ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจ
(Empowerment Theories)
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจตั้งข้อสงสัยกับกระบวนทรรศน์ในการแสวงหาความรู้ที่เน้นปฏิฐานนิยม เนื่องเพราะ กระบวนทรรศน์ดังกล่าวสะท้อนอคติลำเอียงทั้งจากแนวคิดชายเป็นศูนย์กลาง (Androcentric) และชาวยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) การวิจัยสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดทั้งสองและกระบวนทรรศน์ปฏิฐานนิยมเป็นอันมาก นักสตรีนิยมวิพากษ์ว่าวิธีวิทยาการวิจัยที่เน้นกระบวนทรรศน์ปฏิฐานนิยมและเน้นวิธีการเชิงปริมาณเป็นวิธีวิทยาการวิจัยที่มีศูนย์รวมที่ความเป็นชายและวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ในทางตรงกันข้าม การวิจัยที่มีจุดยืนในการสร้างพลังอำนาจจะมีศูนย์รวมความสนใจอยู่ที่ประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อผู้ถูกกดขี่
วิธีการวิจัยเพื่อสร้างพลังอำนาจ ไม่ว่าจะใช้ปรัชญาชุดใด ใช้วิธีการเชิงประวัติศาสตร์ ใช้วิธีการเชิงคุณภาพ หรือใช้วิธีการเชิงปริมาณก็แล้วแต่ สิ่งที่สำคัญคือควรจะให้ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยได้ร่วมในกระบวนการวิจัยตั้งแต่ขั้นการออกแบบงานวิจัย การวิเคราะห์ การประเมินผล และการกระทำทางสังคม (Robbins, Chatterjee & Canda, 1998, p.116) การวิจัยที่จุดยืนเพื่อการสร้างพลังอำนาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจประสบการณ์ของประชาชนที่ถูกกดขี่ อย่างที่ประชาชนเหล่านั้นเข้าใจด้วยศัพท์แสงของพวกเขาและเธอเอง และเพื่อเป้าหมายของพวกเขาและเธอเองเป็นสำคัญการวิจัยในลักษณะดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา ประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์วิทยา การเมือง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยกระบวนทรรศน์การแสวงหาความรู้ตามธรรมชาติ (Naturalistc) เทคนิคการวิจัยที่กล่าวมาเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นของการวิจัยเพื่อการสร้างพลังอำนาจ ทว่าผู้ที่นิยมและติดยึดความเชื่อในกระบวนทรรศน์ปฏิฐานนิยมมักจะโจมตีว่าการวิจัยดังกล่าว ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจมีประโยชน์อย่างมากในการอธิบายและพรรณนาให้เห็นพลวัตของอำนาจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ของการกดขี่และการปลดปล่อย เราจะเห็นว่าการอธิบายหรือพรรณนาเนื้อหาดังกล่าวมีความเป็นนามธรรมสูง ทั้งยังมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก จนยากที่จะทำให้เนื้อหาเหล่านั้นอยู่ในรูปและขนาดเชิงปฏิบัติการ (Operationalization) ตลอดจนยากที่จะทดสอบในรูปของสถิติวิเคราะห์
ตัวอย่างเช่น อำนาจทางการเมือง หรือวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดำรงอยู่จริง ทว่าไม่อาจลดรูปให้ลงมาเป็นขนาดเชิงปฏิบัติการได้ ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า การสร้างพลังอำนาจ ก็ไม่ใช่ศัพท์แสงที่มีนิยามความหมายชัดเจนเพียงนิยามเดียว ทว่ามีการให้ความหมายของการสร้างพลังอำนาจอย่างแตกต่างกันและบางนิยามของนักวิชาการบางท่านก็ไม่สอดคล้องกับท่านอื่นๆ อย่างมาก เมื่อนิยามความหมายขาดความแน่นอนสม่ำเสมอ การวิจัยที่เน้นการเปรียบเทียบตัวแปรที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับชุดแนวคิดย่อยๆ อาทิ ความเข้าใจในสมรรถภาพของตน (Self-efficacy) อาจจะนำมาใช้ศึกษาเชิงปริมาณได้ในบางระดับ ดังที่มีผู้ศึกษาในเชิงประจักษ์เรื่อง ความเข้าใจในสมรรถภาพแห่งตน ในการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางสังคม (Robbins, Chatterjee & Canda, 1998, p.116)
ในการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการและองค์การได้มีผู้ศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมหรือขัดขวางกระบวนการสร้างพลังอำนาจในองค์การ คอนเกอร์และคานันโก (Conger & Kanungo, 1988) พบว่ามีปัจจัยบางประการในการจัดการและในองค์การที่ขัดขวางการใช้พลังอำนาจ อาทิ การที่พนักงานถูกขัดจังหวะในช่วงเวลาที่เริ่มกระบวนการทำงาน การเกิดภาวะไร้ระเบียบในองค์การ บรรยากาศที่แข็งกระด้างของระบบราชการที่มีระบบการติดต่อสื่อสารที่ล้มเหลว การดึงทรัพยากรที่กระจุกไว้ส่วนกลางอย่างมาก การนิเทศงานด้วยแบบฉบับของการใช้อำนาจเป็นใหญ่หรือได้แต่ตำหนิติเตียนพนักงานการขาดการให้เหตุผลของการดำเนินงานที่เหมาะสมเพียงพอ ระบบการให้รางวัลที่เน้นการเลือกที่รักมักที่ชัง ระบบคุณค่ามีน้อย การละเลยความสามารถและนวัตกรรมของพนักงาน การออกแบบ การทำงานที่ขาดความชัดเจน ขาดการฝึกอบรม ขาดการสนับสนุนทางเทคนิค ขาดวัตถุประสงค์ที่เป็นจริง ขาดการมีส่วนร่วม โครงสร้างกฎเกณฑ์เข้มงวดและแข็งนิ่ง-ตายตัว ตลอดจนมีข้อจำกัดในการติดต่อกับผู้บริหารอาวุโส
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจประการหนึ่ง คือพลังของการสำรวจค้น (Heuristic power) ซึ่งทำให้สามารถเปิดเผยกระบวนการทางการเมืองที่หยั่งรากลึกลงไปในสถาบันสังคมทุกแห่ง และนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจกับอุปสรรคข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนการเอาชนะข้อจำกัดเหล่านั้นด้วยการปลุกจิตสำนึกการกระทำรวมหมู่และการกระทำของปัจเจก
ในยุคที่การสังคมสงเคราะห์กำลังเน้นถึงการเพิ่มพูนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจมักจะถูกวิจารณ์ว่าไปเน้น
กระบวนการ มากกว่าเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
การให้คุณค่ากับผลลัพธ์ของการดำเนินงานนั้นค่อนข้างจะขัดกระบวนการสร้างพลังอำนาจ
ตัวอย่าง เช่น ในงานเขียนของโซโลมอน ได้ยกคำกล่าวเชิงเสียดสีของเลอร์เนอร์ (Lerner)
ว่า
หากการชี้วัดคุณค่าของโครงการบำบัดด้วยงานเป็นเพียงการนับจำนวนคนที่เข้าร่วมในงานนั้นละก็
การเป็นทาสก็คงเป็นการบำบัดด้วยงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของคนอเมริกันผิวดำ
นั่นเอง
ประวัติความเป็นมา
หลักสำคัญของแนวคิด
การจำแนกแยกชั้นชน
การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ทฤษฎีสตรีนิยม
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจในเกย์และเลสเบี้ยน
ทฤษฎีการสร้างพลังอำนาจของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
ประเด็นร่วมสมัย
การให้นิยามความหมายของการให้ความช่วยเหลือ
ประเด็นวิจารณ์
พลังทางสังคม
วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
ความสอดคล้องกับปัจเจก
กลุ่ม ครอบครัว องค์กร สถาบันและชุมชน
ความสอดคล้องกับค่านิยมและจรรยาบรรณของการสังคมสงเคราะห์
ปรัชญาที่ใช้ค้ำยันทฤษฎี
ประเด็นวิธีวิทยาและข้อมูลประจักษ์
บทสรุป