สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

       โรคไข้หวัดนกนับเป็นโรคติดต่อในกลุ่มโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่มีความสำคัญที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความหายนะแก่มนุษยชาติได้ หากมิได้มีการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างจริงจัง เชื้อที่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคในปัจจุบันคือเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza Type A) สายพันธุ์ H5N1 โดยเริ่มมีการระบาดในสัตว์ปีกในประเทศฮ่องกง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และได้แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชียอีกหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น

ข้อมูลล่าสุดมีการรายงานการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกไปยังไซบีเรีย และอาจระบาดจากไซบีเรียไปยังหลายพื้นที่ในสหภาพยุโรปได้ นอกจากเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคในสัตว์ปีกแล้วยังทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่น ๆ ได้อีก เช่น คน หมู แมวน้ำ เสือ เป็นต้น การติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในคนนั้น ได้มีรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ช่วงเวลาตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2546 จนถึง 27 กรกฎาคม 2548 มีผู้ป่วยยืนยันเป็นโรคไข้หวัดนก (H5N1) รวมทั้งสิ้น 109 ราย เสียชีวิต 55 ราย เกิดขึ้นใน 4 ประเทศ คือ ประเทศเวียดนาม ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย

ในประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนกดังกล่าวเป็นต้นมา ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จากการทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกมากกว่า 60 ล้านตัว และค่าสูญเสียจากการไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งซึ่งคิดเป็นมูลค่า 60 – 80 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมจำนวนเงินที่ต้องเสียเพื่อชดเชยให้เกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งด้วย

         ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และองค์กรด้านสุขภาพสัตว์นานาชาติมีความเห็นสอดคล้องกันว่าโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นโดยจะมีการระบาดออกไปอีกหลายระลอก หากไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และหากเชื้อไข้หวัดนกเกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ โดยเฉพาะการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนหรือมีการกลายพันธุ์จนสามารถติดต่อได้ง่ายก็จะมีโอกาสเกิดการระบาดจากคนสู่คน ซึ่งจะนำไปสู่การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (Influenza Pandemic) ดังที่เคยมีประวัติการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง เป็นระยะทุกรอบ 10 – 30 ปี ซึ่งทำให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก และสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ดังเช่นการระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2461 – 2462 มีผู้เสียชีวิตถึง 20 – 40 ล้านคน โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่แต่ละครั้งเชื่อว่าเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ เช่น เชื้อไข้หวัดนก ทั้งนี้หากเกิดการระบาดใหญ่ในลักษณะเดียวกับการระบาดในปี พ.ศ. 2461 แล้ว อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชาชนก็อาจสูงกว่าในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะการเดินทางโดยเครื่องบินของผู้คน ทั้งภายในประเทศระหว่างประเทศ และระหว่างทวีปได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีโอกาสแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว และจะเกิดผลกระทบรุนแรงทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยาและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงได้แจ้งเตือนประเทศสมาชิกให้เร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ โดยแนะนำให้ทุกประเทศจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

       สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก (พ.ศ.2548 – 2550) และแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (พ.ศ. 2548 – 2550) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมกราคม 2548 แล้ว

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย