ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความไม่ต้องคิด
กายสังขารอันประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลมไฟ ย่อมมีกำเนิดมาจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนกัน จุดสิ้นสุดของร่างกายนี้เป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง เกิด แก่ เจ็บ ตาย กลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามธรรมชาติ ส่วน "ธรรมญาณ" ซึ่งอาศัยอยู่ในตัวปลอมมีต้นกำเนิดมาจากอนุตตรภูมิอันเป็นศูนย์พลังแห่งธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดสรรพสิ่งได้ไม่มีที่สิ้นสุดแต่เมื่อมาอาศัยกายมนุษย์ได้สูญเสียศักยภาพไปตามอายตนะหก คือ ตา หู จมูก ปาก กาย และ จิต ดังนั้น "ธรรมญาณ" จึงไม่สามารถคืนกลับสู่ต้นกำเนิดเดิมได้ ถ้าเปรียบเทียบ "ธรรมญาณ" เป็นเช่นกระแสไฟฟ้าซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น ก็ทำหน้าที่ให้ความเย็น หรือเข้ามาสู่หลอดไฟฟ้าก็ให้แสงสว่าง เช่นเดียวกับ "ธรรมญาณ" ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในมนุษย์ซึ่งมีความสามารถแตกต่างกัน จึงทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน กระแสไฟฟ้าไม่อาจกลับคืนสู่ต้นกำเนิดเดิมได้เพราะมีการ "ช็อต" ทำให้ไฟฟ้ารั่วจึงอ่อนกำลังลงเช่นเดียวกับ "ธรรมญาณ" ไม่อาจคืนกลับแดนอนุตตรภูมิได้เพราะศักยภาพเดิมสูญเสียไปตามกิเลสที่ยั่วย้อมทำลายความสามารถดั้งเดิมลงไปนั่นเอง ความสมบูรณ์ของ "ธรรมญาณ" อยู่เหนือสภาวะแห่งความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ธรรมญาณ จึงอยู่เหนือปัญญา ธรรมญาณ อยู่เหนือ "จิต" ถ้านำเอาคำกล่าวของเหลาจื่อมาเทียบเคียงแล้วก็จะให้ความหมายอันแท้จริงของ "ธรรมญาณ" กล่าวคือ "ความไม่มีคือภาวะที่แท้ของธรรมะ แต่ความมีเป็นบทบาทของธรรมะ" ธรรมะ คือความว่างอันไร้ขอบเขต แต่สามารถสร้างสรรพสิ่งแต่สรรพสิ่งทั้งปวงมิใช่ธรรมะ สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" จึงไม่มี แต่เมื่อเกิดอาการเคลื่อนไหวจึงเป็นจิตที่คิดได้มากมายจนมีสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งมิใช่ธรรมะ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "บุคคลผู้เข้าถึงวิถีทางแห่ง "ความไม่ต้องคิด" จึงรู้แจ้งในสรรพสิ่งและได้ดื่มรสที่พระพุทธเจ้าทุกข์พระองค์ได้ดื่มมาแล้ว และย่อมบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้าต่อไป" การเข้าถึงสภาวะแห่ง "ความไม่ต้องคิด" ก็คือการคืนสู่สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้และเป็นตัวตนที่แท้จริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปลักษณ์ใดๆ เลย ความไม่มีอันแท้จริงเท่านั้นจึงทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอนิจจังแต่สิ่งที่เป็นบทบาทของ "ธรรมญาณ" อันมีสภาวะเป็น "จิต" นั้นจึงตกอยู่ในกฎแห่งการเกิด-ดับ ไม่มีที่สิ้นสุด เหตุไฉน "ความไม่ต้องคิด" จึงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง เหตุเพราะ "ความไม่ต้องคิด" เป็นสภาวะแห่งความว่างดั้งเดิมตามธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดสรรพสิ่งอันประมาณมิได้ สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมีรากฐานมาจากความว่างอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นใครเข้าถึง "ความไม่ต้องคิด" ก็คือ การคืนสู่สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" ของตนซึ่งตรงต่อสภาวะของต้นกำเนิดเดิม จึงได้ดื่มรสเดียวกันกับพระพุทธเจ้าทั้งปวงเช่นกัน ผู้ที่คืนสู่สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" ของตนย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไปนั้น ถ้านำเอา ปณิธาน ของพระพุทธองค์ในสมัยที่เกิดเป็น สุเมธดาบส มาเทียบเคียงก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพราะในครั้งนั้น พระพุทธทีปังกร พุทธเจ้าเสวยอายุปกครองธรรมกาลอยู่นั้นได้เสด็จไปพร้อมกับสาวกสู่นครแห่งหนึ่ง ชาวพระนครกำลังตระตรียมปัดกวาดบ้านเมืองเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า สุเมธดาบสรู้ข่าวจึงเข้าร่วมงานบุญนี้ด้วย พอดีพระพุทธทีปังกรเสด็จมาถึง แต่หนทางยังไม่เสร็จ สุเมธดาบส จึงสละกายตนทอดเป็นสะพานให้พระพุทธทีปังกรเสด็จเหยียบไปบนหลังของตนเอง พร้อมกันนั้น ได้ตั้งปณิธานจักสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง พระพุทธทีปังกรทรงทราบได้ด้วยพระญาณจึงทรงพยากรณ์ไว้ว่า ดาบสผู้นี้จักสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ ถ้าสุเมธดาบสมได้ดื่มรสแห่ง "ความไม่ต้องคิด" ซึ่งหมายถึง "ธรรมญาณ" ของตนเองแล้ว เหตุไฉนจึงมีจิตตั้งปณิธานจักสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ผู้ที่ได้รับคำสอนของอาตมาจะให้สัจปฏิญาณในท่ามกลางหมู่ศิษย์ด้วยกันว่าจะอุทิศชีวิตตนเองทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามคำสอนแห่ง "สำนักฉับพลัน" โดยไม่ย่อท้อถอยหลังอันเป็นความตั้งใจขนาดเดียวที่จะปนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าแล้วไซร้ เขาก็จักบรรลุถึง วิสุทธิมรรคาโดยไม่มีความล้มเหลวเป็นแน่แท้" ในขณะเดียวกันพระธรรมมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้ถ่ายทอดคำสอน "รู้อย่างฉับพลัน" ต่อๆ กันไป โดยไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นแม้แต่น้อยแต่สำหรับบุคคลผู้อยู่ในนิกายอื่นซึ่งมีความเห็นและจุดมุ่งหมายผิดไปจากนี้ไม่ควรถ่ายทอดหลักธรรมะนี้ให้ เพราะจักเกิดผลร้าย เพราะเกรงว่าพวกคนเขลาเหล่านี้ นอกจากไม่เข้าใจแล้วยังจะให้ร้ายป้ายสีหลักธรรมะอันจักเป็นผลร้ายทำลายเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะให้เหือดแห้งเป็นหมมันไปหลายร้อยกัลป์พันชาติ "ความไม่ต้องคิด" จึงเป็น "ความว่างอันสมบูรณ์" เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากนักที่ผู้ไม่ใใช้ปัญญาจะทำความเข้าใจได้และยังหัวเราะเยาะทำลายคุณธรรมของตนลงไปแต่กลับสร้างบาปกรรมโดยไม่รู้ตัวด้วย
» มหาปัญญา
» อหังการ