สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 ตอนแรกรัฐบาลทักษิณประกาศว่า จะเป็นกลาง แต่ใน ระยะเวลาต่อมา รัฐบาลก็ถูกบีบ ไทยก็เป็นกลางไม่ได้ รัฐบาลออกแถลงการณ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน เกี่ยวกับท่าทีในเรื่องการก่อการร้ายในสหรัฐฯ ที่สำคัญคือ ไทยประกาศจะร่วมมือกับอเมริกาอย่างเต็มที่ หลังจากนั้น จึงกลายเป็น pattern มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คือ อเมริกาบีบ ไทยก็ร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ว่าร่วมมือซักพักหนึ่ง ไทยก็ต้องถอยออกมา เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหา ซึ่งปัญหาคือ ตราบใดที่รัฐบาลถูกมองว่าร่วมมือกับสหรัฐฯมาก ๆ ชาวไทยมุสลิมจะออกมาประท้วง จะมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลทักษิณชักศึกเข้าบ้าน ไทยจะเป็นเป้าของการก่อการร้าย และจะเป็นศัตรูกับโลกมุสลิม
เพราะฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามสร้างสมดุล เพราะผลประโยชน์กับสหรัฐฯยังมีอีกมาก ไทยยังต้องพึ่งพาอเมริกาทั้งทางด้านการทหาร การเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจอยู่ อย่างไรก็ตาม ใกล้เกินไปก็ไม่ได้ ต้องพยายามสร้างสมดุลให้ดี และตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็สร้างสมดุลมาตลอด เพราะฉะนั้น ปัญหาของรัฐบาลทักษิณคือ หากประกาศจุดยืนเข้าข้างอเมริกาเมื่อไร ก็จะมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนจุดยืนอีกที
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2001 มีการออกแถลงการณ์ว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ UN และอาเซียน คณะมนตรีความมั่นคงของ UN มีมาตรการประกาศออกมา เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันในการต่อต้านการก่อการร้าย อาเซียนก็มีท่าทีออกมาชัดเจนว่าเสียใจ และขอประณามการก่อการร้าย และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้เป็นกรอบที่ไทยต้องปฏิบัติตาม เพราะมีพันธะในคณะมนตรีความมั่นคง และจุดยืนร่วมกันของอาเซียน รัฐบาลพยายามจะทำให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ตามอเมริกา แต่รัฐบาลทำตาม UN และอาเซียน
ในแง่ความร่วมมือกับสหรัฐฯ มีหลายระดับ อ่อนที่สุดคือ ประกาศจุดยืนว่า ต่อต้านการก่อการร้าย มากขึ้นอีกระดับคือ มาตรการด้านข่าวกรอง การบังคับใช้กฎหมาย มาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางด้านการทหาร ทางด้านการทหารก็มีระดับตั้งแต่ logistic support คือ สนับสนุนทางด้านช่าง เสบียง กองกำลังบำรุงแต่ไม่ได้สนับสนุนทางด้านการทหารโดยตรง ระดับถัดมา คือ การอนุญาตให้เครื่องบินสหรัฐฯ บินผ่านน่านฟ้าไทยเพื่อไปทำสงครามกับขบวนการก่อการร้าย
ระดับที่ 3 คือ การอนุญาตให้ใช้ฐานทัพของไทยได้ ไม่ได้บินผ่านเฉย ๆ แต่หมายถึงมาจอด ตอนนั้นก็มีปัญหา ตอนที่เครื่องบินอเมริกันบินไปทำสงครามที่อัฟกานิสถาน มีข่าวว่ามาลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา แต่รัฐบาลปฏิเสธบอกว่า การจอดเป็นแค่ routine ไม่ได้ไปทำสงคราม มาตรการสุดท้ายคือ การส่งทหารไปร่วมรบกับทหารอเมริกาซึ่งไทยยังไม่เคยทำ ทั้งในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป