สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ช่วงก่อนสงครามเย็น-1960
ในระยะแรก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯเริ่มจากทางด้านการค้าก่อน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยในปี 1833 มีการจัดทำสนธิสัญญาด้านการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ต่อมาในปี 1833 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยเริ่มเปิดประเทศมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทย-สหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 1884 เป็นปีที่สหรัฐฯได้มาจัดตั้งสถานทูตในไทยครั้งแรก แต่ความสัมพันธ์ในช่วงนี้ไม่ได้มีอะไรมากนัก ถ้าจะมีปัญหาคือ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สหรัฐฯถือว่าเป็นมหาอำนาจใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เป็นมหาอำนาจเก่า สหรัฐฯต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ต้องการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สหรัฐฯเป็นชาติแรกที่ไทยได้มีการจัดทำสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในปี 1920
จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดี และเป็นแม่แบบความสัมพันธ์ของไทยที่มีต่อชาติตะวันตกอื่นๆด้วย คือ สนธิสัญญาที่ทำขึ้นในปี 1920 ที่เรียกว่า Treaty of Friendship, Commerce and Navigation สนธิสัญญาฉบับนี้ได้กลายเป็นแม่แบบที่ไทยได้ใช้ในการเจรจากับประเทศยุโรปอื่นๆ ในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ไทย-สหรัฐฯก็มาถึงจุดสำคัญ คือ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่ไทยมีขบวนการเสรีไทย และทูตไทยที่กรุงวอชิงตันปฏิเสธไม่ยอมยื่นคำประกาศสงครามต่อรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ถือว่าไทยไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้น สหรัฐฯถือว่าไทยไม่ได้เป็นฝ่ายอักษะ หรือฝ่ายญี่ปุ่น แต่เป็น รัฐที่ถูกยึดครอง จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาในอดีตจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯดีมาตลอด ในแง่ที่สหรัฐฯช่วยเหลือไทยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส การเป็นแม่แบบยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการช่วยไทยผ่อนหนักเป็นเบาในช่วงแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงทศวรรษ1950-1960
ในช่วงสงครามเย็น ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากที่สุด คือ ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 สงครามเย็นเป็นช่วงที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นยุคที่ไทยพึ่งมหาอำนาจสหรัฐฯมากที่สุด ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐฯหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม และได้ร่วมลงนามก่อตั้งองค์การ SEATO ขึ้นในปี 1954 หลังจากนั้น ในทศวรรษที่ 1960 เป็นทศวรรษที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากที่สุด ในปี 1962 ไทยได้ทำสนธิสัญญาความมั่นคงกับสหรัฐฯที่เรียกว่า Rusk-Thanat Communique ซึ่งเป็นหลักประกันที่ไทยพยายามให้สหรัฐฯมาประกันให้ในกรณีที่มีการรุกรานไทย สหรัฐฯจะเข้าช่วย ในทศวรรษนี้มีการทำความตกลงกันอีกหลายฉบับระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเป็นการยินยอมให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย
อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษที่ 1960 สหรัฐฯเริ่มเห็นว่า สงครามยืดเยื้อ ยิ่งรบยิ่งไม่เห็นทางชนะ ประชาชนชาวสหรัฐฯ รู้สึกเบื่อหน่ายสงคราม ในปี 1969 จึงมีการประกาศลัทธินิกสัน (Nixon Doctrine หรือ Guam Doctrine)
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป