สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ช่วงทศวรรษ 1970-1990
หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯเริ่มเปลี่ยน คือ ในทศวรรษที่ 1970 เป็นทศวรรษแห่งความสับสนวุ่นวายที่สุดยุคหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เป็นยุคที่ไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะสหรัฐฯถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้ และปล่อยให้ไทยอยู่อย่างเปราะบาง ในแง่ของความมั่นคง ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะมากขึ้น ปี 1975 เวียดนาม ลาว และกัมพูชา กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯก็ห่างเหิน ไทยไม่มีทางเลือกในการหาหลักประกันอันใหม่ ไทยจึงไปพึ่งสมาคมอาเซียน (ASEAN) และจีน
ทศวรรษ 1980
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯมีแนวโน้มเหินห่างออกไป
สหรัฐฯยังคงยึดนโยบายในการลดบทบาท และถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากที่พ่ายแพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐฯ เข็ดขยาด
ต่อการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ แม้ว่าเวียดนามจะ
ใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองเขมรในปี 1978 สหรัฐฯก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร
สหรัฐฯได้แต่อยู่ห่าง ๆ และช่วยในกรอบของสหประชาชาติ สรุปได้ว่า ทศวรรษที่ 1980
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
ขณะที่ไทยอยู่ในช่วงปรับบทบาทใหม่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษที่ 1970 คือ
พยายามดำเนินการทูตรอบทิศทาง ในขณะที่สหรัฐฯ ลดบทบาทลง ไทยต้องไปหาพันธมิตรอื่นๆ
ช่วงนี้ไทยจึงไปใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น รวมทั้งอาเซียนด้วย
และไทยก็ไปใกล้ชิดกับโซเวียตมากขึ้น และเริ่มคืนดีกับอินโดจีน
จะเห็นได้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ในเรื่องการเมืองและความมั่นคง ไม่มีสหรัฐฯมาเกี่ยวข้องเท่าไร ไทยวุ่นอยู่กับเรื่องเขมรและใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ใช้จีนมาช่วยไทย ช่วยเขมรแดง และไปคืนดีกับโซเวียต สหรัฐฯไม่ได้มีบทบาทต่อไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980 นี้
แต่ว่าในทศวรรษที่ 1980 นี้เอง ที่ได้เริ่มมีมิติใหม่เกิดขึ้นระหว่างไทย-สหรัฐฯ นั่นคือ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-สหรัฐฯไม่มีอะไร เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกมาก ตลาดก็เล็ก เเละไม่ได้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากนัก ไทยจึงไม่มีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไทยเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สหรัฐฯเองได้เริ่มปฏิรูปบทบาททางด้านเศรษฐกิจ คือเริ่มนโยบายทางด้านการค้าในเชิงรุก ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 สหรัฐฯบัญญัติกฎหมายการค้าใหม่คือ Omnibus Trade Bill มีการใช้มาตรการ 301 และสหรัฐฯ ได้รุกหนักขึ้นด้วยมาตรการ Super 301 มาตรการเหล่านี้สหรัฐฯได้นำมาใช้ในการที่จะมีนโยบายในเชิงรุกกับประเทศต่างๆ ที่เริ่มจะมีปัญหากับสหรัฐ คือ การได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประมาณกลางทศวรรษที่ 1980 ไทยเผชิญกับสหรัฐฯในความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเชิงลบ คือ เริ่มมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯด้านการค้า
ทศวรรษ 1990
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1990
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯเป็นความสัมพันธ์ที่มี ปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ
เรื่องความมั่นคงเริ่มมีความขัดแย้ง หลังจากที่สหรัฐฯได้ทิ้งไทยไปนาน
ไทยก็หันไปหาจีน และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯอย่างมากในด้านความมั่นคง
เพราะไทยสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนได้
ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ จึงเริ่มมีปัญหา คือ
ในเรื่องที่สหรัฐฯขอให้อ่าวไทยตั้งคลังแสงลอยน้ำ
เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐฯ แต่ไทยปฏิเสธ นอกจากความขัดแย้งด้านความมั่นคง
ไทย-สหรัฐฯก็มีความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษที่
1980 สหรัฐฯเริ่มรุกหนักขึ้นด้านการเปิดเสรีด้านภาคบริการ
ในเรื่องของการปฏิบัติพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ
เมื่อสหรัฐฯมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็รู้สึกว่าได้สูญเสียบทบาท
อำนาจด้านเศรษฐกิจไป เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งบทบาทได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทนำสหรัฐฯในเรื่องของการค้า การลงทุน
และการให้ความช่วยเหลือ ญี่ปุ่นเหนือกว่าสหรัฐฯในทุกด้าน ดังนั้น
สหรัฐฯจึงต้องการที่จะกลับมามีบทบาทด้านเศรษฐกิจอีกครั้งเพื่อแข่งขันกับญี่ปุ่น
อีกประเด็นคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ในสมัยที่ไทยมีระบอบการปกครองอำนาจนิยมเผด็จการ ในช่วงนั้น สหรัฐฯไม่สนใจว่าประเทศใดจะปกครองระบอบใด ขอให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นพอ นั่นคือในสมัยสงครามเย็น เพราะฉะนั้น ช่วงทศวรรษที่ 1960 และ1970 แม้ว่าไทยจะมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ สหรัฐฯก็ไม่สนใจขอให้ไทยต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเดียว เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ความต้องการในแง่นี้ก็สิ้นสุดลง กระแสที่ต้องการจะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ประเด็นที่จะมาขัดแย้งคือ ขณะที่ไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่บางประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สหรัฐฯและประเทศตะวันตกต่างได้ดำเนินนโยบายกดดันพม่า แต่ว่าในช่วงนี้ ไทยยึดนโยบายที่ถือว่าเพื่อนบ้านสำคัญกว่า ต้องเอาอาเซียนไว้ก่อน สหรัฐฯและยุโรปมาทีหลัง เพราะฉะนั้น ไทยมีประชาธิปไตย แต่นโยบายต่างประเทศของไทยที่จะชูธงประชาธิปไตยไม่มีเพราะถือว่าต้องเดินตามอาเซียน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศต่างๆเหล่านี้ไม่ต้องการให้มีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น ไทยก็เดิน ตามอาเซียน เสียงข้างมากในอาเซียนต้องการให้ ชน กับสหรัฐฯและตะวันตกทางด้านสิทธิมนุษยชน ไทยเห็นว่า ต้องทำตามอาเซียน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เมื่อไทยเลือกที่จะทำตามอาเซียนก็แสดงว่า ไทยเลือกที่จะอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐฯและตะวันตก ในเรื่องท่าทีที่มีต่อประเทศต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน
จึงเห็นได้ว่าในทศวรรษที่ 1990 ไทยอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐฯในเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ด้านความมั่นคงไทยก็อิงจีน ตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ในช่วงที่จีนยังไม่เป็นภัยต่อสหรัฐฯก็ยังไม่เป็นอะไร แต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนเริ่มเติบใหญ่และกำลังจะเป็นภัยต่อสหรัฐฯ การที่ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนเกินไปจึงเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ทศวรรษที่1990 จึงเป็นทศวรรษที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯตกต่ำในหลายๆด้าน
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป