สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) ในคน

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตุลาคม 2547 เหตุผลความจำเป็น

  • ไข้หวัดนก Avian Influenza เป็นโรคระบาดในสัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่ แต่สามารถติดต่อมายังคนทำให้ป่วยและมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ดังที่เกิดการระบาดในฮ่องกงเมื่อปี 1997 มีรายงานป่วย 18 รายเสียชีวิต 6 ราย และในการระบาดเมื่อต้นปี 2004 มีรายงานการป่วยในเวียดนาม 23 ราย เสียชีวิต 15 ราย สำหรับในไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 12 รายเสียชีวิต 8 ราย
  • องค์การอนามัยโลกและนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้หวัดนก มีความเห็นตรงกันว่าการระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียเมื่อต้นปี 2004 นี้ จะไม่สามารถกวาดล้างให้หมดไปได้และมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำได้อยู่ตลอดเวลา
  • แม้จะไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อจากคนที่ป่วยสู่คนอื่นในอดีตที่ผ่านมา แต่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากเชื้อไข้หวัดนกในคนเกิดการกลายพันธ์อันเนื่องมาจากการผสมสารพันธุกรรมกับไข้หวัดที่พบในคน (Reassortment) ก็อาจจะเกิดการติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic)

วัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังโรค

  • ตรวจจับการป่วยด้วยไข้หวัดนกในคนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพื่อรีบให้การรักษา
  • ป้องกันมิให้มีผู้ป่วยรายใหม่หรือมีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและนำมาตรการเข้าสู่พื้นที่ซึ่งมีผู้ป่วยรายงานหรือมีการป่วยของสัตว์ปีก
  • ประเมินมาตรการควบคุมโรค หากยังมีผู้ป่วยเกิดขึ้นแสดงว่ามีจุดอ่อนของมาตรการบางอย่าง
  • เพื่อให้ผู้บริหารและประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายหรือมาตรการ และประชาชนจะได้ให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค

นิยามไข้หวัดนกในคน

เนื่องจากเป็นโรคใหม่ได้มีการปรับเปลี่ยนนิยามหลายครั้งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงขอกำหนด นิยามแบ่งเป็น 3 ระดับผู้ป่วยที่สงสัย (Suspect) ได้แก่ ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้

  • ไข้ (อุณหภูมิกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส) ร่วมกับ
  • อาการอย่างใดอย่างหนึ่งอันได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ , ไอ , หายใจผิดปกติ (หอบ, ลำบาก) ,หรือ แพทย์วินิจฉัยสงสัยว่าเป็นปอดบวม หรือไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับ มี
  • ประวัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
    1.อาศัยอยู่ในบ้านหรือหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย ในระยะ 14 วัน ก่อนวันที่เริ่มป่วย หรือ
    2.สัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อม กับอุจจาระหรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกที่ป่วยตาย ในระยะ 7 วัน ก่อนวันที่เริ่มป่วย หรือ
    3.สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดบวมรายอื่น ในระยะ 10 วัน ก่อนวันที่เริ่มป่วย
  • ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (Probable) ได้แก่ ผู้ป่วยที่สงสัยตามนิยามข้างต้น ร่วมกับ
  • ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเชื้อสายพันธ์ของคนหรือของสัตว์ปีก หรือ
  • มีอาการระบบหายใจล้มเหลว หรือ
  • เสียชีวิต

ผู้ป่วยยืนยัน (Confirm) ได้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยและผลการตรวจสุดท้ายพบเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A (H5) ซึ่งเป็นสายพันธ์ของสัตว์ปีกด้วยวิธี PCR หรือการเพาะเชื้อ

หมายเหตุ : ผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยที่น่าจะเป็น หากมีผลการตรวจยืนยันพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุอื่นๆ ให้จัดสถานะเป็น ผู้ป่วยจำหน่ายออก (Exclude)

การเปลี่ยนสถานะของผู้ป่วย : เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับรายงาน เป็นข้อมูลปัจจุบันที่ได้รับจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในขณะแรกที่ผู้ป่วยเข้ารับรักษา ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปและผลการตรวจมีความชัดเจนมากขึ้น การจัดประเภทของผู้ป่วยก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เป็นธรรมดา เช่น ผู้ป่วยที่สงสัยอาจเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ป่วยที่น่าจะเป็น หรือผู้ป่วยที่น่าจะเป็นบางรายก็อาจเปลี่ยนสถานะเป็นจำหน่ายออกได้ การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ประกอบด้วย

  1. Nasopharyngeal aspiration หรือ Nasopharyngeal swab ใส่ไว้ใน viral transport media นำส่งในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งหรือ ice pack เพื่อรักษาอุณหภูมิให้ได้ 2-4 องศาเซลเซียส และให้ส่งถึงห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใน 48 ชั่วโมง
  2. Clotted Blood 5 มิลลิลิตร (cc.) เก็บ 2 ครั้ง ครั้งแรกเก็บเมื่อพบผู้ป่วย ครั้งที่สอง เก็บห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป

แนวปฏิบัติการเฝ้าระวังสอบสวนโรค

  1. เฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่อย่างเต็มที่ โดยผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่ามี อาการปอดบวม หรือไข้หวัดใหญ่ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขอให้ซักถามประวัติ
    • การอาศัยอยู่ในบ้านหรือหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกป่วยตายในรอบ 14 วัน ก่อนเริ่มป่วย
    • การสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อมกับอุจจาระหรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกที่ป่วยตาย ในรอบ 7 วัน ก่อนเริ่มป่วย
    • การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดบวมรายอื่น ในรอบ 10 วัน ก่อนเริ่มป่วย หากมีประวัติดังกล่าวเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ให้รายงาน และทำการสอบสวนโรค และควบคุมโรคในชุมชนทันที โดยไม่ต้องรอผลทางห้องปฏิบัติการ และให้การดูแลรักษาตามแนวทางที่กระทรวงกำหนดไว้
  2. ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากปอดบวมทุกราย ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาการติดเชื้อไข้หวัดนกด้วย
  3. เมื่อมีผู้ป่วยสงสัย ให้ทำการสอบสวนโรค และควบคุมโรคในชุมชน ซึ่งประกอบด้วย
    •ตรวจสอบ และประสาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ว่ามีการตายของสัตว์ปีกมากน้อยเพียงใด
    •มีผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก แต่ยังไม่ได้ไปรับการรักษาอีกหรือไม่
    •ติดตามสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน กับผู้ป่วยที่รับการรักษาไว้ทุกคน ทุกวัน อย่างน้อย 7 วัน นับจากวันที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวันสุดท้าย หากมีอาการไข้ ให้รีบตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรายงานสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต กรมควบคุมโรคทราบ เพื่อตรวจสอบว่ามีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนหรือไม่

การรายงานผู้ป่วย

  1. ให้ทุกสถานบริการสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน รายงานผู้ป่วยแม้เพียงสงสัย ไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโดยด่วน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสำนักระบาดวิทยา ทราบภายใน 24 ชั่วโมง โดยทางโทรศัพท์ หรือ โทรสาร ตามระบบของการเฝ้าระวัง
  2. ในพื้นที่ซึ่งมีการป่วยตายของสัตว์ปีกผิดปกติ แม้จะยังไม่ทราบผลทางห้องปฏิบัติการ หรือเป็นพื้นที่ยืนยันว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกโดยกรมปศุสัตว์ ให้มีการสำรวจและสรุปสถานการณ์ผู้ป่วยปอดบวมหรือไข้หวัดใหญ่ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนก รายใหม่ทุกวันในพื้นที่ (Zero report) ตามแบบที่แนบมา พร้อมผลการรักษาให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตทราบ ภายในเวลา 9.00 น. และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต รายงานให้สำนักระบาดวิทยาทราบภายในเวลา 12.00 น. ของทุกวัน ซึ่งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จะตรวจสอบกับผลทางห้องปฏิบัติการและสรุปสถานการณ์ในภาพรวม เสนอผู้บริหารต่อไป อนึ่งหากมีการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผิดสังเกต ก็ขอให้รายงานให้ทราบด้วย

  การให้สุขศึกษา

  1. ให้ความรู้กับประชาชนทุกหมู่บ้านในเรื่องการติดต่อของโรค โดยในระยะนี้หากมีการป่วยการตายของไก่หรือสัตว์ปีกอื่นๆในจำนวนผิดปกติ ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าสัตว์เหล่านั้นตายจากโรคไข้หวัดนก โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และห้ามมิให้ชาวบ้านไปสัมผัสตลอดจนจับสัตว์ปีกในฝูงนั้นมาชำแหละเป็นอาหาร โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนหรือก่อนวัยเรียนนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องย้ำเตือนเป็นพิเศษ
  2. ในกรณีที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ หรือต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้มีการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือ สวมแว่นที่สามารถป้องกันมิให้ของเหลวจากสัตว์กระเด็นเข้าตา ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือให้บ่อย อาบน้ำหลังเสร็จภารกิจ และไม่ใช้มือที่ไม่ได้ล้างมาแคะจมูกหรือมาเปื้อนใบหน้า
  3. ชาวบ้านที่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสงสัยว่าป่วยโดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องมีหน้าที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีก หากมีไข้เกิดขึ้นภายในสิบวันหลังสัมผัส แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  4. ขอให้ประชาชนอย่าได้นำสัตว์ที่ป่วยหรือสงสัยว่าติดเชื้อมาชำแหละ เพื่อปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากขั้นตอนการปรุงอาหารอาจทำให้ผู้ชำแหละติดเชื้อได้
  5. ให้ผู้ปกครองเด็กในพื้นที่ที่มีการระบาด กำกับดูแลไม่ให้เด็กเล่นดินทรายที่ปนเปื้อนมูลสัตว์หรือเล่นในบริเวณที่มีการชำแหละสัตว์ และดูแลให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังการละเล่นบนพื้นที่อาจมีเชื้อโรค

การควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในกลุ่มผู้กำจัดสัตว์ป่วย

  • มีการให้คำแนะนำวิธีการป้องกันตนเองแก่ผู้ฆ่าทำลายสัตว์ที่สงสัยติดเชื้อก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
  • ขณะปฏิบัติงานต้องใช้เครื่องป้องกันการติดเชื้อให้ได้มาตรฐาน คือ
    -สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และผ้ากันเปื้อนพลาสติก
    -สวมหมวกคลุมผม ถุงมือยาง แว่นตา หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก และ รองเท้าบู๊ท
    -เวลาในการปฏิบัติงานไม่ควรติดต่อกันนานกว่า 3 ชั่วโมง หากไม่สามารถปฏิบัติงานให้เสร็จภายใน 3 ชั่วโมงควรมีการพักเพื่อให้ชำระร่างกายและล้างมือ
    -หลังจากปฏิบัติงานควรล้างมือ ทำความสะอาดร่างกายและควรเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกครั้ง
    -ควรทำลายฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ รวมทั้งเครื่องแต่งกาย รองเท้า ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน หรือโซเดียมไฮโปคลอไรต์
    -หากมีไข้หรือมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  • จัดทำรายชื่อและติดตามอาการของผู้ฆ่าทำลายสัตว์ที่สงสัยติดเชื้ออย่างน้อย 7 วัน

ด้านการสั่งการและกำกับดูแล

  1. มีคำสั่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้รับผิดชอบจากกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และส่วนอื่นๆตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร
  2. ให้มี Surveillance and Rapid Response Team (SRRT) และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติภารกิจฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในเรื่องการรับแจ้งเหตุที่สงสัยว่าสัตว์ติดเชื้อ การสอบสวนผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก การให้คำแนะนำในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยที่สงสัย
  3. จัดเตรียมงบประมาณ วัสดุ สิ่งสนับสนุนสำหรับกิจกรรมการสอบสวนและควบคุมโรคในผู้ป่วยและในชุมชน เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ยารักษาและชุดตรวจคัดกรอง ฯลฯ
  4. ให้ทุกหน่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสถานการณ์ และองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบันจาก website ของกระทรวงสาธารณสุข หากมีปัญหาให้สอบถามศูนย์ควบคุมโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุข

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย