ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ถือศีลแต่ตกนรก
ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ก็ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้ามิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันที "อย่าทับ อย่าทับ" วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า "ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น" ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้าและมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมทานจึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสสทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้ บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัดก็แย่งกันนินทาหรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้ ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมั่นมีมาเองแม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ" ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่วย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหนความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง อำนาจจิตสามารถ สร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงต่อความคิด วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป คำกล่าวของพระอริยเจ้า เหลาจื๊อ แสดงให้ประจักษ์ชัดมานานนับเป็นพันๆ ปีว่า "ธรรมแท้ ไม่อาจกล่าวออกมาเป็นวาจาได้ ที่กล่าวออกมาจึงมิใช่ธรรมะ" การแสดงออกทั้งปวงที่ที่ปรุงแต่งออกมาจากจิตจึงผิดเพี้ยนไปจากธรรมะเพราะฉะนั้นฌาน ตามธรรมชาติของธรรมญาณ จึงไม่อาจปรากฏออกมาได้ ญาณ ที่กำหนดขึ้นด้วยจิตของตนเอง ย่อมผิดแผกไปจาก ฌานที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญที่กำหนดญาณด้วยแรงภาวนาของตนเองจึงเป็น ฌาน เกิดขึ้นได้และเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเป็นฌาน ที่กำหนดด้วยรูปแบบจึงมิใช่ของจริงตามสัจธรรม ศีลและฌาน จึงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพียงแต่ค้นพบธรรมญาณของตน ทุกสิ่งอย่างก็จักบริบูรณ์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วมิใช่หรือ
» มหาปัญญา
» อหังการ