สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทักษิณเยือนสหรัฐฯ
เพราะฉะนั้นหลังจากสงครามอิรัก ไทยเริ่มเห็นแล้วว่า สหรัฐฯกำลังจะใหญ่ขึ้นมา แต่รัฐบาลทักษิณก็ทำเสียหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน สงครามอิรัก การก่อการร้าย พอมาถึงเดือนมิถุนายน ปี 2003 รัฐบาลเห็นแล้วว่า ควรจะรีบไป ง้อ สหรัฐฯ ครั้งที่ 2 แต่คราวนี้สหรัฐฯ งอน มากกว่าคราวแรก ท่าทีของไทยที่ไม่สนับสนุนสหรัฐฯในสงครามอิรัก ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การต่อต้านการก่อการร้าย ท่าทีกำกวมไม่ร่วมมือกับสหรัฐฯ
ท่าทีต่อพม่าก็ขัดแย้งกับสหรัฐฯคือ สหรัฐฯต้องการบีบ กดดันพม่า คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ให้พม่าปฏิรูประบบการเมือง แต่ไทยก็เฉยมาตลอด บอกว่าเป็นเรื่องของประเทศพม่า ไทยไม่เกี่ยว เป็นเพื่อนบ้านกัน ต้องอะลุ่มอล่วยให้ ใช้ constructive engagement ต้องเข้าไปเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นรัฐบาลทักษิณจึงดีกับพม่ามาตลอด โดยสหรัฐฯไม่ชอบ เพราะมองว่าไทยไปดีกับรัฐบาลเผด็จการทหารได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ตอนที่นายกทักษิณไปขอพบ Bush มีข่าวว่า Bush ไม่อยากพบ ในตอนนั้น นายกทักษิณได้รับเชิญจาก Asia Society แต่ในเมื่อไปแล้ว ก็ต้องการพบ Bush ถ้าไปแล้วไม่ได้พบก็จะเสียหน้ามาก เพราะฉะนั้น จึงมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเข้าพบให้ได้ ในที่สุดก็สามารถทำจนได้
สำหรับสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าจะงอนไทย แต่ว่าในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในที่สุดก็ต้องกลับมาสู่เรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ ไทยมีประโยชน์อะไรต่ออเมริกา ไทยมีประโยชน์ในการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค มีประโยชน์ในการที่สหรัฐฯจะยังคงกองกำลังทหาร และเพิ่มบทบาททางด้านการทหารในภูมิภาค และครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป ไทยยังเป็นจิกซอว์สำคัญในการถ่วงดุลอำนาจจีนในภูมิภาค ในยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจจีน สหรัฐฯไม่ต้องการผลักไทยไปสู่อ้อมอกของจีน ต้องดึงเอาไทยไว้ และไทยยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ แต่ไทยก็เป็น เค้ก ก้อนโตเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อ Bush กับทักษิณพบปะกัน มีการออก Joint Statement หรือแถลงการณ์ร่วม ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไทยยอมสหรัฐฯทุกเรื่อง เรื่องแรกไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมแต่ได้มีข่าวออกมาก่อนแล้วว่าไทยอยากได้สถานะพันธมิตรนอกนาโต้ โดยยอมแลกกับข้อตกลงว่าจะไม่เอาคนอเมริกันไปขึ้นInternational Criminal Court
เรื่องอิรัก ไทยเปลี่ยนท่าทีโดยสัญญาว่าจะส่งทหารเข้าไปร่วมกับสหรัฐฯในอิรัก ท่าทีต่อปัญหา เกาหลีเหนือก็เปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่เฉย ๆ ไทยก็ออกมาประณามเกาหลีเหนือเรื่องอาวุธร้ายแรง ท่าทีต่อพม่าก็ได้เปลี่ยนไป โดยทั้ง Bush และทักษิณเห็นตรงกันว่า รัฐบาลทหารพม่าต้องปฏิรูปทางการเมือง ต้องปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี
ส่วนเรื่องการก่อการร้ายเป็นการเปลี่ยนท่าทีแบบ 180 องศา คือ จากก่อนหน้านี้ไทยบอกว่าไม่มีผู้ก่อการร้าย แต่ตอนนี้ไทยประกาศว่าสามารถจับกุมสมาชิก JI ได้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการจับ โชว์ สหรัฐฯ จับเสร็จนายกทักษิณก็ไปหา Bush Bush ก็ดีใจ ไทยยอมรับแล้วว่ามีขบวนการก่อการร้ายอยู่ในประเทศ และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ
เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องวิสามัญฆาตกรรม นายกทักษิณได้ประกาศจะดำเนินการอย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ใครผิดจะเอาผิดอย่างเต็มที่ หลังจากที่ไทยยอมอเมริกาทุกเรื่อง ไทยก็ได้ของแถมคือ FTA ซึ่งรัฐบาลอยากได้เหลือเกิน ก่อนหน้านี้อเมริกายังตั้งท่าว่ายังไม่พร้อม แต่ตอนนี้ Bush ประกาศแล้วว่าจะเจรจา FTA กับไทย ภาพรวมคือ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯดีขึ้น แต่นายกทักษิณก็โดนตำหนิว่า ยอมสหรัฐฯมากเกินไป หลังจากกลับมา ฝ่ายค้านก็ออกมาโจมตี ชาวไทยมุสลิมก็ไม่พอใจ
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป