่ำต้อย-ด้อยค่า เนื่องมาจากเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ถูกประทับมลทิน การสร้างพลังอำนาจเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกับอุปสรรคขวากหนามที่สกัดกั้นอำนาจ ตลอดจนการพัฒนาและสร้างกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเอาชนะอุปสรรคขวากหนามดังกล่าวให้จงได้

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานกับประชาชนที่ถูกประทับมลทินหรือประชาชนที่ตกขอบ เราจำเป็นต้องตระหนักว่าการสร้างพลังอำนาจนั้นมีความสัมพันธ์กับความเข้าใจในสมรรถภาพของตนเอง (Self Efficacy) ซึ่งหมายถึงความเชื่อที่ผู้ใดผู้หนึ่งมีต่อตนเองว่า ตนมีความสามารถในการ ผลิตสร้างและการควบคุมวิถีชีวิตของตนเองได้ ทั้งนี้ ตัวตนของคนเราจะพัฒนาไปได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความรับรู้ถึงสมรรถภาพของตัวเราเองว่ามีมากน้อยเพียงใด และการรับรู้ว่าเรามีสมรรถภาพเพียงใด ก็จะเป็นไปตามความสามารถของเราในการทำความเข้าใจกับสมรรถภาพของเราเอง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรามีความสามารถในการตอบสนองความต้องการจำเป็นของตัวเราเอง นั่นคือ เรากำลังมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเข้าใจในสมรรถภาพของตัวเราและการสัมผัสกับความรู้สึกว่าตัวเรามีความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being)

การรับรู้ว่าเรามีสมรรถภาพจะนำไปสู่ความมั่นใจในการกระทำที่เป็นการสร้างพลังอำนาจในทางกลับกัน การสร้างพลังอำนาจก็มีผลเพิ่มพูนความเข้าใจในสมรรถภาพของตน และนำไปสู่การสร้างพลังอำนาจให้ปัจเจก หรือทำให้กลุ่มเข้าใจในพลังอำนาจและความแข็งแกร่งของตน อย่างไรก็ตามความเข้าใจในสมรรถภาพของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาจิตสำนึกเชิงวิพากษ์ ที่ช่วยในการทำความเข้าใจกับโครงสร้างอำนาจการกดขี่ และนำไปสู่การกระทำที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดการกดขี่และความรู้สึกไร้พลังต่างๆ

การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการกดขี่ แม้ในบริบทสภาวะแวดล้อมทางสังคมเพียงชุดเดียวก็เป็นสิ่งที่ยากเย็นอย่างยิ่งสำหรับปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง ดังนั้น การรวมตัวในลักษณะเป็นเอกภาพกับบุคคลอื่นๆ ที่มีสภาพเดียวกันในรูปของการกระทำรวมหมู่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องสร้างกลุ่มที่ให้ความสนับสนุน (Support groups) ในหมู่ปัจเจกบุคคลหลายๆ คน ที่อยู่ในสภาพการณ์เดียวกัน ระบบสนับสนุนดังกล่าวนั้นเป็นความพยายามที่จะสร้างเสริมให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนช่วยจัดตั้งกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน

การปฏิบัติงานเพื่อสร้างพลังอำนาจยังเป็นการทำงานกับผู้ใช้บริการ อันมุ่งลดความรู้สึกไร้พลังอำนาจ ที่เกิดจากการให้คุณค่าทางลบแก่บุคคลที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกประทับมลทิน หัวใจสำคัญของการสร้างพลังอำนาจก็คือกระบวนการเพิ่มพูนพลังอำนาจส่วนบุคคล ระหว่างบุคคล หรือพลังอำนาจทางการเมืองของบุคคล เพื่อว่าปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชนสามารถดำเนินการปรับปรุงสถานการณ์ของตนได้

โซโลมอนเห็นว่า ก่อนที่ปัจเจกแต่ละคนจะเริ่มพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะในการให้ได้พลังอำนาจกลับมาและสามารถควบคุมวิถีชีวิตของตนได้ เขาหรือเธอจะต้องบอกได้ว่าอะไรคืออุปสรรคขวากหนามทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่คอยสกัดกั้นและทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข อุปสรรคของพลังอำนาจหมายถึง การกระทำ เหตุการณ์ หรือสภาพการณ์ที่ขัดขวางกระบวนการที่ปัจเจกจะพัฒนาทักษะทางสังคมที่มีประสิทธิผล อุปสรรคของพลังอำนาจอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

อุปสรรคโดยทางอ้อม (Indirect blocks) นั้นเกิดขึ้นได้โดยตลอดในกระบวนการพัฒนาของบุคคล และเกิดขึ้นโดยผู้อื่นที่มีอิทธิพลความสำคัญต่อบุคคลนั้นในระดับปฐมภูมิ การให้คุณค่าทางลบหรือมลทินที่เกิดขึ้นจากกดขี่ มีผลต่อกระบวนการภายในครอบครัว และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณลักษณะส่วนบุคคลของปัจเจก อาทิ มีผลต่อความนับถือตนเองหรือมีผลต่อทักษะในการทำความเข้าใจต่างๆ ในระดับทุติยภูมิ อุปสรรคโดยทางอ้อมเกิดขึ้นเมื่อคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ถูกกระทบใน ขั้นปฐมภูมินั้น ส่งผลให้เกิดการยับยั้งทักษะในทางการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลของปัจเจกคนนั้นและในระดับตติยภูมิ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากสองระดับข้างต้นมีผลไม้ยับยั้งไม่ให้ปัจเจกได้แสดงการกระทำตามบทบาทที่สังคมที่มีคุณค่าออกมา

ส่วนอุปสรรคโดยตรง (Direct blocks) เกิดขึ้นจากสถาบันสังคมหลักได้ผลิตคุณค่าด้านลบออกมาโดยตรง ตัวอย่างเช่น ในระดับปฐมภูมิ อุปสรรคโดยตรงเกิดขึ้นเมื่อประชากรที่ถูกกดขี่ถูกลดคุณค่าและได้รับบริการทางการแพทย์อย่างติดปมด้อย ซึ่งจะส่งผลต่อสภาวะสุขภาพที่เลวร้ายทั้งของปัจเจกและของชุมชนโดยองค์รวม เมื่อประชาชนที่ยากลำบากถูกกดขี่ – ถูกลดคุณค่า – หรือได้รับบริการที่ต้องติดปมด้อย – เป็นคนไข้อนาถา สิ่งเหล่านี้ก็คืออุปสรรคโดยตรงในการเข้าถึงการพัฒนาให้มีสุขภาวะที่ดี ในระดับทุติยภูมิ อุปสรรคโดยตรงของพลังอำนาจเกิดขึ้นเมื่อชาวไทยที่อาศัยในพื้นที่สูงในฐานะปัจเจก-ถูกปฏิเสธโอกาสในการพัฒนาทักษะในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลและการพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจ ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ข้อจำกัดในการพัฒนาฝีมืออาชีพที่ไม่ถึงชนกลุ่มนี้ ตลอดจนข้อจำกัดที่หน่วยงานองค์กรหรือบริษัทที่ชนกลุ่มนี้ทำงานอยู่ – ไม่สนใจจะฝึกอบรมให้กับพวกเขาและเธอ เนื่องเพราะไม่ใช่คนไทยพื้นราบ ถึงแม้ว่า พวกเขาและเธอจะมีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่สามารถจะเรียนรู้ได้ แต่เพราะอคติและการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ทำให้คนกลุ่มชาวไทยพื้นที่สูงไม่ได้รับอนุญาตให้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ส่วนในระดับตติยภูมิ ปัจเจกชนที่เป็นคนไทยพื้นที่สูงก็จะไม่ได้รับโอกาสให้แสดงบทบาททางสังคมที่มีคุณค่า ตลอดจนไม่ได้รับโอกาสให้ได้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการแสดงบทบาททางสังคมให้มีประสิทธิผลอย่างเต็มตามศักยภาพที่แท้จริงของตนได้

โดยสรุป รูปแบบการสร้างพลังอำนาจของโซโลมอน ซึ่งเน้นการทำงานกับกลุ่มประชาชนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา) นั้น จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ประเด็นของพลังอำนาจ โดยเน้นเป็นพิเศษถึงการกำหนดรู้ที่ชัดเจนว่า เหตุใดพลังอำนาจจึงขาดตกบกพร่องไป โซโลมอนอธิบายว่าการที่คนเราไร้พลังอำนาจ ก็เพราะว่าเราไม่มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อจะนำไปใช้ให้บรรลุเป้าหมายของปัจเจกและเป้าหมายรวมหมู่การสร้างพลังอำนาจจึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะกับอุปสรรคของพลังอำนาจ ที่กีดกันปัจเจกและกลุ่มที่ถูกลดคุณค่าลง

จูดิธ ลี ได้พัฒนารูปแบบของการสร้างพลังอำนาจที่โซโลมอนนำเสนอออกไปอีก โดยนำมาอธิบายให้ครอบคลุมกับประชาชนที่มีประสบการณ์ถูกกดขี่ทุกคน ไม่เพียงแต่คนผิวดำ ทั้งนี้ ลีได้เสนอว่าการสร้างพลังอำนาจมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ

(1) ความเข้าใจในสมรรถภาพของตนเอง (Self efficacy) คือการพัฒนาความคิดว่า ตัวเราองนั้นมีความสามารถและมองตนในด้านดีเสมอ

(2) การมีจิตสำนึกเชิงวิพากษ์ (Critical consciousness) หมายถึง การพัฒนาความรู้ความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ในความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองของบริบทสภาพแวดล้อมของเรา และ

(3) พัฒนาและปลูกสร้างทรัพยากรและกลยุทธ์ที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายของปัจเจกบุคคลและของมวลชน

องค์ประกอบของการสร้างพลังอำนาจทั้งสามประการยังต้องดำเนินการโดยพิจารณามิติที่เกี่ยวข้องอีกสามระดับ ได้แก่

(1) ระดับบุคคล
(2) ระดับระหว่างบุคคล และ
(3) ระดับสถาบัน หรือระดับการเมือง

ในระดับบุคคล นักสังคมสงเคราะห์จะช่วยปัจเจกบุคคลสามารถเข้าใจถึงต้นตออุปสรรคที่ทำให้เขาหรือเธอรู้สึกไร้พลัง และช่วยให้เขาหรือเธอสามารถกำหนดสร้างความหมายของตัวตนเสียใหม่ (Redefine) โดยมองตนในด้านดีมากขึ้น มีพฤติกรรมการกระทำที่มุ่งมั่น เข้มแข็งและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง กระบวนการที่นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการสร้างพลังอำนาจครอบคลุมการตระหนักในประสบการณ์ด้านลบในชีวิตของบุคคลและสามารถบอกได้ว่า อุปสรรคในการสร้างพลังอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ขัดขวางการเจริญงอกงามของเขาหรือเธอคืออะไร นักสังคมสงเคราะห์จะใช้วิธีการสะท้อนตนเอง (Self-reflection) และการสนทนาเชิงลุ่มลึก (Dialogue) ในการให้ความช่วยเหลือบุคคล ทำให้กำแพงอุปสรรคของพลังอำนาจและการประเมินตนเองอย่างต่ำต้อยถูกลบล้างไป พลังอำนาจ ความเข้มแข็งและความคิดทางบวกของบุคคลได้กลับคืนมาแทนที่

ในระดับระหว่างบุคคล นักสังคมสงเคราะห์ใช้ความรู้ของตนในเรื่องครอบครัว กลุ่มและชุมชนในการพัฒนาความเข้มแข็งของประชาชนให้สามารถเอาชนะการกดขี่เอารัดเอาเปรียบได้ นักสังคมสงเคราะห์เองต้องมีความตระหนักว่าความรู้สึกไร้พลังและการถูกทอดทิ้งให้ดำเนินชีวิตลำพังเพียงคนเดียวเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมให้ความไร้พลังนั้นหนักหนาสากรรจ์ยิ่งขึ้น นักสังคมสงเคราะห์จึงต้องช่วยเหลือบุคคลที่แวดล้อมผู้ใช้บริการที่ร่วมได้รับความทุกข์ยากจากการกดขี่ ให้กลับมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งความมั่นคงเข้มแข็งนี้จะเป็นพลังในการต่อต้านการกดขี่ได้เป็นอย่างดี

ในระดับสถาบันหรือระดับการเมืองนักสังคมสงเคราะห์จะต้องให้ความช่วยเหลือปัจเจกบุคคลและกลุ่มได้พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินกระบวนการทางการเมือง ด้วยการบรรลุความตระหนักในการเมือง บุคคล กลุ่มและชุมชนจึงจะมีแรงจูงใจและความสามารถในการประสบกับความสำเร็จในกระบวนการสร้างพลังอำนาจ การปฏิบัติการสร้างพลังอำนาจในระดับนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการรวมพลังชุมชน (community organizing) และการพัฒนาการกระทำทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อนโยบายสังคมในที่สุด

สตีเฟน เอ็ม.โรส (Stephen M. Rose, 1990) สนใจศึกษาว่าการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์แบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นการอธิบายปัจเจกบุคคลไปในด้านข้อบกพร่องของเขาหรือเธอว่า เป็นการตอกย้ำการกดขี่ในระบบทุนนิยม และทำให้นักสังคมสงเคราะห์แบบดั้งเดิมไม่พยายามทำความเข้าใจกับโครงสร้างของระบบทุนนิยมอย่างเป็นระบบเท่าที่ควรในการผูกพันตัวเราเข้ากับการทำงานที่เน้นการเป็นปากเสียงให้ประชาชน (Advocacy) และการสร้างพลังอำนาจ ก่อนอื่น นักสังคมสงเคราะห์จำเป็นต้องตระหนักในการกระจายพลังอำนาจในหน่วยงานนั้นผลิตสร้างและสร้างความชอบธรรมให้กับระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมมากน้อย เพียงไร อย่างไร หากปราศจากการตระหนักในความไม่สมดุลระหว่างพลังอำนาจในหน่วยงาน โอกาสที่การสร้างพลังอำนาจให้ผู้ใช้บริการก็จะกลายเป็นความสับสนที่พุ่งออกมาจากแรงจูงใจของหน่วยงานผู้ให้บริการ แทนที่ผู้ใช้บริการจะมีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการและวัตถุประสงค์ กลับถูกบังคับให้เลือกจากทางเลือกที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย การสร้างพลังในความหมายเช่นนี้จึงเป็นการสร้างพลังอำนาจที่คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างมาก

โรส (1990) ได้เสนอหลักการพื้นฐานในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ที่มุ่งพิทักษ์ประโยชน์และสร้างพลังอำนาจสามประการ ได้แก่ (1) การช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าใจในบริบทของตนเอง (Contexualization) (2) การสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) และ (3) การสร้างชีวิตรวมหมู่ (Collectivity)

การช่วยให้ผู้ให้บริการเข้าใจในบริบทของตน (Contexualization) หมายถึง การทำให้ผู้ใช้บริการในฐานะสัตตะทางสังคม (Social being) ได้เข้าใจตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า “ตัวผู้ใช้บริการนั่นเองที่รู้จักตัวเขาเองดีดีที่สุด” นักสังคมสงเคราะห์จะต้องเปิดกว้างกับการที่ผู้ใช้บริการให้การนิยามความหมายตัวตนของเขาหรือเธอ สภาพการณ์ และความต้องการจำเป็นของตนเอง ประการสำคัญนักสังคมสงเคราะห์จะย้ำเน้นการทำงานในด้านการสนทนาเชิงลุ่มลึก (Dialogue) มากกว่าการแก้ไขปัญหาหรือการทำสัญญาต่อกัน

การสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) หมายถึง กระบวนการสนทนาเชิงลุ่มลึกที่สร้างโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นของเขาและเธอได้อย่างเป็นจริง การสร้างพลังอำนาจเป็นกระบวนการที่เน้นให้ผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน และไม่ใช้การบริการสำเร็จรูปที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ในการสนทนาเชิงลุ่มลึก นักสังคมสงเคราะห์ต้องเน้นให้การสนทนาเป็นการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อประสบการณ์เชิงบริบทของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาสังคมของผู้ใช้บริการและการสร้างผลลัพธ์ที่ผู้ใช้บริการพึงประสงค์

การสร้างชีวิตรวมหมู่ (Collectivity) หมายถึง การนำบุคคลหลายๆ คนเข้ามาสะท้อนความคิดและสนทนาเชิงลุ่มลึกด้วยกัน โดยมองย้อนไปถึงความรู้สึกในครั้งก่อนๆ และพิจารณาความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนพิจารณาจุดกำเนิดของความรู้สึกนี้ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกนี้กับโครงสร้างสังคมที่ปรากฏอยู่ อาทิ ครอบครัวและระบบโรงเรียน การปลุกจิตสำนึกรวมหมู่นี้จะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงปัจเจกและสังคมได้ในอนาคต

ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย