สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณ
ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณคือ พยายามสร้างสมดุล และมีนโยบายยุทธศาสตร์กำกวม คือไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไงแน่ เรียกว่ามีท่าทีแบบ กำกวมอย่างตั้งใจ อยากจะย้อนกลับไปว่า ก่อน 11 กันยาฯ รัฐบาลทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ด้วยนโยบายต่อต้านอเมริกา นโยบายชาตินิยม ภูมิภาคนิยม เข้ามาได้ด้วยการโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นรัฐบาลตาม ก้น อเมริกา และคนไทยในระยะหลังก็ไม่ชอบอเมริกา ดังนั้น ถ้ารัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลตาม ก้น อเมริกา ก็จะเสียทันที
ดังนั้น รัฐบาลทักษิณในช่วงแรก ประมาณต้นปี 2001 จึงถอยห่างจากอเมริกาโดยเน้นเรื่องชาตินิยม ต่อต้านตะวันตก โดยบอกว่าไม่สนใจเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ จะพึ่งตัวเอง และหันไปเน้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จีน อินเดีย แต่ไม่ไปเยือนสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ระดับความสำคัญของตะวันตกและสหรัฐฯในแง่ของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณจึงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบกับเอเชีย
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ รัฐบาลทักษิณก็ต้องเปลี่ยน ต้องให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ ในที่สุด นายกทักษิณต้องไปเยือนสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯไม่ค่อยชอบไทย เพราะไทยไม่เต็มที่กับสหรัฐฯ ที่ไทยให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้มีหลายรูปแบบ หลายมาตรการด้วยกันที่ร่วมมือกับสหรัฐฯนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯไปเทียบกับอะไร คือ พันธมิตรของสหรัฐฯ หลัก 5 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ทีนี้ถ้าเทียบกับ 4 ประเทศนี้ว่าทำอะไรบ้าง เห็นได้ชัดเจนว่าทำมากกว่าไทย ออสเตรเลียทำมากกว่าไทย เพราะส่งทหารไปร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ก็ร่วมมือกับสหรัฐฯมากกว่าไทย ถึงแม้ว่าไทยจะร่วมมือกับสหรัฐฯมากแค่ไหน สหรัฐฯก็มีข้อเปรียบเทียบ และสหรัฐฯจะรู้สึกว่าไทยไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับพันธมิตรทั้งสี่
เพราะฉะนั้นนายกทักษิณ ในช่วงปลายปี 2001 ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯเป็นครั้งแรก ภายหลังการพบปะหารือกับประธานาธิบดี Bush ได้มีแถลงการณ์ร่วมออกมาประกาศว่า ไทยจะเป็นพันธมิตรร่วมกับสหรัฐฯและบอกว่ามีการซ้อมรบร่วม คอบร้าโกลด์ ความสัมพันธ์ทางด้านทหาร ไทย-สหรัฐฯก็แน่นแฟ้น และนายกทักษิณประกาศว่า ไทยพร้อมเต็มที่ในการร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย จะอายัดทรัพย์สิน จะลงนามในสนธิสัญญา 12 ฉบับ ที่เป็นสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย และบอกว่า ไทยจะส่งทหารไปช่วยฟื้นฟูอัฟกานิสถาน นี่คือเหตุการณ์ปลายปี 2001 หลังจากที่นายกทักษิณไปประกาศเช่นนี้ สหรัฐฯก็พอใจ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯก็กระเตื้องขึ้น
แต่ต่อมาในปี 2002 สหรัฐฯเริ่มมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเป็นแหล่งซ่องสุมขบวนการก่อการร้าย JI มีเครือข่ายรวมกับ Al Qaeda สหรัฐฯให้รัฐบาลไทยจับ รัฐบาลก็พยายามปฏิเสธมาตลอดว่าไทยไม่มีผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลทักษิณเป็นห่วงว่า ถ้าบอกว่ามี ก็จะกระทบต่อเรื่องการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
สำหรับทางสหรัฐฯเริ่มหงุดหงิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไทยทำไมไม่ร่วมมือ พอมาถึงต้นปี 2003 ก่อนที่สหรัฐฯจะบุกอิรัก ปัญหาของไทยเริ่มแดงขึ้นเรื่อย ๆ ตรวจสอบได้จากเอกสารของ Heritage Foundation มีบทความเขียนออกมาในตอนเดือนมกราคม บอกว่า แนวร่วมของการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 ประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ แต่ ไม่มีไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ใช้กำลังในการต่อต้านการก่อการร้ายและได้ร่วมมือกับสหรัฐฯในระดับทวิภาคี
- ระดับที่ 2 คือ ไทยและอินโดนีเซียซึ่ง ใช้ยุทธศาสตร์ นกคุ่ม คือเวลาจะหนีจาก นักล่าจะพรางตัวอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับ ไทยใช้ยุทธศาสตร์ นกคุ่ม คือ พรางตัวทางการทูต การอยู่รอดคือ การพรางตัวและหยุดนิ่งเพื่อรอดจากนักล่า ไทยกับอินโดนีเซียใช้การเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านการก่อการร้าย เป็นพรางตัวทางการทูต เพื่อที่จะลดแรงกดดันของสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ไปดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จะไปทำให้ขบวนการก่อการร้ายสนใจ ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยืนยันว่าไม่มีขบวนการก่อการร้ายในประเทศ และไม่ได้เข้าร่วมในมาตรการต่าง ๆ ในการต่อต้านการก่อการร้าย ข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯได้ระบุว่า กลุ่ม JI และ Al Qaeda ใช้ทางตอนใต้ของไทยเป็นฐานในการจะไปวางระเบิดโรงแรมที่บาหลี
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2002 ก็เกิดเรื่องขึ้นอีก ทาง FBI บอกว่า จากการสืบทราบของเขา ไทยมีขบวนการก่อการร้ายแอบซ่อนอยู่และบอกให้จับ แต่ไทยก็ไม่จับ จนตอนหลัง FBI กับหน่วยงานของไทยก็ขัดแย้งกันมากขึ้น
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป