สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
นโยบายสายกลาง
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกานั้น ถ้าหากเลือกเดินทางสายกลาง (ทางเลือกที่ 3) นโยบายของไทยจะเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯจะเป็นไปในรูปแบบที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายรุก ไทยเป็นฝ่ายตอบรับมากกว่า เรื่องที่สหรัฐฯมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ตอนนี้คือ การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธร้ายแรงต่างๆ (proliferation) และถ้าอาวุธตกอยู่ในมือประเทศที่ชอบรุกราน ก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ประเด็นนี้โยงกับประเด็นปัญหาการก่อการร้ายสากล สหรัฐฯไม่ต้องการให้อาวุธตกอยู่กับประเทศที่เรียกว่าเป็น outlaw nations ประเทศที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งพยายามที่จะพัฒนาอาวุธเหล่านี้ สำหรับท่าทีของคนไทย ต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านจะเป็นอย่างไร? ถ้าไทยเลือกเดินทางสายกลาง ไทยต้องดำเนินนโยบายแบบ บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
อีกประเด็นที่มีความสำคัญคือ ความขัดแย้งทางอารยธรรม ไทยจะดำเนินนโยบายอย่างไรที่จะให้ไทยเป็นอารยธรรมที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned civilization) ต้องหลีกหนีความขัดแย้งทางอารยธรรมที่จะเกิดในอนาคต สำหรับระดับภูมิภาค ในเรื่องของความมั่นคงคือ การที่สหรัฐฯจะมาสร้างดุลแห่งอำนาจให้เกิดขึ้น จะเป็นการคานอำนาจกันระหว่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนโยบายไทยต่อเกมการสร้างดุลแห่งอำนาจนี้ ไทยต้องมีการปรับสูตรตามแต่สถานการณ์ โดยที่ไทยจะพยายามอยู่ตรงกลาง ไม่ใกล้ชิดใครมากเป็นพิเศษ
นโยบายทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกับด้านการเมืองความมั่นคง สหรัฐฯมีนโยบายในเชิงรุกในเวทีระดับต่างๆซึ่งมีทั้งเวทีพหุภาคี และเวทีทวิภาคี ในเวทีพหุภาคี การประชุม WTO รอบ Doha ในเรื่องนี้ไทยต้องมีการประนีประนอมมากขึ้น จากที่ในอดีตเคยมีท่าทีต่อต้านตะวันตกและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ต้องปรับเปลี่ยนจากการเผชิญหน้า (confrontation) เป็นการประนีประนอม (compromise)
ในเวทีพหุภาคีอื่นๆนั้น เวทีเอเปค (APEC) คงจะซึมเซาไปอีกนาน สหรัฐฯได้ลดความสำคัญของเอเปคลง และเน้น WTO แทน เพราะขณะนี้เอเชียไม่ได้เป็นจุดดึงดูดของสหรัฐฯเหมือนในอดีต สหรัฐฯไม่ต้องการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเร่งด่วนอย่างในอดีต
ในระดับทวิภาคี สหรัฐฯจะมารุกไทยในด้านต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องการค้าและการลงทุน ทางด้านการค้า สหรัฐฯยังคงเป็นตลาดสินค้าอันดับ 1 ของไทย แต่สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือคือ การกดดันทางการค้าของสหรัฐฯครั้งใหม่ โดยเฉพาะช่วงนี้ใกล้มีการเลือกตั้งรัฐบาลสหรัฐฯต้องการทำคะแนน ถึงแม้ว่า สหรัฐฯจะมีเศรษฐกิจดี แต่ปัญหาคือการขาดดุลการค้า ดังนั้น สหรัฐฯต้องยังรุกในเรื่องนี้ มาตรการตอบโต้ทางการค้าจึงยังคงมีอยู่ ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญคือ มาตรา 301 super 301 และ special 301
สหรัฐฯใช้ special 301 ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อกดดันและลงโทษประเทศที่มีการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา special 301 เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2532-2533 ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ (copyright) สิทธิบัตร (patent) และเครื่องหมายทางการค้า (trademark) ในอดีตสหรัฐฯกดดันไทยให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายใหม่ ที่จะครอบคลุมถึงโปรแกรมต่างๆที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ (software) ส่วนเรื่องสิทธิบัตร เรื่องผลิตภัณฑ์ยา สหรัฐฯกดดันไทยให้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้คุ้มครองสิทธิบัตรยา สมาคมผลิตภัณฑ์ยาในสหรัฐฯร้องเรียนต่อ USTR ให้เล่นงานไทยในเรื่องสิทธิบัตรยา ไทยเคยจัดอยู่ใน PFC (Priority Foreign Countries) ขณะนี้อยู่ในขั้น Priority Watch List ซึ่งสหรัฐฯอาจตอบโต้ไทยโดยขั้นแรก ตัด GSP หรืออาจเพิ่มภาษีสินค้าไทย จำกัดปริมาณการนำเข้า และอาจตอบโต้ด้วยมาตรการรุนแรง คือ ห้ามการนำเข้าสินค้าไทย
ในปี 2535-2536 สหรัฐฯกดดันไทยให้มีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฉบับใหม่ ตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และให้มีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ไทยก็ยอม ได้ผ่านกฎหมายลิขสิทธิ์ แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ตั้งกองบังคับคดีขึ้นในกรมตำรวจ และตั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯพอใจ และผ่อนคลายความกดดันอยู่พักหนึ่ง แต่หลังปี 2537 เมื่อสหรัฐฯปลดไทยจาก PFC ไทยก็กลับมาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอีก ดังนั้น สหรัฐฯจึงได้มาเล่นงานไทยอีกรอบ
ในเรื่องการลงทุน ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสทองของสหรัฐฯในการลงทุนในไทย เพราะทุกสิ่งถูกหมด ไทยต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ร่วมหุ้น ซื้อกิจการ รัฐวิสาหกิจย่ำแย่ ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ในแง่ลบคือ ความดึงดูดของภูมิภาคนี้หมดไปแล้ว สหรัฐฯไม่ได้มองว่าภูมิภาคนี้จะเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เป็นศตวรรษที่ 21 ของเอเชีย ขณะนี้ตลาดหดตัวลงมาก อุปสงค์ลดลงไปมาก การมาลงทุนผลิตสินค้าในไทย เริ่มไม่น่าสนใจเหมือนในอดีต เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่สหรัฐฯคิดว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์
สหรัฐฯรุกหนักในเรื่องการต่อต้านระบอบเผด็จการ สหรัฐฯต้องการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ฝ่ายไทยริเริ่มให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการในอาเซียนคือ ให้มีนโยบายแบบ flexible engagement ซึ่งเป็นการชูธงประชาธิปไตย ไทยจึงกลายเป็น เด็กดี ของสหรัฐฯ แต่ผลเสียคือ ไทยถูกประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆวิพากษ์วิจารณ์ว่า ก่อให้เกิดการแตกแยกในอาเซียน ในที่สุดประเทศอื่นๆก็ไม่เอาด้วย ยังยึดนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ผลเสียอีกประการหนึ่งคือ ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับพม่าเป็นไปในทางลบ หลังจากที่ไทยได้ประกาศนโยบาย flexible engagement ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าเริ่มเสื่อมทรามลง ดังนั้น ไทยต้องหาจุดสมดุล ในการดำเนินนโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชน หาจุดกลางระหว่างผลดี-ผลเสีย
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป