ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ
(Empowerment Theories)
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
เราอาจจะเคยได้ยินว่า สังคมที่มีประชาธิปไตยดังเช่นสหรัฐอเมริกา ประชาชนทุกคนจะมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างมาก ในอดีต คำกล่าวนี้ค่อนข้างเป็นจริง สำหรับผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง ทว่านักวิชาการหลายท่านชี้ให้เห็นว่า คนสีผิว ผู้หญิง คนที่มีระดับการศึกษาน้อย และคนที่มีโอกาสในการได้รับการศึกษาน้อยกว่า จะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าในการขยับขยายชั้นชนทางสังคมของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น เมื่อโอกาสในการเลื่อนชั้นชนทางสังคมของบุคคลบางกลุ่มถูกปฏิเสธเป็นเวลายาวนาน บุคคลถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีจำนวนจำกัด สภาพที่เกิดขึ้นก็คือ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบนั่นเอง นักวิชาการหลายท่านชี้ให้เห็นว่าสังคมสหรัฐฯ ไม่ได้มีประชาธิปไตยที่ให้โอกาสกับประชาชนอย่างสูงดังที่ประชาชนในประเทศอื่นเข้าใจ บางท่านเห็นว่า สังคมสหรัฐฯ ก็คือระบบโครงสร้างชนชั้นวรรณะ (The caste-like structure) นั้นเอง
โครงสร้างชนชั้นวรรณะสังคมของสหรัฐฯ มีผลทำให้เราเห็นความแปลกแยกในการดำเนินชีวิตของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และทางเชื้อชาติที่ยากจนมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้การตอกย้ำปัญหาการตกงานที่มีอัตราสูงและมีความยากจนที่รุนแรงในกลุ่มที่ถูกโครงสร้างชนชั้นวรรณะกดขี่เอารัดเอาเปรียบ การเป็นคนผิวดำหรือเป็นคนฮิสแปนิก (Hispanic) สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับโครงสร้างชนชั้นวรรณะก็คือการทำให้สูญเสียคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีผลเสียหายทั้งต่อผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ (Freire, 1970, p. 32) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกกดขี่จะปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างของการครอบงำและกลายเป็นการยอมแพ้-ยอมตามอำนาจของการกดขี่เอารัดเอาเปรียบและคิดว่าตนมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะไปต่อสู้เอาชนะการกดขี่ได้
ปัญหาอีกประการได้แก่ เพดานแก้ว-กำแพงใส (Glass ceiling) หรืออุปสรรคขัดขวางที่มองไม่เห็น ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยได้ขึ้นไปถึงหน้าที่การงานและตำแหน่งในระดับสูง มีการสำรวจวิจัยในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1995 พบว่าในบรรดาบริษัทธุรกิจ 1,000 แห่งที่สำรวจ ผู้หญิงได้เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพียงร้อยละ 6.6 และชนกลุ่มน้อยได้เป็นผู้บริหารระดับสูงเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น ดังนั้น แม้เราจะมีนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมในการทำงานของผู้คนในสหรัฐฯ ทว่าในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นไปดังที่นโยบายต้องการ ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มที่ต่ำสุดอยู่ตลอดเวลา และชนกลุ่มน้อยตกอยู่ในกลุ่มต่ำสุดบ่อยครั้งกว่าผู้หญิงในสังคมไทย สถานการณ์เพดานแก้ว-กำแพงใส ปรากฏให้เห็นไม่แตกต่างกันนักหรืออาจจะรุนแรงยิ่งกว่า เราพอจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยที่เป็นผู้หญิงมีน้อยมากส่วนสถานะของชนกลุ่มน้อยก็มีแต่การจ้างงานระดับล่าง-งานรับใช้และงานไร้ฝีมือเป็นส่วนใหญ่มิพักต้องกล่าวถึงตำแหน่งในการบริหารของบริษัทหรือหน่วยงานราชการใดๆ
การเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากอายุก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและพบเห็นได้ทั่วไป บริษัทต่างๆ รวมทั้งภาครัฐบาลได้มีการลดจำนวนพนักงานข้าราชการ โดยใช้นโยบายส่งเสริมการเกษียณอายุก่อนเวลา (early retirement policy) บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามกดดันให้พนักงานที่มีอายุมากๆ ลาออกจากงาน
น่าสังเกตว่า การกดขี่เอารัดเอาเปรียบและการเลือกปฏิบัติต่างๆ นั้น มีความแตกต่างกันคนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถเข้าถึงทั้งทรัพยากรทางวัตถุ อำนาจทางการเมือง และสิทธิประโยชน์ใดๆ เลย บางกลุ่มอาจจะเข้าถึงทรัพยากรทางวัตถุบางเรื่องบางด้านได้ในระดับที่พออยู่ได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจและสิทธิประโยชน์ใดๆ บางกลุ่มอาจเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์บางอย่าง แต่ไม่มีอำนาจ
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึงมองว่าการใช้เทคนิคการสร้างพลังอำนาจควรจำกัดใช้เฉพาะกลุ่มประชากรที่ถูกประทับมลทิน หรือคนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ คนที่ไร้พลังอำนาจและคนที่เป็นคนชายขอบหรือตกขอบเท่านั้น
สำนักคิดที่นำการสร้างพลังอำนาจมาใช้เพื่อปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบมีด้วยกันสามสำนักคิด ได้แก่ (1) ทฤษฎีสตรีนิยม (Feminist theory) (2) ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในกลุ่มเกย์และเลสเบียน (Theories of lesbian and gay empowerment) และ (3) ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (Social work empowerment theories) (Robbins, Chatterjee & Canda, 1998, p.94)
ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม
วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก
กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป