สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้
ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก
และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรียบเรียงโดย ร.ต.อ.นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
การตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ถือว่าปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่
และการควบคุมป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Pandemic)
เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบมาเป็นระยะเวลานาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ประกอบกับมีการระบาดของโรค ไข้หวัดนก (Avian influenza)
เมื่อต้นปี 2547 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเตรียมการเพื่อ
รองรับการกลับมาระบาดของโรคไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic
influenza) ดังนี้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ได้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการในพื้นที่
ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โดยมีการประสานผลการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรค
ไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการกับหน่วยงานควบคุมป้องกันโรคทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ได้แก่ สำนักระบาดวิทยา สำนักโรคติดต่อทั่วไป สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12
กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
วิธีการตรวจวิเคราะห์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ
และฝ่ายปฏิบัติการเชื้ออันตรายสูงและภูมิคุ้มกันวิทยา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
ได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
รวมถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับสถานการณ์การระบาดของโรค
และได้มีการพัฒนาและดำเนินการในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ
เพื่อลดระยะเวลาในการส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยมายังส่วนกลาง โดยดำเนินการ
ดังนี้
1.เมื่อได้ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากน้ำคัดหลั่งจากบริเวณโพรงจมูก
ทางเดินหายใจส่วนบนหรือ
ทางเดินหายใจส่วนล่างของผู้ป่วย
จะตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain
Reaction) ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจระดับโมเลกุลด้วยวิธีอณูชีววิทยา
โดยใช้วิธีการตรวจที่แตกต่างกันมากกว่า 1 วิธี สามารถให้ค่าความถูกต้อง
ค่าพยากรณ์บวกและลบที่สูงมากตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น
จะสามารถรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นับตั้งแต่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่าง
สิ่งส่งตรวจและจะมีการรายงานผลทันทีหากสิ่งส่งตรวจดังกล่าวไม่พบสารพันธุกรรมต้องสงสัยของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
2.หากสิ่งส่งตรวจดังกล่าวมีความน่าจะเป็นที่จะพบสารพันธุกรรมต้องสงสัยของเชื้อไวรัส
ไข้หวัดนก จะทำการตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา เช่น วิธี
Sequencing, วิธี Real-Time RT-PCR, วิธี Conventional RT-PCR
โดยใช้เทคนิคผสมผสานกัน เพื่อให้ผลการตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้องและเที่ยงตรง
รวมถึงตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ Viral isolation และ
Immunofluorerscence assay หลังจากทราบผลจะมีการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ทันที
3.สำหรับตัวอย่างที่ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
จะทำการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและส่งตรวจยืนยันไปยังห้องปฏิบัติการอ้างอิงในเครือข่ายของ
องค์การอนามัยโลกอย่างสม่ำเสมอตลอดมา
ระบบการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาระบบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ทั้งในกรณีเร่งด่วนและในกรณีปกติ
ซึ่งจะรายงานผลการตรวจทันทีเมื่อทราบผลการตรวจวิเคราะห์ โดยจะรายงานผลกลับไปยัง
-แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย
-สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
-หน่วยงานควบคุมโรคในระดับพื้นที่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงาน
ป้องกัน ควบคุมโรคเขต
โดยมีระบบการรายงาน ดังนี้
- รายงานผลการตรวจผ่านระบบโทรสาร ไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- รายงานผลผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยท่านสามารถเข้าตรวจสอบผลการตรวจ
วิเคราะห์ที่เว็ปไชต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (www.dmsc.moph.go.th)
หรือที่ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (www.cctls.org)
- รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ตามระบบปกติของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยหน่วยงานที่ ทำการตรวจวิเคราะห์ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่ง ไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดตั้งสายด่วนการตรวจวิเคราะห์โรคไข้หวัดนก (Call
center) สำหรับสอบถามข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0 2951 0000-11 หรือโทร. 01-9891978 ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาและดำเนินการเว็ปไซต์
"ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" (www.dmsc.moph.go.th หรือ www.cctls.org)
ซึ่งสามารถตรวจสอบผลการตรวจวิเคราะห์ได้ตลอดเวลา
มีการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายเว็ปไชต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดนกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
มีข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การประสานงาน
การเก็บตัวอย่างสิ่งตรวจผู้ป่วย องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่
มีระบบการสืบค้นข้อมูลและองค์ความรู้จากระบบฐานข้อมูลทั่วโลกและมีรายงานการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกผ่านระบบ
GIS (Geographic Information System)
แนวทางการส่งตรวจตัวอย่าง
วิธีเก็บและส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่
ตัวอย่างเพื่อการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain
Reaction) และการแยกเชื้อไวรัส (Viral isolation & IFA)
ควรเก็บตัวอย่างให้เร็วที่สุด เมื่อพบผู้ป่วยในระยะแรกที่เริ่มปรากฏอาการของโรค
(อย่างช้าภายใน 3-5 วัน) การเก็บใช้วิธีไร้เชื้อ (aseptic technique)
ตัวอย่างแยกเชื้อ ได้แก่ Nasopharyngeal aspiration, Nasopharyngeal swab (รูปที่
1) และ Nasal swab (รูปที่ 2), Throat swab (รูปที่ 3-5)
Nasopharyngeal aspirate
เก็บโดยใช้สายพลาสติกที่ต่อกับเครื่องดูดสอดใส่เข้าในช่องจมูก
ดูดสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจประมาณ 2-3 มล. ใส่ในหลอดที่ปราศจากเชื้อ
กรณีดูดเสมหะได้น้อย ใช้ Viral Transport Media ล้างเซลล์ที่ค้างสายลงในหลอด
การเก็บจาก Nasopharyngeal aspirate ให้ค่า Yield ในการตรวจชันสูตรสูงที่สุด
หมายเหตุ อาจเก็บโดยวิธี Suction จาก Endotracheal tube
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
Nasopharyngeal swab
เป็นวิธีการเก็บตัวอย่างที่ให้ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ได้ค่า Yield
ค่อนข้างสูงและเป็นวิธีที่สะดวกมากที่สุดในปัจจุบัน
วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยวิธี Nasopharyngeal swab
- ผู้เก็บตัวอย่างต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อและการแพร่เชื้อสู่ชุมชน
- อธิบายให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล ว่าวิธีการเก็บตัวอย่าง ไม่มีอันตราย อาจมีอาการระคายเคือง ขณะเก็บตัวอย่างได้บ้าง
- ต้องเตรียมผู้ป่วย โดยการให้ผู้ป่วยแหงนหน้าขึ้นประมาณ 45 องศา และค้างไว้
- วัดลวดสวอบ (Nasopharyngeal swab) จากปลายจมูกถึงติ่งหูของผู้ป่วย แล้วหักครึ่งให้ลวดสวอบ ทำมุม 90 องศา
- ให้ผู้ป่วยหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกยาว ๆ หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจ ในขณะที่หายใจออก
- ผู้เก็บตัวอย่างควรเข้าเก็บตัวอย่างจากด้านหลังของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อมาสู่ผู้เก็บตัวอย่าง
- สอดลวดสวอบ (Nasopharyngeal swab) เข้าจนสุดของครึ่งที่ได้หักไว้ (ถ้าสอดเข้าไม่ได้จนสุด แสดงว่าปลายสวอบเข้าไม่ถึงตำแหน่งบริเวณ Nasopharynx) ให้พยายามขยับทิศทางของลวดเล็กน้อยจนสอดเข้าได้จนสุดลวด การสอดลวดสวอบควรสอดในทิศทางตั้งฉากกับใบหน้าของผู้ป่วย จะทำให้สามารถสอดลวดสวอบเข้าจนสุดได้ ดังรูปที่ 1 (คล้ายเทคนิคการใส่NG Tube)
- หมุนลวดสวอบโดยรอบประมาณ 3 วินาที แล้วดึงลวดสวอบออก
- จุ่มปลายสวอบลงใน Viral Transport Media และตัดปลายลวดส่วนเกิดจากหลอดเก็บตัวอย่าง
- ปิดฝาและนำส่ง ตัวอย่างส่งตรวจเหล่านี้ต้องปิดจุกให้สนิท พันด้วยเทป ปิดฉลาก แจ้งชื่อผู้ป่วย ชนิดของตัวอย่าง วันที่เก็บ บรรจุใส่ถุงพลาสติก รัดยางให้แน่น แช่ในกระติกน้ำแข็ง (ดังรูปที่ 7) รีบนำส่งทันที ถ้าจำเป็นต้องรอควรเก็บไว้ในตู้เย็น (4 °ซ) ห้ามแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ถ้าต้องการเก็บนานเกิน 72 ชั่วโมง ให้เก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส
หมายเหตุ Viral Transport Media ขอได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
และศูนย์วิทยาศาสตร์-การแพทย์ทุกแห่ง
ตัวอย่างเพื่อตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่ม
ควรเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง
เจาะเลือดในระยะเริ่มเป็นโรค (acute serum) และระยะโรคทุเลา (convalescent serum)
ห่างประมาณ 14 วัน ทำการตรวจซีรั่มด้วยเทคนิค Micro-neutralizing test
หมายเหตุ
ผลการตรวจซีรั่มจะใช้เพื่อการวินิจฉัยในรายที่มีปัญหาจากการตรวจวิเคราะห์สารคัดหลั่งระบบทางเดินหายใจ
และเป็นข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้น
ผลการตรวจซีรั่มจะไม่มีการรายงานด้วยระบบการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ทั้งในระบบปกติและระบบเร่งด่วน
ยกเว้นในรายที่คณะกรรมการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกใช้ผลการตรวจซีรั่มประกอบการวินิจฉัย
วิธีเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่ม
เจาะจากเส้นเลือดดำประมาณ 3-5 มล. ปั่นแยกซีรั่มใส่หลอดไร้เชื้อ
ปิดจุกให้สนิท ปิดฉลาก เก็บใส่ ตู้เย็น (4°ซ) รอจนได้ซีรั่มครั้งที่ 2
บรรจุรวมใส่ถุงพลาสติก รัดยาง แช่ในกระติกน้ำแข็ง ส่งตัวอย่างพร้อมกัน
พร้อมติดเครื่องหมาย Biohazard (รูปที่ 6-8)
แนวทางสำหรับห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติงานกับสิ่งส่งตรวจ
จากผู้ป่วยติดเชื้ออันตรายร้ายแรง
ระเบียบการปฏิบัติทั่วไปในการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ
- ต้องมีป้ายแสดงที่บริเวณทางเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ
- ต้องแสดงป้ายชื่อห้องปฏิบัติการ
- ต้องติดป้ายเครื่องหมายชีวภัยสากล (universal biohazard symbol) หน้าห้องปฏิบัติการ ตู้แช่แข็ง และตู้เก็บของ ที่ใช้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเชื้อโรค
- ประตูห้องปฏิบัติการต้องปิดอยู่เสมอ และอนุญาตให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะบุคลากรที่มีหน้าที่เท่านั้น
- การขนย้ายสารพิษ เชื้อจุลชีพ ภาชนะที่แตกหักได้ จากบริเวณปฏิบัติงานไปยังที่อื่น ๆ ต้องทำความสะอาดด้วยความระมัดระวัง โดยบรรจุในภาชนะที่แข็งแรงและปิดมิดชิด อาจใช้รถเข็นสำหรับขนย้ายกรณีจำเป็น
- การทำความสะอาดบริเวณห้องปฏิบัติการ ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของลักษณะงานที่ปฏิบัติ
- ต้องมีการทดสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อความปลอดภัย เช่น เครื่องตรวจสอบควัน ฝักบัวฉุกเฉิน (shower) HEPA filter ตู้ดูดควัน (Hood) ฯลฯ ให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภายในหน่วยงาน การไหลเวียนของอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบกำจัดของเสีย โครงสร้างตึก เป็นต้น ให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ต้องมีแผนกำจัดสัตว์รบกวน เช่น มด ปลวก หนู ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- ต้องมีการตรวจและบันทึกสุขภาพบุคลากร ปีละ 1 ครั้ง
- ต้องมีแผนการฉีดวัคซีนที่จำเป็น ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติการเสี่ยงต่อการติดเชื้อเฉพาะ
- ทุกห้องปฏิบัติการต้องจัดให้มีชุดปฐมพยาบาล และดูแลให้พร้อมที่จะใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา
- ต้องมีการบันทึกเก็บรักษาข้อมูลที่จำเป็น สำหรับใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ
- ต้องให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบปฏิบัติเพื่อความถูกต้องและปลอดภัย
ระเบียบปฏิบัติในห้องปฏิบัติการด้านจุลชีพ อันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับจุลชีพ สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ทาง คือ
- การฟุ้งกระจาย (Aerosol) ซึ่งเกิดจากการบด (homogenization) การปั่นแยก (centrifugation) การสั่นสะเทือนความถี่สูง (ultrasonic vibration) การแตกของเครื่องแก้ว (broken glassware) การดูดสารละลาย (pipetting)
- การกิน ( lngestion) ซึ่งเกิดจากการดูดเชื้อจุลชีพโดยใช้ปาก (mouth pipetting) การกินอาหารหรือสูบบุหรี่ในห้องปฏิบัติการ การล้างมือที่ไม่สะอาดหลังการปฏิบัติงาน
- การซึมเข้าทางผิงหนัง (Skin penetrating) ซึ่งเกิดจากการถูกเข็มแทง บาดแผลจากเศษแก้ว จุลชีพรั่วไหลปนเปื้อนมืออันเกิดจากภาชนะที่รั่วไหล การหยิบอวัยวะปนเปื้อน การกระเด็น เข้าตา และการถูกสัตว์ทดลองกัด
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน เกี่ยวกับจุลชีพ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อจุลชีพทางการปฏิบัติงาน และลดหรือป้องกันไม่ให้เชื้อจุลชีพกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งการป้องกันดังกล่าวมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
- เครื่องมือที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน
- ระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาที่เหมาะสมกับงาน
- ระเบียบปฏิบัติของบุคลากร
เครื่องมือที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน
เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงานด้านจุลชีพที่สำคัญ คือ ตู้ปลอดเชื้อ
(Safety cabinet) เพราะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้ออันตรายฟุ้งกระจายในห้องปฏิบัติการ
ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายจากการหายใจ เอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
ตู้ปลอดเชื้อ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
- Class 1 Cabinet ใช้กับจุลชีพชนิดไม่มีอันตรายมาก เป็นตู้ประเภทเปิดด้านหน้า
ป้องกัน ผู้ปฏิบัติงานมิให้ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค
โดยให้อากาศจากภายในห้องปฏิบัติงานเข้าตู้ และออกสู่ภายนอกทางปล่องทางออก โดยมี air
filter กรองอากาศก่อน ออกสู้ภายนอก ความเร็วของอากาศอยู่ระหว่าง 0.4-1.0
เมตรต่อวินาที
- Class 2 Cabinet เป็นตู้ชนิดเปิดด้านหน้าได้บางส่วน
ตู้ชนิดนี้จะป้องกันทั้งผู้ปฏิบัติงานและ
สิ่งของที่กำลังทดลองและสิ่งแวดล้อมภายนอกมิให้ปนเปื้อน โดยดูดอากาศเข้าสู่ตู้ผ่าน
air filter และดูดออกอีกด้านหนึ่งโดยผ่าน filter อีกชุดหนึ่งก่อนปล่อยสู่ภายนอก
อากาศที่เข้าออกจะต้องปรับให้สมดุล โดยให้มีค่าความเร็วของอากาศไม่น้อยกว่า 0.4
เมตรต่อวินาที ตู้ชนิดนี้ใช้กับจุลชีพชนิดอันตรายต่ำและปานกลาง
ตู้ปลอดเชื้อแบบนี้จำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ class II-A และ class II-B
- Class 3 Cabinet เป็นตู้ชนิดที่ปิดฝาสนิท ที่มี glove sleeve สำหรับสอดแขนเข้าปฏิบัติงานอากาศจะถูกดูดเข้าสู่ตู้ผ่าน air filter และดูดอากาศออกผ่าน air filter อีก 2 ตัวต่อเนื่องกัน ตู้ชนิดนี้จะปนเปื้อนระหว่างผู้ปฏิบัติกับสารที่ตรวจ และสิ่งแวดล้อมภายนอก เหมาะสำหรับใช้กับเชื้อ จุลชีพทุกกลุ่ม ภายในตู้จะเป็น negative pressure ความเร็วของอากาศผ่านเข้าตู้ไม่ต่ำกว่า 0.75 เมตรต่อวินาที
ระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาที่เหมาะสมกับงาน
ห้องปฏิบัติการที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงานด้านจุลชีพด้วย
ดังนั้น การจัดห้องปฏิบัติการให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีและ เหมาะสม
จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการป้องกันอันตรายได้อีกทางหนึ่ง
เพราะจะสามารถลดหรือกำจัดไอหรือก๊าซจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากห้องปฏิบัติการได้
นอกจากนี้
ระดับของห้องปฏิบัติการที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานทางด้านจุลชีพยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจัดให้มีขึ้น
ซึ่งสามารถแบ่งระดับของห้องปฏิบัติการออกได้เป็น 4 ระดับ คือ
- Biosafety Level 1 เหมาะสำหรับการปฏิบัติงานจุลชีพทั่ว ๆ ไป
ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สำหรับการฝึกอบรม หรือการสอน
- Biosafety Level 2
เหมาะสำหรับการปฏิบัติงานจุลชีพที่มีความเสี่ยงปานกลางในการก่อให้เกิดโรคในชุมขน
ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความปลอดภัยใช้ open bench หรือมีการ ฟุ้งกระจายต่ำ
งานที่ดำเนินในห้องปฏิบัติการระดับนี้ ได้แก่ การปฏิบัติงานทางคลินิก
การตรวจวินิจฉัยหรือการสอน
- Biosafety Level 3
เหมาะสำหรับการปฏิบัติงานจุลชีพที่อาจเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตเมื่อติดเชื้อ
มีความเป็นไปได้ในการติดต่อโดยทางหายใจ
ซึ่งการปฏิบัติงานเกี่ยวกับจุลชีพควรใช้ตู้ปลอดเชื้อ Class 2 Cabinet
และภายในห้องต้องมีการติดตั้งระบบการถ่ายเทอากาศชนิดพิเศษ
งานที่ดำเนินการในห้องปฏิบัติการระดับนี้ ได้แก่ การปฏิบัติงานทางคลินิก
การตรวจวินิจฉัย และงานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีพที่ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในคน
- Biosafety Level 4 เหมาะสำหรับการปฏิบัติงานจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดโรคที่อันตรายหรือโรคติดต่อที่ไม่มีในบ้านเรา ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดต่อในคนและชุมชน หรือโรคที่ไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้รักษา ซึ่งการปฏิบัติงานเกี่ยวกับจุลชีพควรใช้ตู้ปลอดเชื้อ Class 3 Cabinet และควรจะเป็นตึกที่แยกออกจากห้องปฏิบัติการอื่น ๆ และภายในห้องต้องมีการติดตั้งระบบการถ่ายเทอากาศชนิดพิเศษ และระบบการกำจัดของเสีย
ระเบียบปฏิบัติของบุคลากร
ระเบียบปฏิบัติของบุคลากร มีดังนี้
- ในขณะทำงานต้องปิดประตูห้องปฏิบัติการ
- ห้ามเก็บอาหารหรือเครื่องดื่มในตู้เก็บเชื้อหรือสารเคมี
- งดเว้นการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่ม หรือรับประทานอาหารในห้องปฏิบัติการ
- งดเว้นการแต่งหน้า และการใส่ contact lens ในบริเวณที่ปฏิบัติงาน
- ห้ามใช้ปากดูดไปเปต ควรใช้เครื่อง automatic pipette หรือลูกยาง
- ระมัดระวังการหกกระจาย หรือการฟุ้งกระจายของวัตถุตัวอย่าง
- ต้องใส่เสื้อคลุมตลอดเวลาในการปฏิบัติงาน และต้องถอดเสื้อคลุมทุกครั้งที่ออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน
- ต้องใส่ถุงมือทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับตัวอย่าง และถอดถุงมือทุกครั้งที่ออกจากห้อง ปฏิบัติงาน และต้องระวังการปนเปื้อนเวลาถอด
- ขณะใส่ถุงมือ ห้ามจับต้องสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ และหนังสือ เป็นต้น
- ต้องใส่ผ้าปิดปากทุกครั้งที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับตัวอย่าง หรือเชื้อจุลชีพที่มีอันตรายสูง
- ต้องทำความสะอาดโต๊ะปฏิบัติการหลังจากการปฏิบัติงานเสร็จทุกครั้ง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มี ประสิทธิภาพ (disinfectant containing detergent)
- ล้างมือทุกครั้งหลังการจับต้องตัวอย่างหรือปฏิบัติการเกี่ยวกับตัวอย่าง
- วิธีการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องไม่ทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะจากการใช้เครื่อง sonication หรือ vortex ควรทำในตู้ biological safety cabinet
- ของเสียทางจุลชีววิทยาทุกชนิดต้องได้รับการฆ่าเชื้อด้วย autoclave ก่อนนำไปทิ้ง
- เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเชื้อหรือปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ควรฆ่าเชื้อหลังการใช้งาน ถ้าไม่สามารถฆ่าเชื้อด้วยตู้อบฆ่าเชื้อ (autoclave) ให้แช่เครื่องแก้วในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น 0.5% sodium hypochlorite เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- สิ่งของต่างๆ ที่นำออกจากห้องทดลองไปยังตู้อบฆ่าเชื้อ (autoclave) จะต้องปิดฝาให้สนิท และใส่ภาชนะที่แตกไม่ได้อีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่อบฆ่าเชื้อจะต้องเปิดให้ไอน้ำเข้าได้ทุกส่วน
การกำจัดขยะติดเชื้อ
- ก่อนที่จะนำขยะติดเชื้อไปทิ้ง ต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึม และแยกจากขยะทั่วไป และขยะอันตรายอื่นๆ ต้องปิดภาชนะให้สนิทขณะทำการขนย้าย
- ต้องฆ่าเชื้อขยะทุกชนิดที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อจุลชีพ และให้ใส่ถุงดำสำหรับขยะติดเชื้อที่มีเครื่องหมาย เฉพาะ และนำไปเผาในเตาของหน่วยงาน
- การฆ่าเชื้ออาจทำในบริเวณห้องปฏิบัติการ หากเคลื่อนย้ายไปฆ่าเชื้อที่บริเวณอื่นต้องใส่ในภาชนะ ที่ปิดมิดชิด
- การฆ่าเชื้อขยะด้วยวิธีอบไอน้ำ ต้องทำที่ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- การฆ่าเชื้อขยะด้วยเตาอบ ต้องใช้ความร้อนที่ 160-170 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง
ข้อปฏิบัติกรณีเกิดอุบัติเหตุ
- เมื่อภาชนะบรรจุเชื้อแตกหรือเชื้อหก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อจนชุ่มวางทับบนบริเวณที่เชื้อหก ปิดทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที แล้วจึงนำเศษภาชนะและผ้าออก เช็ดซ้ำอีกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ นำสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อทั้งหมดไปฆ่าเชื้อ
- เมื่อถูกเข็มแทง แก้วบาด หรือถูกขีดข่วนขณะปฏิบัติงานกับเชื้อโรค ให้ถอดเสื้อคลุมออกล้างมือและบริเวณบาดแผล ทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผล ให้เหมาะสมและตรงไปยังห้องปฐมพยาบาลทันที แจ้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบถึงสาเหตุและชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดบาดแผล หากพบว่าจำเป็นให้ปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ บันทึกการเกิดอุบัติเหตุ
- เมื่อเกิดอุบัติเหตุเชื้อเข้าปาก ให้ถอดเสื้อคลุมออก และตรงไปยังห้องปฐมพยาบาลทันที แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับเชื้อที่กินเข้าไป และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ บันทึกและเก็บรักษาข้อมูลที่จำเป็น
- เมื่อเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อที่อาจเป็นอันตรายในอากาศ บุคลากรทุกคนต้องออกจากบริเวณนั้นทันที พร้อมทั้งแจ้งหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ติดป้ายห้ามทุกคนเข้าไปในห้องปฏิบัติการนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลังจาก 1 ชั่วโมง ให้เข้าไปทำการฆ่าเชื้อ และผู้ที่สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อให้ไปพบแพทย์ทันที
- เมื่อเกิดเชื้อรั่วไหล
หรือภาชนะบรรจุเชื้อแตกหักในเครื่องปั่นขณะที่เครื่องปั่นกำลังทำงานอยู่
ต้องปฏิบัติดังนี้
เมื่อสงสัยว่าภาชนะแตกหักขณะที่เครื่องกำลังทำงาน ให้หยุดเครื่องทันที และปิดฝาเครื่องต่ออีกอย่างน้อย 30 นาที
หากพบว่ามีภาชนะแตกหักหลังจากเครื่องหยุดแล้ว ให้ปิดฝาเครื่องต่ออีกอย่างน้อย 30 นาที
รายงานหัวหน้าห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เก็บเศษภาชนะออกจากเครื่องโดยใช้คีมคีบ และใช้คีมคีบสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ด ภายใน chamber ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมถุงมือขณะปฏิบัติงานดังกล่าว เช็ด chamber ซ้ำอีกครั้งหลังปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน
ฆ่าเชื้อเศษภาชนะ buckets และ rotor โดยใช้ autoclave หรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อที่มี ประสิทธิภาพทำลายเชื้อที่ปนเปื้อนได้ดีอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
สถานที่ส่งตัวอย่างของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
1. ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 88/7
ซอยโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือที่ Call
center โทร. 0 2951 0000-11 หรือ ที่โทร. 01-989-1978 ตลอด 24 ชั่วโมง
2. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ทั้ง 13 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงราย ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 148 หมู่ 3 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย 57100 โทรศัพท์ : (053) 793149-50 โทรสาร : (053) 793148
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 191 หมู่ 5 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180 โทรศัพท์ : (053) 211065-6 โทรสาร : (053) 219223
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ นครสวรรค์ ตั้งอยู่ ณ. บริเวณโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ 2 หมู่ 4 ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ 60130 โทรศัพท์ : (056) 267185 โทรสาร : (056) 267329
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พิษณุโลก ตั้งอยู่ ณ. ศูนย์ราชการ ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 โทรศัพท์ : (055) 247227 โทรสาร : (055) 258859
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 59/2 หมู่ 3 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 โทรศัพท์ : (038) 287111 โทรสาร : (038) 455165
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สมุทรสงคราม ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 136 หมู่ 4 ถนนเอกชัย ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000 โทรศัพท์ : (034) 720668 โทรสาร : (034) 720540
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 400/2 ถนนหน้าศูนย์ราชการ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 โทรศัพท์ : (043) 242871-3 โทรสาร : (043) 242845
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ นครราชสีมา ตั้งอยู่ ณ. ถนนราชสีมา-โชคชัย หลักกิโลเมตรที่ 7 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000 โทรศัพท์ : (044) 258713-4 โทรสาร : (044) 295869
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 54 หมู่ 1 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี 41330 โทรศัพท์ : (042) 207364-6 โทรสาร : (042) 207367
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี ตั้งอยู่ ณ. หมู่ 11 ถนนคลังอาวุธ ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ : (045) 312231-4 โทรสาร : (045) 312231
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรัง ตั้งอยู่ ณ. หมู่ 4 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง 92000 โทรศัพท์ : (075) 213104 โทรสาร : (075) 215675
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สงขลา ตั้งอยู่ ณ. เลขที่ 616/1 หมู่ 2 เชิงสะพานติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ : (074) 33203-4 โทรสาร : (074) 333809
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ ณ. นิคมซอย 2 บ้านวังหวาย ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 84100 โทรศัพท์ : (077) 355303 โทรสาร : (077) 355300