ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
อหังการ
บุญ เป็นเครื่องที่ทำให้เกิดกิเลสในจิตฟูขึ้นจึงกลายเป็นความถือดีอวดดี ทำให้จิตหลงทางได้ง่ายที่สุด กุศล เป็นเครื่องตัดกิเลสมิให้ฟูขึ้น เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาได้จากธรรมญาณ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน ผู้สร้างบุญมิอาจตัดความยะโสโอหังได้เพราะเป็นสิ่งภายนอกที่ยั่วย้อมให้จิตหลงใหลลืมตัวและเป็นเรื่องที่สร้างได้ง่ายดายนัก ส่วนกุศลเป็นเรื่องที่ต้องค้นพบธรรมญาณแห่งตนจึงเป็นเรื่องยาก พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "การเห็นแจ้งในธรรมญาณเรียกว่า "กง"ส่วนการที่สามารถกระทำให้คงที่สม่ำเสมอเรียกว่า "เต๋อ" และเมื่อใดจิตที่เคลื่อนไหวแคล่วคล่องตามภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งทำหน้าที่อย่างประหลาดลี้ลับของใจเราเอง เมื่อนั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงซึ่ง กงเต๋อ" คำว่า "กงเต๋อ" มีความหมายว่า คุณธรรม หรือ กุศลกรรม เพราะการค้นพบธรรมญาณของตนเองเป็นการงานที่ต้องจัดการปัดกวาดกิเลสนานาประการออกไปให้หมดและสภาวะแห่งธรรรมญาณปรากฎจึงเรียกว่าคุณธรรม การอธิบาย "กงเต๋อ" จึงมิใช่เรื่องยาก แต่การกระทำให้ปรากฏขึ้นมาจนเป็นธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยากนัก พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "การระวังจิตภายในให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากอหังการจึงเป็น "กง" แต่ที่เป็นภายนอกเกี่ยวกับการวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทางจึงเป็น "เต๋อ" การที่ว่าทุกสิ่งที่แสดงออกจากธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิตซึ่งเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงจึงเรียกว่า "เต๋อ" การที่ไม่ปล่อยให้จิตวิ่งเตลิดไปจาก ธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" แต่การที่ใช้จิตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่เผลอทำให้จิตมืดมัวเสียก่อนจึงเรียกว่า "เต๋อ" สภาวะของจิตที่มีกุศลธรรรมจึงล้วนกระทำออกไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงเพราะยอมรับว่าทุกคนล้วนแต่มีสภาวะแห่งธรรมญาณเหมมือนกันหมด และคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเปรียบได้เช่นน้ำพร่องแก้วสามารถเติมน้ำได้ตลอดเวลา แต่คนที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเช่นน้ำล้นแก้ว ไม่อาจเพิ่มเติมน้ำได้อีก ผู้ที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่อาจสร้างบุญกุศลใดๆ ได้เลยเพราะมีแต่ยโสโอหังดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเสมอ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ถ้าแสวงหากุศลภายในธรรมกายและทำตามที่ได้กล่าวนี้จริงๆ กุศลที่ได้รับย่อมเป็นกุศลจริงผู้ปฏบัติเพื่อกุศลจะไม่หมิ่นผู้อื่นและในทุกที่ทุกโอกาสเขาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปกตินิสัยย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปได้แสดงให้เห็นว่าเขาขาดซึ่ง "กง" ดังนั้น เขาจึงไม่อาจแจ้งต่อธรรมญาณของตนเองส่อสำแดงให้เห็นว่าเขายังขาด "เต๋อ" คำกล่าวของท่านฮุ่ยเหนิงย่อมชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาวะจิตของคนที่มีกุศลธรรมคือ "กงเต๋อ" ย่อมเป็นคนที่มีมารยาทยกย่องผู้อื่น คนเหล่านี้ย่อมได้รับการยกย่องนับถือตอบกลับคืนไป แต่คนที่เย่อหยิ่งจองหองล้วนได้รับความดูหมิ่นหรือตอบแทนด้วยความรังเกียจของชนทั้งปววง คนสมัยนี้ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะเทคโนโลยีที่เจริญกลายเป็นกิเลสทำให้เขาลืมตัวว่าเก่งกาจกว่าใครๆ ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ คนเหล่านี้จึงเจริญด้วย อหังการ เพราะฉะนั้นคนในยุคที่เจริญด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นผู้ที่อวดดีโดยปราศจากความดีและไร้มมารยาทและพร้อมที่จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและกลายเป็นผู้ที่ประจบสอพลอต่อผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าเขา โลกจึงตกต่ำและตกอยู่ในอันตรายเพราะ "คุณธรรม" มิได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอีกต่อไป แต่อำนาจแห่ง "อหังการ" ครอบงำโลกเอาไว้ ผู้ที่บ้าคลั่งแต่เทคโนโลยีจึงกลายเป็นคนหลงอย่างแท้จริงเพราะเขาเกิดความเข้าใจผิดว่าการครอบครองเทคโนโลยีจึงกลายเป็นผู้ทที่มีอำนาจอันแท้จริงสามารถบงการชีวิตของผู้อื่นได้ ความจริงเขาเหล่านั้นแม้ชีวิตของตนเองยังไม่อาจบงการได้เลย และวิทยาศาสตร์เจริญก้าวล้ำหน้าไปเท่าไรแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างต้นหญ้าจริงๆ หรือแม้แต่มดตัวน้อยสักตัวหนึ่งได้ มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของวิทยาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความมืดมนอย่างแท้จริงและน่าสงสารนัก พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเกี่ยวกับ "กงเต๋อ" ว่า "เมื่อใดความเป็นไปแห่งจิตทำหน้าที่โดยไม่มีติดขัดเมื่อนั้นเรียกว่ามี "กง" เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่โดยตรงแน่ว เมื่อนั้นเรียกว่ามี "เต๋อ" เพราะฉะนั้น กุศล จึงเป็นเรื่องของการแสวงหาภายในจิตเดิมแท้หรือธรรมญาณ และหาไม่ได้ด้วยการโปรยทาน ถวายภัตตาหารเจจึงต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความปิติอิ่มใจกับกุศลกรรมอันแท้จริง" การสร้างบุญกับ แสวงหากุศลจึงไม่เหมือนกันจริงๆ
» มหาปัญญา
» อหังการ