สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
ส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในเรื่องนโยบายต่างประเทศไทยต่อสหรัฐฯ คือ ทางเลือก (options) จริงๆแล้วไทยไม่ได้มีทางเลือกมากนักในแง่ที่ว่า ไทยมักจะถูกประเทศอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯมากดดันในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไทยต้องตอบสนอง สหรัฐฯจะเป็นฝ่ายรุก ไทยจะเป็นฝ่ายรับ สหรัฐฯจะรุกให้ไทยทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ในแง่ของทางเลือก ไทยจะมีทางเลือกอย่างไร
ทางเลือกที่ 1 (Option 1) : ต่อต้านสหรัฐฯ (Anti-USA)
ทางเลือกที่
2 (Option 2) : ทำตามสหรัฐฯ สนับสนุนสหรัฐฯทุกด้าน เหมือนสมัยสงครามเย็น (pro USA)
ทางเลือกที่ 3 (Option 3) : พยายามมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในลักษณะที่ไม่มาก
หรือไม่น้อยไปกว่าความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป
(equi-distant)
ทางเลือกที่ 1 : ต่อต้านสหรัฐฯ (Anti-USA)
ถ้าไทยมีนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ ไทยจะได้อะไร เสียอะไร สิ่งที่ไทยจะได้คือ
จะได้ในส่วนที่เชื่อว่าสหรัฐฯเป็นศัตรู เป็นต้นตอวิกฤติเศรษฐกิจของไทย
เป็นผู้นำของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ
จะลดภัยนี้ลงไป
แต่ถ้ามองในผลเสีย ถ้าไทยต่อต้านสหรัฐฯ สหรัฐฯก็จะต่อต้านไทยด้วยเช่นเดียวกัน สหรัฐฯซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจมีเครื่องมือที่จะมาลงโทษไทยหลายด้านด้วยกัน เช่น การลงโทษทางเศรษฐกิจ การตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตัด GSP ตัดความช่วยเหลือ การลงโทษทางด้านการเมือง ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ การทหาร ความมั่นคง เพราะฉะนั้นผลเสียคือ สหรัฐฯสามารถตอบโต้ไทยได้มากมาย ขณะที่ไทยไม่สามารถตอบโต้สหรัฐฯได้ นอกจากนั้น ไทยจะเสียโอกาสด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การลงทุน ความช่วยเหลือ
และด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ไทยควรจะต่อต้านสหรัฐฯ ซึ่งหากไทยไปต่อต้านสหรัฐฯไทยคงจะได้ไม่คุ้มเสีย ไทยอาจจะได้ในเรื่องของการเอาใจกระแสชาตินิยมในประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายใน แต่ถ้ามองถึงผลเสีย ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ไทยคิดว่าจะได้จากสหรัฐฯก็จะถูกกระทบ
ทางเลือกที่ 2 : การอิงสหรัฐอเมริกา (Pro-US)
ถ้าทางเลือกที่ 2
คือ pro สหรัฐฯ สนับสนุนสหรัฐอย่างเต็มที่ ยอมสหรัฐฯในทุกๆเรื่อง
ถ้าดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ pro สหรัฐฯ ไทยจะได้อะไร เสียอะไร
ผลดีที่จะได้คือ จะได้โอกาสด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความช่วยเหลือ และความสัมพันธ์อันดีด้านการเมืองความมั่นคง สหรัฐฯมีความเป็นอภิมหาอำนาจ ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องไปยืนข้างสหรัฐฯ ในทางกลับกัน ผลเสียคือ จากการที่ไป pro สหรัฐฯ หากว่าระบบโลกเป็นแบบหลายขั้ว ไทยจะเสียโอกาสในการที่จะได้ประโยชน์จากมหาอำนาจอื่นๆ ไทยพึ่งพิงสหรัฐฯมากเกินไป โดยลดความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน หรือญี่ปุ่น เป็นการเสียโอกาส ถ้ามองระบบความมั่นคงในอนาคตเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ทางเลือกที่ดีคือ การที่จะไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 3 ขั้วอำนาจ หรือหลายๆขั้วอำนาจ นอกจากนี้ หากในอนาคตเป็นความขัดแย้งระหว่างอารยธรรม (Clash of Civilizations) การที่ pro สหรัฐฯ ในที่สุดแล้ว สหรัฐฯก็จะไม่เอาไทย เพราะไทยไม่ใช่ตะวันตก ในความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมอื่นๆ ผลประโยชน์ที่ไทยจะหวังว่าจะได้จากสหรัฐฯ ในการที่จะไปยอมสหรัฐฯทุกเรื่อง จะได้จริงหรือไม่ ขณะที่สหรัฐฯก็จะมองผลประโยชน์ของตะวันตกก่อน
ที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบัน pro สหรัฐฯมากเกินไป และจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า การที่ไทย pro สหรัฐฯมาโดยตลอด ก็ไม่ได้ผลอะไรมากมายนัก
ทางเลือกที่ 3 :
นโยบายระยะห่างเท่าเทียมกัน (Equidistant Policy) หรือ นโยบายสายกลาง
ทางเลือกที่ 3 คือ
การดำเนินนโยบายต่อสหรัฐฯในลักษณะที่ให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักที่ไม่น้อยไม่มากไปกว่ามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง
เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป หมายถึง เดินสายกลางในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ไม่ pro
ไม่ antiใคร ถ้ามองในแง่นี้ น่าจะเป็น ทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด
นโยบายต่างประเทศที่ดีต้องไม่เสี่ยงมาก
การกำหนดนโยบายต่างประเทศจะต่างจากการกำหนดนโยบายธุรกิจ
เพราะการกำหนดนโยบายทางด้านธุรกิจจะมีความเสี่ยงเข้ามา
ทางเลือกใดความสี่ยงมากก็จะให้กำไรมาก
คือจะมีทางเลือกที่ว่าจะยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้กำไรมากหรือไม่ แต่นโยบายต่างประเทศ
กำไรไม่มีความหมายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย สรุปคือ
ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศหรือนโยบายสาธารณะจะไม่พยายามเสี่ยง
มักเป็นนโยบายที่เดินสายกลาง ถ้าเลือกทางเลือกที่ 3 ผลประโยชน์ที่ได้
ไม่ว่าโลกจะเป็น 2 ขั้ว (bipolar) 1 ขั้ว (unipolar) หรือหลายขั้ว (multipolar)
ไทยก็คงไม่เสียอะไรมาก ถ้าเป็น Clash of Civilization ทางเลือกที่ 3
จะเป็นจุดยืนของอารยธรรมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ทางเลือกที่ 3 คือ นโยบายสายกลาง คือ ไม่ต่อต้านมากไป และไม่ proมากไป พยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลดี-ผลเสีย การดำเนินนโยบายเช่นนี้ค่อนข้างปลอดภัยที่สุดและการดำเนินนโยบายก็มีหลายสูตร สูตรที่เป็นกลางจริงๆก็หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจแต่ละประเทศก็จะเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นสูตร 33.33 : 33.33 : 33.33 นอกจากสูตรนี้ ก็มีอีกหลายสูตร เช่น เข้าไปใกล้ชิดสหรัฐอเมริกามากหน่อย สูตร 40 : 30 : 30
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป