สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

ส.พญ.ดาริกา กิ่งเนตร สำนักโรคติดต่อทั่วไป

จากธรรมชาติของโรคไข้หวัดนกที่มีความซับซ้อน สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายในสัตว์ปีกหลากหลายชนิด และก่อโรครุนแรงในคน ทำให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่อาจรับมือกับปัญหานี้ได้โดยลำพัง จึงจำเป็นต้องนำการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในลักษณะเชิงรุกและการบริหารจัดการแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานเข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถจัดการแก้ปัญหาได้อย่างคล่องตัว ไม่ซ้ำซ้อน และมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นในระยะที่ผ่านมายังพบว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่รวมทั้งไข้หวัดนก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด และการปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคเหล่านี้ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเหมาะสม โดยการพัฒนาระบบ กลไก ศักยภาพ และทรัพยากรด้านต่าง ๆ ไว้อย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเตรียมพร้อมไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถปรับใช้มาตรการต่าง ๆ สำหรับโรคซาร์ส มาแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกได้ทันที ซึ่งอาจสรุปได้ว่า การเตรียมพร้อมเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในภาพรวม โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นเดียวกัน

สภาพปัญหาและแนวโน้มการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ

โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำมีโอกาสระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งนอกจากการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome) หรือโรคซาร์ส (SARS) ในปี พ.ศ. 2546 และโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) ในปี พ.ศ. 2547 ที่มีผลกระทบรุนแรงแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด เช่นขณะปัจจุบัน มีความกังวลในวงกว้างว่า อาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก จนนำไปสู่การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (Influenza Pandemic) ซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีข้อมูลว่า โรคบางโรคที่ถูกกำจัดไปหมดสิ้นแล้วอย่างเช่นไข้ทรพิษ (Smallpox) ก็อาจมีผู้จงใจนำเชื้อกลับมาแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้ง สำหรับประเทศไทย กาฬโรค (Plague) ที่ถูกกำจัดไปแล้ว โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) กำลังเป็นเป้าหมายการกวาดล้างทั่วโลก และไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทยมาเป็นเวลานานถึง 8 ปีแล้ว รวมทั้งอีกหลายโรคที่ถูกควบคุมจนมีปัญหาลดน้อยลงมากแล้ว เช่น โรคเรื้อน (Leprosy) โรคเท้าช้าง (Filariasis) และมาลาเรีย (Malaria) ก็มีโอกาสกลับมาระบาดซ้ำหรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการเข้ามาพร้อมกับแรงงานต่างด้าว รวมทั้งผู้เดินทาง สินค้า และสัตว์ที่มาจากพื้นที่เกิดโรคในต่างประเทศ การระบาดดังกล่าวจะมีผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เกิดการตื่นตระหนกกว้างขวาง ส่งผลกระทบทางลบต่อบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สินค้าที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ได้แก่ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรค การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรม โครงสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชากร การเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งการละเลยมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ในช่วงหลัง ๆ ของศตวรรษที่ 20 มีโรคติดต่ออุบัติใหม่มากกว่า 30 โรค เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคซาร์สมาจากต่างประเทศ 9 ราย (เสียชีวิต 2 ราย) แต่สามารถสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคไปยังคนอื่นได้เป็นผลสำเร็จ ต่อมาในปี 2547 เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก เกิดผลกระทบรุนแรงทั้งต่อการเลี้ยงสัตว์ปีกทั้งในระบบอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตชนบทไทย และโรคได้แพร่มายังประชาชน ทำให้มีผู้ป่วยรวม 17 ราย (เสียชีวิต 12 ราย) นับเป็นความสูญเสียทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

การดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ

การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำในช่วงที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมของประเทศในระดับสูงสุด โดยการพัฒนาระบบ กลไก และศักยภาพของประเทศ ให้พอเพียงสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชาชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศน้อยที่สุด

การเตรียมความพร้อมและศักยภาพของประเทศในภาพรวม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้คือ

  1. การพัฒนาระบบและศักยภาพการป้องกันควบคุมโรคโดยภาครัฐ เพื่อให้รองรับภัยโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศและระหว่างประเทศ เน้นการจัดระบบการศึกษาวิจัย ติดตามวิเคราะห์ และจัดการความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ขึ้นในประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดเข้ามาจากต่างประเทศ และให้มีการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานและบุคลากรให้เข้มแข็ง ทั้งทางด้านระบาดวิทยา การชันสูตรโรคทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการรักษาพยาบาลและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล ให้เท่าเทียมมาตรฐานสากล
  2. การพัฒนาศักยภาพของประชาชนและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขอนามัยได้เป็นอย่างดี มีความรู้และเข้าใจปัญหาโรคระบาด จนนำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ช่วยป้องกันโรค ตระหนักต่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งจะก่อประโยชน์สุขโดยตรงต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติโดยรวมอย่างยั่งยืน

การดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกและการเตรียมความพร้อมต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกและการเตรียมพร้อมป้องกันการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่โดยเร่งด่วน และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโรคระบาดทั้ง 2 แผน ดังนี้ คือ

  1. แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาไข้หวัดนก (พ.ศ.2548 -2550) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาการจัดการระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค 2) การเฝ้าระวังและควบคุมเมื่อเกิดการระบาดของโรค 3) การสร้างและจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก 4) การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรและบุคลากร 5) การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและธุรกิจ และ 6) การพัฒนาระบบการจัดการเชิงบูรณาการ
  2. แผนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มีสาระสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาไข้หวัดนก ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรค 2) การเตรียมเวชภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น 3) การเตรียมความพร้อมควบคุมการระบาดฉุกเฉิน 4) การประชาสัมพันธ์เสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและชุมชน และ 5) การบริหารจัดการแบบบูรณาการ

ปัจจุบันการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ตามแนวทางการเตรียมความพร้อมและแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น มีเป้าหมายมุ่งให้บังเกิดผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อความปลอดภัยและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยใช้ทั้งยุทธวิธีและยุทธศิลป์เข้ามาช่วย ซึ่งการดำเนินงานโดยสรุป มีดังต่อไปนี้ คือ

การเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรค เพื่อให้สามารถติดตามการระบาดของโรคที่มีความรุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างใกล้ชิด และตรวจจับการเกิดโรคและควบคุมการระบาดได้อย่างฉับไว โดยการพัฒนาระบบและเครือข่ายเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนานาชาติจนถึงระดับรากหญ้า และพัฒนาศักยภาพการชันสูตรยืนยันโรคทางห้องปฏิบัติการ

  1. พัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงกับเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรค รายงาน และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) นอกจากนั้นประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพด้านระบาดวิทยาของประเทศในกลุ่มอาเซียน + 3 (จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) นับตั้งแต่ได้เกิดโรคซาร์สอีกด้วย
  2. พัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคให้มีความฉับไว โดยใช้การเฝ้าระวังโรคตามกลุ่มอาการ เช่น เฝ้าระวังผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม ในกรณีของโรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังโรคที่มีความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต มีการระบาดเป็นกลุ่มจำนวนมาก (Cluster) และการเกิดโรคที่ผิดธรรมชาติ เป็นต้น
  3. พัฒนาการชันสูตรยืนยันโรคทางห้องปฏิบัติการ โดยได้ขยายเครือข่ายการชันสูตรโรคติดต่ออุบัติใหม่ไปยังส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขตครบทุกเขตแล้ว ทำให้มีศักยภาพในการตรวจทางชีวโมเลกุลได้ และมีระบบการรายงานผลที่รวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง จัดระบบการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์และการดื้อยาของเชื้อ และขณะนี้กำลังมีการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุข (Public Health laboratory) ในพื้นที่ เชื่อมโยงกับห้องปฏิบัติการอ้างอิง (Reference laboratory) ภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วย
  4. พัฒนาทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and rapid Response Team : SRRT) ให้มีทักษะความชำนาญ และเชื่อมโยงการปฏิบัติงานของทีมในทุกระดับ จนถึงระดับรากหญ้าโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้นำชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถประสานเชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในคนและในสัตว์ได้อย่างเป็นระบบ
  5. สนับสนุนการฝึกซ้อมแผนการควบคุมการระบาดฉุกเฉินในชุมชน เพื่อเพิ่มความพร้อมและทักษะการจัดการของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยปฏิบัติการด้านสาธารณสุข และหน่วยปฏิบัติการด้านความปลอดภัยและสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งระบบการบัญชาการและการประสานงานในเหตุการณ์ให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

เพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยและการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อคัดกรองและแยกรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อร้ายแรงได้รวดเร็ว และป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยคนอื่น ๆ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่น ๆ ในโรงพยาบาล

  1. จัดตั้งและฝึกอบรมทีมรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อร้ายแรง รวมทั้งพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยและการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล พัฒนาระบบการสำรองเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ ยาต้านไวรัส ชุดตรวจคัดกรองไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment : PPE) สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล, เครื่องช่วยหายใจความถี่สูง (High Frequency Respirator), รถพยาบาลและระบบการส่งต่อผู้ป่วย, ห้องแยกรักษาความดันเป็นลบ (Negative Pressure Isolation Room) ในโรงพยาบาล
  2. สนับสนุนการฝึกซ้อมแผนการจัดการในภาวะเกิดโรคระบาดฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มทักษะการจัดการทั้งในโรงพยาบาลได้อย่างฉับไวและเป็นระบบ

พัฒนาความร่วมมือกับภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ มีความเข้าใจปัญหาโรคระบาดอย่างถูกต้อง เกิดความตระหนักในการป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง พึ่งพาตนเองได้ และให้ความร่วมมือร่วมกับภาครัฐและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

  1. จัดระบบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการใช้ช่องทางทั้งแนวกว้าง โดยให้การบริการข้อมูลผ่านระบบที่ทันสมัย เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ และจัดให้มีบริการตอบคำถามประชาชนเกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกทางฮ็อตไลน์ (ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค) โทร. 0-2590-3333 และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข ที่ http://www.moph.go.th รวมทั้งการให้บริการข้อมูลแนวลึกในระดับรากหญ้า เช่น สถานีวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว โปสเตอร์ แผ่นพับ เป็นต้น
  2. ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของ อสม. ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรค แจ้งสถานการณ์การระบาดให้แก่ประชาชนทุกหลังคาเรือนได้รับทราบ และช่วยเฝ้าระวังและแจ้งการระบาดของโรคติดต่อที่เป็นอันตรายอย่างต่อเนื่อง
  3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับภาครัฐ เริ่มตั้งแต่การร่วมคิดวิเคราะห์ปัญหา จนนำไปสู่การนำองค์ความรู้ไปจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
  4. ส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการใช้หน้ากากอนามัยในผู้ป่วยไข้หวัด ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่ทำงาน รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพทั่วไป อาทิ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้

  การพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมภาคีเครือข่ายการศึกษาวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงาน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ เครือข่ายการวิจัยด้านระบาดวิทยาและการป้องกันควบคุมโรค การพัฒนาชุดตรวจและวิธีการวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยพัฒนาและจัดเตรียมสต็อกยาต้านไวรัส วัคซีน และเวชภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งสมุนไพร เพื่อให้ประเทศและภูมิภาคมีศักยภาพสามารถพึ่งพาตนเองในภาวะโรคระบาดฉุกเฉินได้การพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในทุกระดับ ภายใต้ภาวะที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด

  1. พัฒนาระบบการสั่งการ การสื่อสาร และการประสานงาน (Command, Communication and Coordination) ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี ศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการระดับต่าง ๆ โดยมีรองนายกเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการระดับชาติ รองปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการระดับกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่า ฯ CEO) เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด และนายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการระดับอำเภอ และรวมไปถึงระดับท้องถิ่นด้วย นอกจากนั้นยังมีระบบการบัญชาการที่ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถระดมสรรพกำลังและบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาระบบและเครือข่ายการควบคุมการระบาดฉุกเฉิน รวมทั้งการซ้อมแผนเป็นระยะและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถในการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินให้สูงขึ้น
  2. พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดยการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบหลักเรื่องโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบหลักเรื่องโรคไข้หวัดนกฝ่ายสาธารณสุขประจำจังหวัด (มิสเตอร์ไข้หวัดนก) เพื่อเป็นแกนในการประสานเครือข่าย ติดตามสถานการณ์ ข้อเท็จจริง ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงาน เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันควบคุมไข้หวัดนกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจังหวัดสามารถพัฒนาการเตรียมพร้อมรับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

  • ยุทธศาสตร์ (Strategy) หมายถึง ศาสตร์และศิลป์ในการกำหนดวิธีการในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จและลดโอกาสของความล้มเหลว
  • ยุทธวิธี (Tactic) หมายถึง เครื่องมือหรือทรัพยากร (Means) วิธีการหรือหนทางปฏิบัติ (Ways) และเป้าหมายหรือผลลัพท์ที่ต้องการ (Ends)

ยุทธศิลป์ (Operational Art) หมายถึง ศิลปะในการดำเนินยุทธวิธีให้สำเร็จ เช่น การเตรียมกำลังให้พอเหมาะ มีขีดความสามารถทางด้านข่าวกรอง (การแจ้งเตือนภัย) มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วทันเวลาที่ต้องการ และมีวัสดุอุปกรณ์ในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพสูงพอเพียงและพร้อมที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้ทันที เป็นต้น

ผลประโยชน์แห่งชาติ หมายถึง แนวความคิดที่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบที่สุดแล้วจากบรรดาองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งประมวลขึ้นเป็นความต้องการที่สำคัญที่สุดที่ชาติจะขาดเสียมิได้ทั้งนี้รวมทั้งการคุ้มครองตนเอง ความเป็นเอกราชบูรณภาพแห่งชาติ ความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ เสถียรภาพทางการเศรษฐกิจ รวมทั้งบรรดาความมั่งคั่งทั้งหลายที่จะพึงมีต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

ผลประโยชน์แห่งชาติโดยทั่วไปมักจะกำหนดขึ้นโดยชาติทุกชาติ จะต้องถือว่าความเกษมสุขสมบูรณ์กับความมั่นคงปลอดภัยนั้น เป็นผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่งของชาติ แต่สำหรับชาติเล็กจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชาติเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งด้วย อย่างไรก็ดีความมุ่งหมายในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติย่อมขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนภายในชาติเป็นสำคัญ และมักจะแฝงอยู่ในเอกสารสำคัญ ๆ ของชาติในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น นโยบายแห่งรัฐ รัฐธรรมนูญ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย