สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
บทสรุป
ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ได้มีความพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งด้วยกัน จากนโยบายต่างประเทศในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ไทยได้เหินห่างจากสหรัฐฯ โดยไทยให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อนุภูมิภาคนิยม แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในช่วงกลางปี 2540 ไทยก็ปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯใหม่ โดยเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อหวังผลที่จะให้สหรัฐฯช่วยเหลือในการกอบกู้เศรษฐกิจไทย และร่วมมือกับสหรัฐฯในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งเปิดการเจรจา FTA กับสหรัฐฯด้วย
บทวิจัยนี้ได้วิเคราะห์เสนอแนะแนวนโยบายต่างประเทศไทยต่อสหรัฐฯในอนาคต โดยได้มีกระบวนการของการวิเคราะห์ โดยเน้นถึงการวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาสของสหรัฐฯต่อไทย แนวโน้มในระยะสั้นจะเป็นโลก 1 ขั้ว ก็มีความจำเป็นที่ไทยจะมีนโยบายที่เข้าหาสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่จะได้จากการเข้าหาสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่หลายขั้ว ดังนั้น นโยบายไทยในระยะยาวต้องค่อยๆปรับจากสภาวะแวดล้อมที่เป็น 1 ขั้วเป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐฯไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง นอกจากนั้น ไทยต้องเตรียมปรับนโยบาย หากความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไทยคงต้องพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในการปะทะกันระหว่างตะวันตกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งมีจีนและกลุ่มประเทศอิสลามเป็นแกนนำ
นอกจากนี้ กระบวนการโลกาภิบาล (global governance) ที่จะเป็นกระแสหลักของโลกในระยะยาว ยิ่งจะทำให้บทบาทของสหรัฐฯถูกลดทอนลงจากสถาบันทางสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้ไทยลดนโยบายการพึ่งพิงต่อสหรัฐฯลงเรื่อยๆ
ดังนั้น ทางเลือกนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐฯในอนาคตน่าจะไม่ใช่ ทางเลือกที่ จะต่อต้านสหรัฐฯหรือพึ่งพิง(pro) สหรัฐฯ แต่น่าจะเป็นทางเลือกของนโยบายสายกลาง หรือนโยบายระยะห่างเท่าเทียมกัน ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป