สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก

คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกได้เริ่มระบาดในประเทศไทยครั้งแรกในปลายปี พ.ศ. 2546 และมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นมีการระบาดอีกหลายระลอกไปอีกหลายปีหากไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และหากเชื้อไข้หวัดนกเกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์โดยเฉพาะการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนหรือมีการกลายพันธุ์ จนสามารถติดต่อได้ง่าย จะมีโอกาสเกิดการระบาดจากคนสู่คน ซึ่งนำไปสู่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้

การแก้ปัญหาไข้หวัดนกจำเป็นต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการและเป็นระบบ เพราะปัญหามีความสลับซับซ้อนเกี่ยวพันกับปัจจัยหลายด้าน การดำเนินงานอย่างแยกส่วนไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการการดำเนินการอย่างเป็นระบบขึ้น

แผนยุทธศาสตร์นี้ มุ่งเน้นประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีลำดับความสำคัญสูงเป็นหลัก

เป้าหมายการควบคุมการแพร่ระบาดในสัตว์

  • ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเศรษฐกิจภายใน 2 ปี
  • ลดการแพร่ระบาดจนไม่เป็นปัญหาของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกพื้นเมือง ไก่ชน สัตว์ปีกสวยงาม และสัตว์ปีกต่างถิ่นภายใน 3 ปี
  • ไม่มีการแพร่ระบาดในสัตว์อื่นๆ ภายใน 3 ปี

เป้าหมายการควบคุมการแพร่ระบาดในคน

  • ไม่มีการติดต่อจากสัตว์สู่คนภายใน 2 ปี
  • ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่อย่างมี ประสิทธิภาพภายใน 1 ปี

แผนยุทธศาสตร์ มีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการจัดการระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์ปลอดโรค และผู้บริโภคมีความปลอดภัย โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. ปรับปรุงรูปแบบและระบบการเลี้ยง ในสัตว์ปีกพื้นเมือง สัตว์ปีกสวยงาม ไก่ชน และเป็ดไล่ทุ่ง ให้ถูกหลักสุขาภิบาล มีการจัดทำสมุดประจำตัวไก่ชนโดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนย้าย
  2. พัฒนาระบบ zoning และ compartment เพื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก
  3. พัฒนาทีมเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคในสัตว์ปีก ที่มีประสิทธิภาพ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
  4. เฝ้าระวังและควบคุมไข้หวัดนกในสัตว์ปีกธรรมชาติ
  5. ศึกษาสถานการณ์และตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ปีก

  ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเฝ้าระวังและควบคุมเมื่อเกิดการระบาดของโรค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถตรวจจับการเกิดโรคไข้หวัดนก ได้อย่างฉับไว และติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัญหาได้อย่างใกล้ชิด โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. เฝ้าระวังและควบคุมโรคในสัตว์ โดยให้มีการเฝ้าระวังเชิงรุก และรายงานการเกิดโรคภายใน 12 ชั่วโมง ทำลายสัตว์ป่วยและซากสัตว์และทำลายเชื้อในฟาร์ม ควบคุมการขนย้าย และพิจารณาการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสม
  2. เฝ้าระวังและควบคุมโรคในคน โดยเตรียมการเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เตรียมยาต้านไวรัส และวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  3. เตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่
  4. จัดตั้งกลไกเฉพาะกิจในลักษณะบูรณาการทุกระดับ เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการเมื่อเกิดการระบาด เพื่อควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุด

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างและจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. สร้างองค์ความรู้พื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการกำหนดมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและในสัตว์
  2. พัฒนาวัคซีนให้พร้อมใช้เมื่อเกิดการระบาดทั้งในสัตว์และในคน
  3. พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคให้สามารถคัดกรองปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
  4. พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับยาเพื่อรักษาไข้หวัดนก
  5. จัดให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่จัดการองค์ความรู้โดยมีบุคลากรทำงานเต็มเวลา

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างเสริมศักยภาพขององค์กรและบุคลากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรและบุคลากรที่ทำงานด้านระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคทุกระดับ โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. พัฒนาศักยภาพในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในคน โดยการให้มีหน่วยระบาดวิทยาเฝ้าระวังทุกอำเภอ รวมทั้งการผลิตและพัฒนานักระบาดวิทยาระดับสูงและนักวิชาการสาขาอื่นๆ
  2. พัฒนาศักยภาพการชันสูตรโรคในคน จัดระบบ และสร้างเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและในโรงพยาบาลในการชันสูตรโรคไข้หวัดนกในคน
  3. ควบคุมโรคไข้หวัดนกในโรงพยาบาล โดยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ และให้มีห้องแยกผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรง
  4. พัฒนาศักยภาพการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในสัตว์ โดยผลิตและพัฒนาและสร้างแรงจูงใจให้แก่สัตวแพทย์นักระบาดวิทยาระดับสูง และส่งเสริมบทบาทนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
  5. พัฒนาประสิทธิภาพห้องปฏิบัติการการชัณสูตรโรคไข้หวัดนกในสัตว์ที่มีความปลอดภัยระดับสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ คือส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. ส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งตนเอง เพื่อการประสานงานระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้อง
  2. พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัคร เพื่อเป็นระบบเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคของชุมชน
  3. พัฒนาระบบสื่อสารสาธารณะทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบและกลไกการจัดการเชิงบูรณาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบและกลไกการจัดการปัญหาไข้หวัดนกอย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพ โดยมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  1. พัฒนากลไกการจัดการปัญหาไข้หวัดนกในภาวะปกติ โดยดำเนินโครงการจัดตั้งกลไกบริหารจัดการองค์ความรู้ โดยมีทีมงานทำงานเต็มเวลา และดำเนินงานเป็นองค์กรถาวรในระยะต่อไป
  2. พัฒนากลไกการจัดการในภาวะที่มีการระบาด จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติและศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติ และพัฒนาระบบบริหารจัดการระดับพื้นที่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย