สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 1: ยุทธศาสตร์หลักและกลยุทธ์การเจรจา
สำหรับยุทธศาสตร์หลักของการเจรา FTA ไทย-สหรัฐฯนั้น ควรมียุทธศาสตร์ดังนี้
- ฝ่ายไทยจะต้องให้ความสำคัญในการประสานท่าทีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้ท่าทีการเจรจามีลักษณะเป็นทีมและจะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับฝ่ายไทย
- ฝ่ายไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาโดยนำเอาเรื่องต่าง ๆ มาผูกเข้าด้วยกันเพื่อใช้ประโยชน์ในการต่อรอง ตัวอย่างเช่น ฝ่ายสหรัฐฯอาจต้องการความร่วมมือจากไทยในการต่อต้าน การก่อการร้าย หรือในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ฝ่ายไทยก็อาจใช้ไพ่เหล่านี้มาใช้เพิ่มอำนาจการต่อรองในการเจรจา
- กลยุทธ์การเพิ่มอำนาจการต่อรองโดยใช้แรงกดดันจากการเมืองภายในซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยการทำให้ประเด็นการเจรจา FTA เป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมการเจรจาที่แข็งกร้าวขึ้น หน่วยงานของฝ่ายไทยมีจุดยืนร่วมกันมากขึ้น
- ฝ่ายไทยจะต้องพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายสหรัฐฯเห็นด้วยกับหลักการที่ว่า FTA ควรจะอยู่ภายในบริบทที่กว้าง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ความสัมพันธ์ในภาพรวม และ FTA จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่า
- สาขารายการสินค้าที่ฝ่ายไทยควรจะโน้มน้าวให้ฝ่ายสหรัฐฯเปิดเสรีได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนตร์ สินค้าเหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น สำหรับรายการสินค้าที่ฝ่ายสหรัฐฯต้องการให้ไทยเปิดเสรี ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องนำไปอยู่ในบัญชียกเว้นไม่เปิดเสรีหรือถ้าจำเป็นต้องเปิดก็ควรที่จะค่อย ๆ เปิด รายการดังกล่าว ได้แก่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การลดอุปสรรคในการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ การเชื่อมโยงประเด็นทางด้านการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
- เน้นมิติผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ โดยฝ่ายไทยจะต้องทำให้ฝ่ายสหรัฐฯเห็นว่า การมี FTA กับไทยจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับจีน และฝ่ายไทยจะต้องแสดงให้เห็นว่า ไทยมีตำแหน่งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยไทยจะเป็นประเทศที่เชื่อม หรือเป็น gateway สู่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นฝ่ายไทยควรเน้นความสำคัญของไทย ในการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ยุทธศาสตร์ด้านกรอบระยะเวลา
สำหรับเรื่องกรอบระยะเวลาของการดำเนินการเปิดเสรี
ฝ่ายไทยจะต้องมีนโยบายไม่เร่งรีบทำ FTA เกินไป
การเจรจาที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่าเร่งรีบมากเกินไป
ทำให้บุคลากรในหน่วยราชการต่าง ๆ
ไม่มีความพร้อมและไม่ได้ศึกษายุทธศาสตร์และกำหนดท่าทีอย่างรอบคอบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 :
ยุทธศาสตร์การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน
รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการกำหนดท่าทีของไทยโดยจะต้องมีกลไกรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง
รัฐบาลจะต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งนี้
เพื่อจะทำให้กระบวนการกำหนดท่าทีไทยต่อสหรัฐฯมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และจะก่อให้เกิดฉันทามติ ความชอบธรรม และการสนับสนุนทางการเมือง
ซึ่งจะนำไปสู่ท่าทีไทยที่จะมีน้ำหนักมากขึ้น และจะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับฝ่ายไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ยุทธศาสตร์ความโปร่งใสของกระบวนการเจรจา
กระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯนั้น จะต้องมีความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
จะต้องทำให้ FTA เป็นผลประโยชน์ต่อชาติโดยส่วนรวม
โดยไม่เอื้อแก่กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม และต้องไม่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
ไม่ใช่ในที่สุดจะกลายเป็นว่า FTA ไทย-สหรัฐฯ คนรวยหรือนายทุนชาติ บริษัทใหญ่ ๆ
จะได้ประโยชน์ แต่คนจน เกษตรกรรายย่อย ธุรกิจรายย่อย อาจจะไม่ได้อะไร
และอาจจะได้รับผลกระทบในทางลบเสียด้วยซ้ำ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างและกลไกเจรจา
ในอดีต
การเจรจา FTA อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์มาตลอด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทักษิณมี
นโยบายที่ต้องการแข่งกับสิงค์โปร์ในการเจรจา FTA ให้ได้มากที่สุด
จึงเกิดปัญหาเรื่องการขาดคนในกระทรวงพาณิชย์ที่จะเป็นหัวหน้าทีมเจรจา
รัฐบาลจึงแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างใหม่ เอาเรื่องการเจรจา FTA
ทั้งหมดไปอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือ กนศ. และให้ ดร.สมคิด
จาตุศรีพิทักษ์ในฐานะประธาน กนศ. ดูแลควบคุมการเจรจา FTA ทั้งหมด
และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 8 คณะ คณะหนึ่งจะเจรจากับประเทศหนึ่ง
โดยคณะอนุกรรมการไทย-สหรัฐฯ ก็เอาคนนอกเข้าเป็นหัวหน้าทีมเจรจาคือ นิตย์
พิบูลย์สงคราม อดีตทูตไทยประจำสหรัฐฯ ผลดีของการปรับโครงสร้างแบบนี้คือ
ทำให้มีหัวหน้าทีมเจรจาเพียงพอ แต่ผลเสียคือ การทำให้การเจรจาขาดเอกภาพ
ขาดการประสานงาน หัวหน้าทีมเจรจาก็ไม่มีประสบการณ์เจรจาการค้า
หน่วยงานที่จะมาสนับสนุนก็กระจัดกระจาย
หน่วยงานหลักในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ จึงเป็นกระทรวงต่างประเทศแทนที่จะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ถึงขั้นล่าสุดทูตนิตย์ พิบูลสงครามซึ่งเป็นคนของกระทรวงต่างประเทศ ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าทีมเจรจา โดยมีข่าวลือว่า เพราะทนแรงกดดันจากทีมของ ดร. สมคิดไม่ไหว เพราะนอกจาก ดร.สมคิดเป็นรองนายกฯแล้ว ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ด้วย ดูแล้วคิดว่าน่าจะมีความขัดแย้งลึก ๆ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศ และจากการลาออกของทูตนิตย์จะทำให้ ดร. สมคิด และกระทรวงพาณิชย์ ได้ควบคุมกระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า รัฐบาลทักษิณมีแผนการจะจัดตั้งสำนักงานการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในลักษณะเดียวกับ USTR ของสหรัฐ ขึ้นด้วย
การปรับไปปรับมาของกลไกการเจรจา FTA ของไทยนั้น ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อการเจรจาของไทย จึงขอเสนอประเด็นเรื่องการปรับกลไกการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ดังนี้ คือ การปรับกลไกการเจรจาโดยอาศัยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์และมีลักษณะเฉพาะกิจ หน่วยงานเหล่านั้นก็จะไม่พร้อมและไม่มีประสบการณ์การเจรจา จึงควรมีการจัดตั้งหน่วยเจรจาการค้าอย่างถาวร (โดยตัวแบบ
ที่น่าจะพิจารณาคือ ตัวแบบกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับตัวแบบ USTR ของสหรัฐฯ เพราะ USTR ของสหรัฐฯ ขาดสถานะการเป็นกระทรวง ที่จะทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ยอมรับการเป็นแกนนำในการประสานการเจรจานโยบาย FTA) นโยบายไทยต่อสหรัฐฯในอนาคต ถ้าจะกำหนดนโยบายต่างประเทศไทยต่อสหรัฐฯสำหรับอนาคต จะมีกระบวนการขั้นตอนกำหนดอย่างไร
ประเด็นปัญหา
ลำดับแรก คือ การค้นหาประเด็นปัญหา (Issue search) การวิเคราะห์ประเด็นปัญหา ต้องวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม ต้องวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาส นี่คือประเด็นหลักในการเริ่มต้นการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศไทยต่อสหรัฐฯ
» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
» การเจรจา
» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย
» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา
» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)
» บทสรุป