ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พระสูตรของท่านเว่ยหลาง

ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม

ถ้าเรากำหนดรูปลักษณ์ความว่าง ย่อมมีขอบเขตแห่งความสิ้นสุดของความว่างนั้นตามรูปลักษณ์ที่กำหนดขึ้นมา จึงมิใช่ความว่างอันแท้จริงตามธรรมญาณ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้นำเอาคำว่า "มหา" มาอธิบายว่าเป็นความ "ใหญ่หลวง" ขนาดของธรรมญาณใหญ่หลวงเยี่ยงเดียวกับอวกาศ จึงไม่อาจบัญญัติออกมาด้วยภาษาหรือรูปลักษณ์ใดๆ ได้เลย "ธรรมญาณมิใช่ของกลมหรือของเหลี่ยมไม่ใช่ของโตหรือของเล็กไม่ใช่ของเขียวหรือเหลือง แดงหรือขาว ไม่มีบนไม่มีล่าง ไม่ใช่ของสั้นหรือยาว ไม่ใช่ความชังหรือความชื่น ไม่ใช่ความถูกหรือความผิด มิใช่ของอันแรกหรืออันสุดท้าย" ธรรมญาณซึ่งเป็นตัวจริงแท้ของเราจึงยิ่งใหญ่จนประมาณมิได้ซึ่งพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้เปรียบเทียบกับพุทธเกษตรว่างเหมือนกับอวกาศฉันใด ธรรมญาณของเราก็ว่างเช่นเดียวกันฉันนั้น และจึงมิใช่ภูมิธรรมอันเดียวเท่านั้นที่ต้องบรรลุถึงด้วยการตรัสรู้ เพราะสภาวะเช่นนี้มันเป็นสิ่งเดียวกับธรรมญาณ ซึ่งเป็นภาวะแห่ง "ความว่างเด็ดขาด" เป็นความว่างของสิ่งซึ่งมีอยู่อย่างแท้จริง เมื่อสภาวะแห่งจิตคืนสู่สภาพเดิมแท้แห่ง "ธรรมญาณ" จึงมิใช่การตรัสรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนมักสับสนเกี่ยวกับ "ความว่าง" ว่าเป็นการขาดสูญไม่มีอะไรเลย ถ้าเข้าใจอย่างนี้พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงท่านบอกว่าเป็นพวก "ความเห็นผิด" เพราะคนเรานั่งอยู่เงียบๆ ทำใจให้ว่างๆ ก็ตั้งอยู่ในภาวะแห่ง "ความว่างเพราะว่างเฉย" ได้เหมือนกัน ความว่างอันแท้จริงจึงเหมือนกับสากลจักรวาลเพราะไม่มีขอบเขตอันจำกัด สามารถบรรจุสิ่งต่างๆ ตั้งแสนๆ สิ่ง ซึ่งมีรูปพรรณสันฐานแปลกๆ เข้าไว้ในตัวเองได้ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวทั้งหลาย ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน น้ำพุ ลำธาร พุ่มไม้ ป่าไม้ คนดีคนชั่ว ธรรมะฝ่ายดี ธรรมะฝ่ายชั่ว เมืองสวรรค์ เมืองนรก มหาสมุทร ภูเขาในเทือกเขาหิมาลัย ในสิ่งเหล่านี้มีความว่างซึมเข้าไปอยู่ทั่ว "ความว่าง" แห่งธรรมชาติแท้ของเราก็สามารถเข้าไปอยู่ในสิ่งต่างๆ ได้เช่นกัน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ที่ว่าธรรมญาณของเราเป็นของใหญ่หลวงก็เพราะมันสามารถรวมสิ่งต่างๆ เข้าไว้ได้หมดโดยที่ทุกสิ่งนั้นอยู่ในตัวธรรมชาติแท้ของเรานั่นเอง" ข้อความตอนนี้ถ้านำเอาพระพุทธวจนะเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มาเทียบเคียงแล้วก็เห็นได้ว่าตรงกันคือ "เราคือจักรวาล จักรวาลคือเรา" "ดังนั้นเมื่อเราพบเห็นความดีหรือความชั่วของคนอื่น แล้วเราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบหรือไม่ถูกผลักดันให้ชัง หรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมันเมื่อนั้นแหละลักษณะแห่งจิตของเราเป็นของว่างเยี่ยงเดียวกับความว่างของอวกาศ ดังนั้นจึงกล่าวว่า ธรรมญาณของเราใหญ่หลวงนักและไม่มีขอบเขตอันจำกัดเช่นเดียวกับอวกาศ จึงเรียกว่า "มหา" นั่นเอง" แต่ในปุถุชนที่ไม่รู้จักธรรมญาณของตนเองสภาวะแห่งจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปตามกิเลสในตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งดีหรือชั่วที่มากระทบ แม้สิ่งนั้นเป็นความชั่ว ถ้าเขาชอบก็ถูกความชั่วดูดเข้าไป แต่เป็นความดีจิตไม่ปรารถนาเขาก็หลีกหนีไป สภาวะจิตเช่นนี้จึงมิใช่ "มหา" เพราะเต็มไปด้วยชอบและชังเสียแล้ว พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวเอาไว้ว่า "สิ่งใดที่พวกคนโง่เขลาพากันพูดถึงอย่างไม่เกิดประโยชน์ สิ่งนั้นผู้มีปัญญาได้นำไปปฏิบัติด้วยจิตใจจนเกิดเป็นมรรคผล" "ยังมีคนโง่เขลาอีกจำพวกหนึ่ง ชอบนั่งนิ่งๆ เงียบๆ และพยายามทำจิตของตนให้ว่างโดยไม่คิดถึงสิ่งใดๆ ทั้งหมดแล้วก็เรียกตนเองว่า"มหา" เมื่อคนเหล่านั้นมีความเห็นนอกลู่นอกทางถึงเพียงนี้ ก็เป็นการยากที่จะกล่าวถึงพวกเขาว่าเป็นอย่างไรถึงจะถูกตรงได้" ความว่างจึงมิได้อยู่ที่การกำหนดจนเห็นความว่าง เพราะเป็นของจอมปลอมที่ไม่มีสภาวะอันแท้จริงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถนำมาประกอบการงานใดๆ ได้เลย จึงเป็นความว่างที่ไร้สาระประโยชน์อย่างแท้จริงที่สุด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยหนิงอรรถาธิบายถึงธรรมญาณอันกว้างขวางใหญ่โตจนเป็น "มหา" นั้นว่า "ธรรมญาณนั้นมีขนาดแห่งความจุอันใหญ่หลวงเพราะเป็นความว่างอันมีอยู่ทั่วสากลธรรมธาตุเมื่อนำมาใช้ก็ทราบในหลายสิ่งหลายอย่างและถ้าใช้เต็มขนาดก็จะได้สารพัดสิ่งไม่มีอะไรเหลือรู้ทุกๆ สิ่งภายในสิ่งหนึ่งและสิ่งหนึ่งในทุกๆ สิ่ง เมื่อใดธรรมญาณของเราทำหน้าที่โดยไม่ติดขัดเป็นอิสระที่จะ "ไป" หรือ "มา" เมื่อนั้นได้ชื่อว่าอยู่ในภาวะแห่ง "ปัญญา" แท้จริง" ข้อความตอนนี้มีความลึกล้ำจนยากผู้ที่มิได้ใส่ใจศึกษาธรรมะสามารถทำความเข้าใจได้ แท้ที่จริง "ธรรมญาณ" ซึ่งอยู่ในภาวะเดียวกันความว่างในสากลจักรวาลจึงแทรกตัวอยู่ในสรรพสิ่งได้เช่นเดียวกัน เพราะสรรพสิ่งล้วนอยู่ในภาวะแห่งความว่างเช่นเดียวกัน ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง เมื่อมีธาตุอย่างเดียวกันย่อมมีความเข้าใจในทุกสิ่ง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในสภาวะใดๆ เมื่อธรรมญาณมิได้ถูกสิ่งใดยึดเหนี่ยวเอาไว้ย่อมเป็นอิสระซึ่งมีสภาวะแห่งความว่างอันแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงสามารถคิดหรือรู้ได้ถึงความเป็นไปในสรรพสิ่งและสามารถแยกแยะได้ สภาวะเช่นนี้จึงเรียกว่าเป็น "ปัญญา" แต่ถ้าติดยึดอยู่ในสิ่งหนึ่งอย่างหนาแน่นแล้ว ธรรมญาณนั้นย่อมไม่อาจคิดหรือรับรู้สิ่งอื่นได้ สภาวะเช่นนั้นจึงเรียกว่า "มืดทึบ โง่เขลา ไร้ปัญญา" โดยสิ้นเชิง ความว่างแห่งธรรมญาณจึงสามารถรับทุกอย่างได้โยไม่รู้จักเต็ม

» เว่ยหล่าง หรือ ฮุ่ยเหนิง

» วิปัสสนาปัญญา

» จิตเดิมแท้

» อนุตตรสัมมาสัมโพธิ

» ต้นโพธิ์กับกระจกเงา

» โศลกอันลือเลื่อง

» ต้นธาตุ ต้นธรรม

» ศูนย์กลางจักรวาล

» ดวงตาเห็นธรรม

» สัจธรรมแห่งการกินเจ

» เอกธรรมมรรค

» บรรลุอย่างฉับพลัน

» มหาปรัชญาปารมิตา

» ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม

» สัมมาปัญญา

» กิเลสคือโพธิ

» มหาปัญญา

» เหมือนที่ต่าง

» ครูที่แท้จริง

» วิมุติปัญญา

» ความไม่ต้องคิด

» พ้นโง่-พ้นฉลาด

» มองหาความผิดตนเอง

» ทางที่ถูกต้อง

» มหาธรรมนาวา

» ติดบุญ-บาปพัวพัน

» อหังการ

» ดินแดนแห่งอมิตาภะ

» มนุษย์นคร

» แสงแห่งพระพุทธะ

» บำเพ็ญในครัวเรือน

» ถือศีลแต่ตกนรก

» ไหว้พระในบ้าน

» ความเป็นธรรม

» บัวสีแดงเหนือตมสีดำ

» เงินบังโพธิปัญญา

» นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ

» หลงสุขจึงไม่เห็นทุกข์

» สมาธิที่ถูกวิธี

» หลอกตัวเอง

» หลงข้ามภพข้ามชาติ

» ไม่ช้า-ไม่เร็ว

» หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย