สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย

คณะทำงานด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล

ช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะจาก endemic area ควรสงสัยโรคไข้หวัดนกเสมอ ผู้ป่วยรายที่สงสัยควรจัดเข้าห้องแยกร่วมกับการป้องกันการติดต่อของผู้ดูแลรักษาด้วยอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่ผู้ป่วยไข้หวัดนก บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนกควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อลดโอกาสการเป็นแหล่งสำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ของคนและนกจะมาผสมกันทำให้เกิดการกลายพันธุ์ (reassortment) เป็นเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อกันระหว่างคนได้ง่าย ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก (pandemic) เพราะร่างกายมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้

แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก ประกอบด้วย

  1. Infection control ในสถานพยาบาล องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงปัญหาการเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก จึงแนะนำให้มีการเตรียมการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  2. การดูแลรักษาผู้ป่วย
    •ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคและภาวะแทรกซ้อน แบ่งเป็นการรักษาจำเพาะ และการรักษาทั่วไป
    •แยกผู้ป่วยเข้าห้องแยก (isolation room) แนะนำให้ใช้ห้องที่มี negative pressure นำเสมหะและเลือดไปตรวจหาเชื้อ influenza A/H5 การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไปที่จำเป็นได้แก่ CBC, Platelet Count , Bun, Cr, Electrolyte, Liver function test

การรักษาจำเพาะ

ใช้ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ในคนมาใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก ยา oseltamivir (Tamiflu®) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม neuraminidase inhibitor ยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลการรักษาไข้หวัดนกโดยยานี้ แต่จากข้อมูลการรักษาไข้หวัดใหญ่ในคนพบว่ายานี้ได้ผลดีถ้าให้ในช่วง 2 วันแรกของการป่วยและใช้ในกลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยถ้าให้ตามข้อบ่งชี้ดังกล่าว สามารถลดอาการของไข้หวัดใหญ่ลงได้ 1-2 วัน ขนาดยาที่ใช้คือ

ผู้ใหญ่ : Tamiflu® (75 มก./เม็ด)
1 เม็ด เช้า – เย็น หลังอาหารนาน 5 วัน

เด็ก :ให้ขนาดดังนี้
น้ำหนักตัว น้อยกว่า 15 กก. ให้ 30 มก. เช้า – เย็น นาน 5 วัน
น้ำหนักตัว 16-23 กก. ให้ 45 มก. เช้า – เย็น นาน 5 วัน
น้ำหนักตัว 24-40 กก. ให้ 60 มก. เช้า – เย็น นาน 5 วัน
น้ำหนักตัว มากกว่า 40 กก. ให้ 1 เม็ด เช้า-เย็น นาน 5 วัน

สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดนกที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล โดยให้อยู่ในห้องแยก และให้ยา oseltamivir

การรักษาทั่วไป

  • ควร monitor vital signs รวมทั้ง oxygen saturation อย่างใกล้ชิด ในรายที่มีระดับ oxygen saturation ต่ำกว่า 92% ควรให้ออกซิเจนเสริมซึ่งให้ได้หลายวิธีอาจเป็น cannula หรือ mask ควรให้ low flow oxygen ไม่ควรให้ high flow oxygen โดยหลีกเลี่ยง oxygen box หรือoxygen tent ควรหลีกเลี่ยงการใช้ nebulizer เพราะมีหลักฐานสนับสนุนการแพร่กระจายของเชื้อโดยวิธีนี้ในผู้ป่วย Severe acute respiratory syndrome (SARS)
  • ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อนควรให้ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม สำหรับยาในกลุ่ม immunomodulators ซึ่งได้แก่ corticosteroids ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงผลดีของการรักษา ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาในกลุ่ม salicylates เพราะอาจกระตุ้นให้เกิด Reye syndrome ได้ ซึ่งมีรายงานในผู้ป่วยเด็กไข้หวัดนกที่ฮ่องกง
  • ผู้ป่วยไข้หวัดนกที่มีปอดอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะหายใจล้มเหลวสูงควรรีบรักษาด้วยออกซิเจนความเข้มข้นสูงและเตรียมพร้อมสำหรับการใส่เครื่องช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยไข้หวัด(ซึ่งพยาธิสภาพเป็นแบบเดียวกับ acute respiratory distress syndrome) แนะนำให้ใช้ pressure controlled ในกรณีที่ให้ conventional ventilator แล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา acute hypoxemic respiratory failure ได้ อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็น high frequency oscillatory ventilation พบว่าได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วย ARDS ถ้าให้ตั้งแต่ในระยะแรกของโรค

ยังไม่ทราบถึงระยะแพร่เชื้อของผู้ป่วยไข้หวัดนกที่แท้จริง แต่จากการศึกษาในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ พบว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ สามารถแพร่เชื้อได้นาน 7 วัน หลังจากไข้ลงแล้ว ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี อาจแพร่เชื้อไวรัสได้นานกว่านั้น (มีรายงานว่าอาจแพร่เชื้อได้ถึง 21 วัน นับจากวันเริ่มป่วย) ดังนั้นในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยควรได้รับการควบคุมป้องกันไม่ให้เข้าสังคม เพราะอาจมีโอกาสแพร่เชื้อได้

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน

เมื่อแพทย์รักษาผู้ป่วยจนอาการหายหรือทุเลา และอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้พยาบาล ต้องอธิบายถึงการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้

  1. แนะนำให้ปฏิบัติ hand hygiene อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะการติดต่อของโรค
  2. ต้องสวมผ้าปิดปาก ตลอดเวลา นอกจากเวลารับประทานอาหารและทำกิจธุระส่วนตัว
  3. เวลาไอต้องปิดปาก จมูก ด้วยกระดาษชำระโดยต้องปิดถึงคาง ทิ้งกระดาษชำระในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หลังจากนั้นต้องล้างมือทุกครั้ง
  4. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลในครอบครัว, ไม่ควรไปในที่ชุมชน และให้หยุดงาน หยุดเรียนจนกว่าจะพ้นระยะการติดต่อของโรค (ไข้หวัดใหญ่ทั่วไป 5 วันนับจากมีอาการ ถ้าเป็น H5 14 – 21 วัน)
  5. มาตรวจตามนัด หากมีอาการผิดปกติรีบมาโรงพยาบาลทันที

การควบคุมป้องกันในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคหรือผู้สัมผัสโรคโดยให้การดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรค

  • ผู้ที่สัมผัสกับคนหรือสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ต้องเฝ้าดูอาการนาน 7 วัน ถ้าผู้สัมผัสโรคมีอาการ ไข้ ไอ หอบ ควรรีบให้การรักษาแบบผู้ป่วยไข้หวัดนก โดยให้ oseltamivir ทันที
  • บุคลากรทางการแพทย์ ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย โดยไม่ได้ป้องกัน อาจให้ post exposure prophylaxis โดย oseltamivir วันละ 1 เม็ด นาน 7 วัน
  • กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก บุคลากรทางการแพทย์ ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นการป้องกันการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อไข้หวัดนกเกิดการผสมสายพันธุ์และกลายพันธุ์ (reassortment) ในตัวคน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย