สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
ประเด็นต่อไปคือ เรื่องของการวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาส (threats and opportunities) คือ ต้องวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯจะเป็นภัยหรือโอกาส เป็นศัตรูหรือเป็นมิตรต่อไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนทัศน์ที่จะมาวิเคราะห์ ถ้าเป็นกระบวนทัศน์มาร์กซิสม์ (Marxism) แน่นอนว่า สหรัฐฯเป็นศัตรูของไทย เพราะสหรัฐฯเป็น หัวโจกของทุนนิยม จะมีผลต่อนโยบายต่างประเทศของไทย เมื่อสหรัฐฯเป็นศัตรูของไทย ไทยก็ต้องต่อต้านสหรัฐฯ และจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ หรือถ้ามองจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม สัจจนิยม จะมองสหรัฐฯว่า เป็น หัวโจก ต้นตอการทำลายเศรษฐกิจไทย สหรัฐฯคือต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เป็นอุบายของตะวันตกที่ต้องการทำลายเอเชีย สหรัฐฯต้องการเป็นเจ้าครองโลก ไม่ต้องการให้เอเชียขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง เครื่องบ่งชี้ต่างๆ มองว่า ในศตวรรษที่ 21 เอเชียจะเป็นอันดับหนึ่ง จะมีอำนาจมากที่สุด เอเชียจะเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ มองในแง่นี้ สหรัฐฯคงไม่ยอม เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นอุบายของตะวันตก (ที่เรียกว่าเป็น conspiracy theory) เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วย อุบายอันแยบยลของตะวันตกในการทำลายเศรษฐกิจเอเชีย ไม่ให้เอเชียกลายมาเป็นอันดับหนึ่ง สรุปคือ สหรัฐฯคือ ศัตรูที่มาทำลาย เศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ผลจากการวิเคราะห์ในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ไทยจะต้องต่อต้านสหรัฐฯ ข้อสรุปของการวิเคราะห์ในลักษณะนี้อาจจะออกมาว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐฯจะ เป็นศัตรูกับไทยอยู่ในขณะนี้ แต่สหรัฐฯก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะไป ชน ด้วย เพราะฉะนั้น ไทยก็ต้องยอมสหรัฐฯไปก่อน และเมื่อวันหนึ่งไทยสามารถฟันฝ่าตรงนี้ไปได้ ไทยค่อยมาต่อต้านสหรัฐฯใหม่
สองแนวที่วิเคราะห์ไป ไม่ได้ถือว่าเป็นกระแสหลักของการวิเคราะห์ กระแสหลักในการวิเคราะห์สหรัฐฯ ยังมองในแง่ดี ยังมองถึงโอกาสสำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบัน ที่จะมาเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย ไทยจึงต้องพึ่งพาสหรัฐฯในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน
กลุ่มเสรีนิยม (Liberalism) จะมองสหรัฐฯในแง่ดีว่า สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก ในการที่จะส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงของโลกให้เกิดขึ้น สหรัฐฯมีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก เช่น เกาหลีเหนือหรืออิรักที่กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กำลังคุกคามประเทศอื่น ถ้าไม่มีสหรัฐฯอะไรจะเกิดขึ้น บทบาทของสหประชาชาติก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น สหรัฐฯในฐานะผู้นำโลกต้องทำหน้าที่ตำรวจโลก นี่คือบทบาทในทางบวกของสหรัฐฯ
บทบาททางบวกของสหรัฐฯอีกบทบาทหนึ่งคือ บทบาทในการที่จะเข้ามาเป็นตัวคานอำนาจในภูมิภาค จีนเพิ่มบทบาทขึ้นมามาก ทำให้ประเทศต่างๆในเอเชียหวาดวิตกในอำนาจของจีน และเอเชียก็มองไปที่สหรัฐฯว่า สหรัฐฯจะเป็นประเทศเดียวที่จะทำหน้าที่เป็นตัวคานอำนาจ (power balancer) หรือเป็นหลักประกันความมั่นคง (security guaranter) ได้
สำหรับญี่ปุ่นเอง ประเทศต่างๆในเอเชียก็ยังหวาดระแวงญี่ปุ่นอยู่ ขณะนี้ ญี่ปุ่นมุ่งในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ญี่ปุ่นอยากมีบทบาททางด้านการทหารขึ้นมา ญี่ปุ่นก็มีศักยภาพมากมาย ด้วยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นมีอยู่ในเวลานี้ จะเปลี่ยนมาเป็นอำนาจทางทหาร เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จีนหรือประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ไม่อยากที่จะให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมาก และต้องการที่จะให้สหรัฐฯเข้ามาคานอำนาจจีนและญี่ปุ่นมากกว่า
อีกบทบาทหนึ่งที่เป็นการมองในเชิงบวก คือ บทบาทการเป็นผู้นำการค้าเสรี สหรัฐฯสนับสนุนการค้าเสรีมาโดยตลอด ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดระเบียบโลกทางเศรษฐกิจที่มีความเป็นเสรีทางการค้ามากขึ้น มีการจัดตั้งแกตต์ (GATT) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) และตลาดของสหรัฐฯก็เป็นตลาดที่เปิดกว้างที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับมหาอำนาจอื่นๆ เพราะฉะนั้น ไทยจึงมองว่าสหรัฐฯ เป็นโอกาสของไทยในการที่จะจัดระเบียบโลกทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นเสรีทางการค้า ให้ระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกยังคงมีเสถียรภาพ จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา ทุกคนก็มองไปที่สหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่จะช่วยไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น โอกาสของสหรัฐฯต่อไทยมีทั้งโอกาสในการที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของสินค้าไทย จะเป็นแหล่งเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในอนาคต และความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค สหรัฐฯก็มีบทบาทที่สำคัญ
โดยสรุป คือ มีหลายมุมมองในการที่จะมองว่าสหรัฐฯจะเป็นบวกหรือลบ ถ้ามองโดยกระบวนทัศน์มาร์กซิสต์ หรือสัจจนิยมจะเป็นลบ ถ้าเป็นอุดมคตินิยมหรือเสรีนิยมจะเป็นบวก แต่ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยจำต้องเดินสายกลาง ไม่ควรที่จะไปทางซ้ายหรือขวาจนสุดโต่ง เพราะมีความเสี่ยงสูง ในการจะดำเนินนโยบายต่างประเทศ การกำหนดนโยบายต่างประเทศจะทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด ลดความเสี่ยง คือต้องเดินทางสายกลาง นี่คือหัวใจของการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป