สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

ผลดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

ผลดีตามหลักเศรษฐศาสตร์
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานนั้น จะบ่งบอกว่า การที่ไทยมี FTA กับสหรัฐฯนั้น จะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนจากสหรัฐฯก็จะเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมไทยในอดีตที่เคยได้รับการปกป้องจากภาครัฐ ก็จะต้องปรับตัว ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ต้นทุนการผลิตจะลดลง เพราะการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ราคาจะถูกลง

ผลดีที่ไทยจะได้จากการทำ FTA กับสหรัฐฯที่ชัดเจนที่สุด คือ การเปิดตลาดสหรัฐฯให้กับสินค้าไทย สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปี 2005 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด

สินค้า 3 ประเภทที่จะได้รับผลดีอย่างชัดเจน ได้แก่ สินค้าสิ่งทอ ซึ่งปัจจุบันโดนภาษีนำเข้าประมาณ 20% แต่หากในอนาคตภาษีลดลงเหลือ 0% ก็มีการคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าสิ่งทอของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 25-35% สินค้าเกษตรก็มีโอกาสจะส่งออกได้มากขึ้นหากไทยมี FTAกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ไก่ และข้าวหอมมะลิซึ่งโดนภาษี 20% ส่วนสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีโอกาสสูงที่จะได้ประโยชน์ คือชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งหากสหรัฐฯเปิดเสรีให้กับไทย ก็เท่ากับว่าไทยจะได้ตลาดรถ 200 ล้านคัน

นอกจากนี้ ยังมีผลดีในเรื่องของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งปัจจุบันไทยโดนภาษีประมาณ 6-35% ในขณะที่ประเทศในอเมริกาใต้หลาย ๆ ประเทศไม่ถูกคิดภาษี ซึ่งทำให้การส่งออกปลาทูน่าของไทยตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ และยังมีสินค้าเหล็กซึ่งในอดีตโดนภาษีค่อนข้างหนัก สินค้าสับปะรดกระป๋องก็เคยถูกมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด และก็ยังมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก อาทิ Bio Terrorism Law หรือกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ ซึ่งทำให้มีมาตรการเข้มงวดกวดขันในการส่งออกสินค้าอาหารของไทย และสหรัฐฯยังมี farm act หรือกฎหมายอุดหนุนสินค้าเกษตร

กล่าวโดยสรุป หากไทยมี FTAกับสหรัฐฯ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น และน่าจะทำให้ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯได้มากขึ้น

FTA ไทยสหรัฐฯจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาค
ขณะนี้ไทยกำลังแข่งกับสิงค์โปร์ในการเจรจา FTA ทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ผลดีคือ หากไทยมี FTA ทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ มาก ๆ จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคแข่งกับสิงค์โปร์ ผลดีเหล่านี้เป็นผลดีที่อยู่นอกเหนือตำราทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอยากจะเรียกว่าเป็นผลดีตามหลักรัฐศาสตร์ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นผลดีตามหลักรัฐศาสตร์ซึ่งมักจะมองข้ามไป ในการวิเคราะห์ผลดีผลเสียของ FTA

ประเทศไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่นหากประเทศอื่นมี FTA กับสหรัฐฯแล้ว
ไทยไม่มีในประเด็นนี้ ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า หากประเทศอื่น โดยเฉพาะสิงค์โปร์มี FTA กับสหรัฐฯแล้วไทยไม่มี ไทยจะเสียเปรียบสิงค์โปร์ ซึ่งต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่า หากฟิลิปปินส์มี FTA กับสหรัฐฯ มาเลเซียมี FTA กับสหรัฐฯ แล้วไทยไม่มีจะเสียเปรียบเช่นเดียวกัน

ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์
ผลดีอีกประการหนึ่งที่มักจะมองข้ามไป คือ ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไทยไม่ได้ต้องการทำ FTA กับสหรัฐฯเพราะต้องการตลาดส่งออกเท่านั้น แต่ FTA จะทำให้ไทยเป็นพันธมิตร เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและทางด้านยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ซึ่งต้องยอมรับว่า สหรัฐฯนั้นเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น การที่จะใช้ FTA ทำให้ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐฯจะทำให้ไทยได้ประโยชน์หลายประการ ทั้งผลประโยชน์ทางด้านการเมือง ผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคง และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ

FTA คือ การถ่วงดุลอำนาจในรูปแบบใหม่
ผลดีประการสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึง คือการใช้ FTA เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลอำนาจ ในรูปแบบใหม่ สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ คือ กำลังมีการแข่งขัน เพื่อขยายอิทธิพล มายังภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และรัสเซีย ประเทศที่กำลังถูกจับตามองว่ากำลังจะผงาดขึ้นมาและอาจขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคนี้คือจีน ดังนั้น การที่ไทยมี FTA กับสหรัฐฯ จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจจีนในรูปแบบใหม่ได้ด้วย โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ของไทยที่พึงปรารถนาคือ การสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยป้องกันมิให้มีมหาอำนาจใดครอบงำภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียว

จากการวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียข้างต้น จะเห็นได้ว่า การทำ FTA กับสหรัฐฯนั้น มีทั้งผลเสียหลายประการ และผลดีก็หลายประการ ยุทธศาสตร์การเจรจา FTAกับสหรัฐฯนั้น ไทยควรจะเน้นยุทธศาสตร์การเจรจาที่จะทำให้ไทยได้ผลดีมากที่สุด และผลเสียน้อยที่สุด สำหรับรายละเอียดของยุทธศาสตร์การเจรจานั้น จะกล่าวโดยละเอียดในลำดับต่อไป

» ช่วงก่อนสงครามเย็น-1960

» ช่วงทศวรรษ 1970-1990

» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ

» ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณ

» ไทยกับสงครามอิรัก

» ทักษิณเยือนสหรัฐฯ

» ทหารไทยในอิรัก

» Bush เยือนไทย

» สถานะพันธมิตรนอกนาโต้

» สถานการณ์ความสัมพันธ์ล่าสุด

» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐฯต้องการอะไร

» ไทยต้องการอะไร

» การเจรจา

» ผลเสียของ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ผลดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ

» สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย

» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา

» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)

» นโยบายสายกลาง

» บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย