สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้
ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก
และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก
ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
พ.ญ.วรยา เหลืองอ่อน กุลฤดี วงศ์มโนวิสุทธิ์ สำนักโรคติดต่อทั่วไป
โรคไข้หวัดนก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดในสัตว์ปีก
โรคนี้ได้มีการบันทึกไว้ครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ.2444 ต่อมาในปีพ.ศ.2498
ได้มีการพบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค (ในยุคนั้นเรียกว่าโรค fowl plaque)
ได้แก่สายพันธุ์จำเพาะของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จากนั้นเป็นต้นมา
โรคไข้หวัดนกได้มีการระบาดเป็นวงกว้างขึ้นในสัตว์ปีก
โดยสัตว์ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่น้อยมากจนกระทั่งรุนแรง จนสัตว์เสียชีวิต[1]
เชื้อก่อโรคโรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A
ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae โดยเชื้อชนิดนี้เป็น RNA ไวรัส
ชนิดที่มีเปลือกหุ้ม โดยมี โปรตีนแอนติเจนที่ผิว ที่สำคัญ ได้แก่ Haemagglutinin
(H) มี 15 ชนิด และ neuraminidase (N) มี 9 ชนิด ซึ่งสายพันธุ์ต่างๆ
ของเชื้อจะถูกเรียกแตกต่างกันไปตามชนิดแอนติเจนนี้ เช่น สายพันธุ์ H7N2 จะมี H
ชนิดที่ 7 และ N ชนิดที่ 2 ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์ H5N1 มี H ชนิดที่ 5 และ N
ชนิดที่ 1 ทุกสายพันธุ์จะติดต่อกันได้ในนก อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ที่ติดต่อได้ในคน
ได้แก่สายพันธุ์ที่ประกอบด้วยแอนติเจน H1, H2, H3 และ N1, N2
โดยเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ปีกนี้มีทั้งสายพันธุ์ชนิดที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพรุนแรง
(Highly pathogenic avian influenza : HPAI) สัตว์ปีกจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต
และชนิดที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ (Low pathogenic avian influenza : LPAI)
การระบาดในอดีต ที่สัตว์ปีกมีอาการรุนแรง มักเกิดจาก สายพันธุ์ H5 และ H7
แต่อย่างไรก็ตามมิใช่เชื้อที่มีแอนติเจน H5 หรือ H7 ทุกตัวที่เป็น HPAI
แหล่งโรคในสัตว์และสิ่งแวดล้อม
- สัตว์ปีกทุกชนิดมีความไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกซึ่งจะป่วยหรือตาย แต่นกเป็ดน้ำ
นกอพยพ รวมทั้งนกชายทะเล นกนางนวล ห่าน นกป่า
และเป็ดป่าสามารถแพร่เชื้อไวรัสชนิดนี้โดยไม่แสดงอาการป่วย
ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ปีกที่เป็นแหล่งโรคสำคัญ
- ไวรัสอาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไม่กี่ชั่วโมงหรือนานถึง 105 วัน ขึ้นกับสภาพแวดล้อม เชื้อจะอยู่ได้นานในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง ดังนั้น วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งคน และ สัตว์ เช่น นกป่า หนู แมลง นกกระจอก จึงเป็นปัจจัยในการกระจายโรค สำหรับในประเทศไทยมีข้อมูลจากการศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) สามารถอยู่ในมูลไก่สดในอุณหภูมิระหว่าง 25-33 องศาเซลเซียส ในร่มที่ไม่สัมผัสแสงแดดโดยตรง ได้นานประมาณ 4 วัน แต่จะอยู่กลางแสงแดดที่อุณหภูมิระหว่าง 32-35 องศาเซลเซียส ได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง
วิธีการติดต่อระหว่างสัตว์
- การติดต่อของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเกิดจากการสัมผัสกับมูลสัตว์โดยตรง
ซึ่งเป็นวิธีติดต่อที่สำคัญระหว่างนกด้วยกัน
นกป่าจะเป็นตัวนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไปยังสัตว์ปีกที่เลี้ยงในโรงเรือนเปิด
โดยผ่านการปนเปื้อนของมูล
- การติดเชื้อโดยการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค (Mechanical transmission)
มูลของนกเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสที่สำคัญ โดยพบว่ามีการขับเชื้อไวรัสทางมูลเป็นเวลา
7-14 วัน หลังจากการติดเชื้อ โดยพบไวรัสในวัสดุปูรอง มูลสัตว์ได้ในระยะเวลานานถึง 4
สัปดาห์หลังการปนเปื้อนเชื้อ
- การติดเชื้อจากการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยก็พบว่าเกิดขึ้นได้ สามารถพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ในเปลือกไข่ชั้นในและชั้นนอก อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงาน การติดต่อจากแม่ไก่ผ่านมายังลูกไก่ทางไข่ (Vertical transmission) ส่วนการติดต่อผ่านไข่ที่ปนเปื้อนเชื้อไปยังฟาร์มอื่นนั้น มักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อที่เปลือกไข่ หรือถาดไข่ ซึ่งจัดเป็นการติดต่อที่สำคัญวิธีหนึ่ง
ระยะฟักตัวและอาการในสัตว์ระยะฟักตัวสั้นอาจจะสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือยาว ถึง 3 วัน อาการและอาการแสดงนั้นมีความผันแปรตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัสและสัตว์ที่รับเชื้อ สัตว์ที่ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการป่วย ส่วนในสัตว์ป่วยอาจแสดงอาการดังนี้ คือ ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ซึม ปริมาณไข่ลดลง ไอ จาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ มีอาการทางประสาท ท้องเสีย สัตว์บางตัวอาจจะตายกะทันหันโดยไม่แสดงอาการชัดเจน เมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งมีความรุนแรงสูง (HPAI) อัตราป่วยตายในไก่ที่เลี้ยงไว้อาจสูงถึงร้อยละ 100 แต่ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้สัตว์ปีกชนิดอื่นๆป่วยและตายด้วย เช่น เป็ด นกกระทา ไก่งวง ฯลฯ
วิธีการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน / คนสู่คน- มีรายงานว่าคนติดเชื้อและป่วยจากเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N7 , H9N2 และ H5N1
ซึ่งคนสามารถติดเชื้อจากสัตว์ได้โดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง
และโดยทางอ้อมจากการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่นมูล น้ำมูก น้ำตา
น้ำลายของสัตว์ป่วย
- การติดต่อจากคนสู่คนเป็นไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานการศึกษาระหว่างเกิดการระบาดในต่างประเทศและในประเทศไทยมีกรณีที่อาจมีการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งการติดต่อจากคนสู่คนนั้นเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดโดยไม่มีเครื่องป้องกันการติดเชื้อ (personal protective equipment) ดังเช่น กรณีญาติและบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จากการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ระยะฟักตัวและอาการในคน
- ระยะฟักตัวของเชื้อไข้หวัดนกในคน 2-8 วัน เฉลี่ย 4 วัน [6]
(การระบาดในปัจจุบันทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยมีข้อมูลว่าอาจจะมีระยะฟักตัวนานขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นเวลานานกี่วัน )
- อาการในคนของโรคไข้หวัดนก อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ บางครั้งพบว่ามีอาการตาแดง อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงปอดบวมและเกิดระบบหายใจล้มเหลว (Acute Respiratory Distress Syndrome)ได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ อัตราป่วยตายในประเทศไทย ในการระบาดในปี 2547 สูงถึงร้อยละ 70
ปัจจัยเสี่ยงในสัตว์
โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ มีการระบาดในนกป่า เป็ด นกเป็ดน้ำ นกน้ำ
ซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ไก่งวงยังเป็นแหล่งกักโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกได้
ไก่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสสัมผัสกับนกน้ำมีความเสี่ยงสูง
อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลให้มีการระบาดในแต่ละพื้นที่
ซึ่งควรจะศึกษาค้นหาให้ทราบชัดเจนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงในคน
การศึกษาเชิงวิเคราะห์ ในประเทศไทย
พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในคนได้แก่
การสัมผัสสัตว์ปีกที่ตายผิดปกติโดยตรง
การอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีการตายอย่างผิดปกติของสัตว์ปีกรอบๆบ้าน
และการมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือสัมผัสกับสัตว์ปีก [7]
ผลการสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยาจากผู้ป่วยไข้หวัดนกทั้งหมด 17
รายพบว่าผู้ป่วยไข้หวัดนกจำนวน 6 ราย ไม่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีก
แต่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกป่วยและตายอย่างผิดปกติ และอีก 2
รายมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดนก
ดังนั้นเรื่องปัจจัยเสี่ยงในคนก็ยังคงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไปเช่นกันเอกสารอ้างอิง
- Animal Health special Report, Avian Influenza-Disease Card. Available from URL http:// www.fao.org/ag/againfo/subjects/en/health/diseases-cards/avian.html (Cited on 2 May 05)
- โรคไข้หวัดนก, กรมปศุสัตว์ Available from URL http:// www.dld.go.th/home/bird_flu/bird_flu1.html (Cited on 2 June 05)
- Influenza Viruses. Available from URL http://www.cdc.gov/flu/avian/gen-info/flu-viruses.htm (Cited on 10 June 05)
- Ungchusak K. et al. Probable person-to person transmission of avian influenza A (H5N1). The New England Journal of Medicine 2005 ;352(4) : 333-340.
- Buxton Bridges C, Katz JM, Seto WH, Chan PK, Tsang D, Ho W, et al. Risk of influenza A (H5N1) infection among healthcare workers exposed to patients with influenza A (H5N1), Hong Kong. J Infect Dis. 2000;181:3448.
- ดารินทร์ อารีย์โชคชัย และคณะ. Risk factors of avian flu in Thailand,2004. รายงานในการสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17 , พ.ค.2547
- ดารินทร์ อารีย์โชคชัย และคณะ.การสอบสวนการระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2547 : รายงานเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์สำนักระบาดวิทยา