สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

กลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ สำนักโรคติดต่อทั่วไป

1. ไข้หวัดนก คืออะไร

ไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก เป็นโรคของสัตว์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ซึ่งปกติจะเกิดกับนก สัตว์ปีก อาจพบในสัตว์อื่นได้บ้าง เช่นเสือ หมู (ในต่างประเทศ) โรคนี้มีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง โดยสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้คือ สายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นชนิดรุนแรง

2. สัตว์ปีกที่ป่วยจะมีอาการอย่างไร

ในสัตว์ปีก มีไข้ หงอยซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง หน้า หงอน เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก และไข่ลด หรือไข่มีลักษณะผิดปกติ ตายรวดเร็ว การระบาดมักรุนแรงและทำให้ไก่ตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไก่และไก่งวงมักป่วยรุนแรง โดยทั่วไปเป็ด ห่านมักทนโรคมากกว่าและมักไม่ป่วย แต่การระบาดในปี 2547 นี้ ทั้งในเวียดนามและในประเทศไทย พบเป็ดป่วยและตายด้วยโรคนี้ด้วย

3. คนติดโรคไข้หวัดนกได้อย่างไร

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก โดยเชื้อไวรัสในน้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ป่วย อาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายคนทางเยื่อบุจมูกและตา ผู้ป่วยบางรายอาจติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น การไปคลุกคลีในบริเวณที่มีมูลไก่อยู่

4. ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร

ในคน หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้งๆ และอาจมีน้ำมูก น้ำตาไหล ตาแดงด้วย ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวอาจป่วยรุนแรง เกิดอาการหายใจลำบากหรือหอบ จากปอดบวมอักเสบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้

5. ควรดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก อย่างไร

หากมีผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดอยู่ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

6. ไข้หวัดนกต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไปอย่างไร

-อาการทั่วไปจะคล้ายคลึงกันคือไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้งๆ แต่ไข้หวัดนกมักจะพบในเด็ก และอาการรุนแรงกว่า คือมีปอดบวม ภาวะหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว การวินิจฉัยที่สำคัญคือการมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีก หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดนกร่วมด้วย นอกจากนี้ยังต้องอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยท่านสามารถรับการตรวจวินิจฉัยได้จากแพทย์ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง

7. มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือไม่

การติดต่อจากคนสู่คนเป็นไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าการระบาดในต่างประเทศและในประเทศไทยมีกรณีที่อาจมีการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งการติดต่อจากคนสู่คนนั้นเป็นการสัมผัสอย่างใกล้ชิดโดยไม่มีเครื่องป้องกันการติดเชื้อ (personal protective equipment) ดังเช่น กรณีญาติที่อาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จากการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดนก หรือโรคปอดบวม โดยปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการเยี่ยมไข้หรือการดูแลผู้ป่วย ของแพทย์อย่างเคร่งครัด

8. สถานการณ์ไข้หวัดนกในขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร

ขณะนี้มีการระบาดในสัตว์ปีกใน 8 ประเทศในเอเชีย และมีรายงานผู้ป่วยใน 3 ประเทศได้แก่เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ในประเทศไทยมีการระบาด 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อพ.ย.46-ม.ค.47 การระบาดรอบที่ 2 มีผู้ป่วยยืนยันโรค 5 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีรายงานผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2548 อย่างไรก็ตามในขณะนี้ประเทศใกล้เคียง ยังคงมีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด (สถานการณ์รายวัน ท่านสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ www.moph.go.th)

9. มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใดที่เชื้อจะกลายพันธุ์จนทำให้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย

ในขณะนี้ ประเทศใกล้เคียงมีรายงานลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก เช่นช่วงอายุของผู้ป่วย ลักษณะการระบาดเป็นกลุ่ม (cluster) ของคนในครอบครัว ตลอดจนความรุนแรงของโรคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับผลการตรวจเชื้อไวรัส มีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย (antigenic drift) ซึ่งรายงานเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสเริ่มมีการพัฒนาไปจากเดิม ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจติดตามเชื้อไวรัสอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องความเป็นไปได้เรื่องการกลายพันธุ์ หากคนหรือหมูเป็นไข้หวัดใหญ่อยู่เดิมแล้วติดเชื้อไข้หวัดนกซ้ำซ้อนเข้าไป อาจจะทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย และเกิดการระบาดในวงกว้างขวางได้

10. ควรใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกสำหรับสัตว์ หรือไม่อย่างไร

การใช้วัคซีนในสัตว์นั้น มีข้อดีและข้อเสียเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันมาก เราจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี
•ลดจำนวนการป่วยตายในสัตว์ได้
•ลดปริมาณเชื้อไวรัสที่สัตว์ขับออกมา
•ลดปริมาณสัตว์ที่จะเป็นรังโรคที่จะก่อให้เกิดการระบาด

ข้อเสีย
•การที่สัตว์ไม่ค่อยป่วยหรือไม่มีอาการจะทำให้ไม่สามารถตรวจจับการระบาดได้
•สัตว์ที่ฉีดวัคซีนถึงจะมีปริมาณเชื้อไวรัสอยู่ในตัวน้อยลง แต่ก็ยังคงมีและขับออกมาทำให้แพร่เชื้อได้

ในปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนในสัตว์ปีกในวงกว้าง แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะกับนกสวยงาม สัตว์ปีกหายาก และให้ทำการศึกษาวิจัยเตรียมหารูปแบบและวิธีการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสม ในกรณีที่อาจมีความจำเป็นในอนาคต

11. มีวัคซีนป้องกันโรคในคนหรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบัน วัคซีนไข้หวัดนก กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาและศึกษาทดลองในสัตว์และคน ส่วนวัคซีนที่มีใช้อยู่ในขณะนี้เป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ (ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A 2 สายพันธุ์คือ H3N2, H1N1 และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B) การจะเลือกใช้วัคซีนสายพันธุ์ใด ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่แต่ละปี ซี่งจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีกได้ แต่มีผลทางอ้อมต่อการป้องกัน การแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อไข้หวัดนกในตัวคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ป้องกันการเกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อจากคนถึงคนได้อย่างรวดเร็วและทำให้มีการระบาดไปทั่วโลก

12. ปัจจุบันมียารักษาไข้หวัดนกหรือไม่

นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลแบบประคับประคองทั่วไป และรักษาตามอาการเช่น การให้น้ำเกลือ การให้ยาตามอาการแล้ว ยังมียาต้านไวรัสที่จะสามารถช่วยรักษาไข้หวัดนกได้ หากแต่ผู้ป่วยต้องได้รับยาดังกล่าวอย่างรวดเร็วและถูกต้อง นั่นคือต้องมีการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วอีกด้วย

13. ในช่วงนี้ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  • หากพบว่ามีไก่หรือสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาช่วยแจ้งกับปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรืออบต. โดยด่วน
  • สัตว์ที่ป่วยตาย อย่าทิ้งทั่วไป อย่าทิ้งลงน้ำ อย่านำไปรับประทานหรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน
  • ต้องมีการกำจัดซากสัตว์ด้วยการฝังอย่างถูกวิธี
  • ผู้บริโภค ยังสามารถกินไก่และไข่ได้ตามปกติ แต่ต้องทำให้สุกทั่วถึงและนานพอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสไก่และสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ห้ามดูดเสมหะให้ไก่ชนอย่างเด็ดขาด
  • ถึงแม้ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน เราก็ไม่ควรประมาท เพราะอย่างน้อยก็เป็นการป้องกันไข้หวัดไปด้วย ดังนั้น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดและอย่า ไอ จาม รดกัน
  • หากมีอาการไข้หวัด ร่วมกับประวัติสัมผัสไก่หรือสัตว์ปีก / ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดบวม ให้รีบ พบแพทย์

  14. กระทรวงสธ.มีมาตรการ เอ็กซเรย์ ทุกพื้นที่และทุกคนที่มีการเจ็บป่วยหมายถึงอะไร อย่างไร

นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายใช้มาตรการเด็ดขาด ให้เวลา 1 เดือน ในการกวาดล้างโรคไข้หวัดนกให้หมดสิ้นจากประเทศไทย เอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้วและเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค.47 คำว่า เอ็กซเรย์ทุกตารางนิ้ว มีทั้งด้านสธ.และปศุสัตว์

ด้านสาธารณสุข ได้มีการสั่งการให้อสม. เจ้าหน้าที่ของสธ. ร่วมกับอีกหลายฝ่ายในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจในทุกพื้นที่ ในกรณีที่พบผู้ป่วยมีอาการไข้หวัด หายใจลำบากหรือปอดอักเสบ และมีประวัติสัมผัสกับไก่ที่ป่วยตายหรืออยู่ในหมู่บ้านที่มีไก่ป่วยตายมากผิดปกติมาก่อน ให้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นไข้หวัดนก จะต้องรีบแจ้งหน่วยงานตามลำดับ เพื่อให้จัดทีมเข้าไปสอบสวนโรคในชุมชนทันที รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานอื่นในจังหวัดในการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคให้สงบโดยเร็ว

ส่วนในด้านปศุสัตว์ ได้มีการเฝ้าระวัง หากมีไก่หรือสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในท้องที่ใด ให้แจ้ง เพื่อจะตรวจหาเชื้อในสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย ตลอดจนการทำลายสัตว์ที่ตรวจพบเชื้อโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เอ็กซเรย์พื้นที่ซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งทำให้การเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ผลดีเป็นอย่างมาก

15. ผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้นในเดือนตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง

ในสัตว์ปีก พบพื้นที่การระบาดมากขึ้นกว่ารอบแรก อาจเป็นได้จากการเร่งค้นหาได้มากหรือมีการระบาดมากขึ้นจริง โดยการระบาดส่วนใหญ่เกิดในไก่พื้นบ้าน ไก่ชน ฟาร์มเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อคน เพราะโอกาสสัมผัสใกล้ชิดมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อมากขึ้นในเป็ดไล่ทุ่ง

ในด้านการดำเนินงานด้านสาธารณสุข พบว่ามีการจัดการที่รวดเร็ว ทำให้ควบคุมการระบาดได้เร็วขึ้น การเผยแพร่ความรู้และคำแนะนำประชาชน ได้ผลดี ประชาชนระมัดระวังป้องกันตัว การเฝ้าระวังโรคดีขึ้น มีผู้ป่วยเพิ่มเพียง 1 ราย จากการตรวจคัดกรองทั้งสิ้น 1,568 ราย ทั้งที่พื้นที่เสี่ยงมีมากขึ้น และจำนวนสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งโรคมีมากขึ้น (ไก่พื้นบ้าน ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง) ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตื่นตัว เกิดความร่วมมืออย่างกว้างขวางระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน ในการสำรวจและควบคุมโรค

16. รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานเรื่องไข้หวัดนกต่อไปอย่างไร

แม้ว่าขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยได้สงบลงมาก แต่ในประเทศใกล้เคียงยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งอาจจะมีการระบาดอีกหลายระลอกต่อไปอีกหลายปี หากไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การแก้ปัญหาไข้หวัดนกจำเป็นต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการและเป็นระบบ เพราะปัญหามีความสลับซับซ้อนเกี่ยวพันกับปัจจัยหลายด้าน การดำเนินงานอย่างแยกส่วนไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการการดำเนินการอย่างเป็นระบบขึ้น โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก พ.ศ. 2548-2550 ขึ้น ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังนี้

  1. การพัฒนาการจัดการระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค เพื่อให้สัตว์ปลอดโรค และผู้บริโภคมีความปลอดภัย
  2. การเฝ้าระวังและควบคุมเมื่อเกิดการระบาดของโรค เพื่อให้สามารถตรวจจับการเกิดโรคไข้หวัดนก ได้อย่างฉับไว และติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัญหาได้อย่างใกล้ชิด
  3. สร้างและจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก เช่นการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาวัคซีน ชุดตรวจวินิจฉัย ตลอดจนยารักษาไข้หวัดนก
  4. การสร้างเสริมศักยภาพขององค์กรและบุคลากร ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค การชันสูตรโรค การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย
  5. การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและธุรกิจ
  6. การพัฒนาระบบและกลไกการจัดการเชิงบูรณาการ เพื่อให้การจัดการปัญหาไข้หวัดนกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพ

17. ไข้หวัดนกเกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่อย่างไร

เนื่องจากเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่แต่ละครั้งในอดีต เชื่อว่าเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ เช่นเชื้อไข้หวัดนก โดยจะเกิดระบาดใหญ่ทั่วโลกและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลเป็นระยะ ๆ ทุกรอบ 10 – 30 ปี ในภาวการณ์ปัจจุบันหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีโอกาสแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็วตามการขยายตัวของการสื่อสารคมนาคม ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วโลกจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่สามารถจะทำนายได้อย่างแน่นอนว่าการระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อใด องค์การอนามัยโลกจึงได้แจ้งเตือนประเทศสมาชิกให้เร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน จัดอยู่ในระยะก่อนการระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาไปสู่ระยะการระบาดใหญ่

18. ประเทศไทยมีแผนการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่อย่างไร

  • ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเพื่อรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงานดังนี้
  • การเฝ้าระวังโรค เพื่อทราบสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • การเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็น
  • การเตรียมความพร้อมควบคุมการระบาดฉุกเฉินของทุกหน่วยงาน ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานด้านการรักษาความสงบภายใน หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะ
  • การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน และชุมชน
  • การบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยมีการพัฒนากลไกการจัดการปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ให้สามารถจัดการในภาวะวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำแผนเตรียมความพร้อม โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และจะต้องทำการซ้อมแผน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีความพร้อมในการรับมือการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย