ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
สัมมาปัญญา
หนทางแห่งสัมมาปัญหาเท่านั้นจึงได้ชื่อว่าไม่เป็นผู้หลงมัวเมาต่อความชั่วทั้งปวง เพราะสัมมาปัญญาเกิดจาก สัมมาสมาธิ ความจริงแล้ว "ปัญญา" ไม่มีสภาวะแห่ง "สัมมา" หรือ "มิจฉา" เพราะเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมญาณของทุกคน แต่พอสำแดงอานุภาพออกมาย่อมเป็นไปตามปัจจัยเกื้อหนุนถ้าปัจจัยเป็นไปด้วยความชอบก็แสดงไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรมแต่ถ้าปัจจัยเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม อานุภาพที่สำแดงออกมาย่อมเป็นไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงยังมีผู้คิดผิดเห็นผิดไม่ตรงตามหลักสัจธรรม แม้ทุกคนมีภาวะแห่งปัญญามาแต่เดิมแล้วก็ตามที พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง กล่าวว่า ปัญญาทั้งหมดย่อมมาจากธรรมญาณและมีอยู่แล้วภายในมิได้มาจากวิถีแห่งภายนอกเลย เพราะฉะนั้นโดยตัวของมันเองย่อมเป็นประโยชน์ตามสภาวะอยู่แล้ว เพราะมันเป็น "ตถตา" ความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีเป็นอย่างอื่นและไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงสภาวะแท้จริงของมันได้เลยเพราะฉะนั้นใครเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมญาณเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเขาก็เป็นอิสระจากความหลงทั้งปวงไปชั่วนิรันดร ดังนั้นจึงไม่สมควรใช้ให้ทำงานเพียงนิดเดียว เช่นนั่งเงียบๆ ทำใจให้ว่างเฉยๆ เพราะเหตุที่ธรรมญาณมีรัศมีแห่งการทำงานกว้างขวางใหญ่หลวงนัก คนที่ใช้ปากพูดถึงความว่างโดยที่สภาวะแห่งจิตไม่เคยพบความว่างเลย จึงเปรียบเสมือนผู้ประกาศความเป็นใหญ่ด้วยปากแต่แท้ที่จริงเขาเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดาเท่านั้นเพราะฉะนั้นจึงไม่มีโอกาสเป็นผู้ใช้ปัญญา ความหมายที่แท้จริง ท่านฮุ่ยเหนิงชี้ให้เห็นว่า ปัญญาจึงมิได้อยู่ที่การใช้พูดด้วยปากคนพูดเก่งมิได้หมายความว่าเป็นผู้มีปัญญาแท้จริงเพราะปัญญามิได้มาจากการพูดด้วยเหตุนี้เราจึงยังคงพบคนที่พูดด้วยความโง่ เขลา อวดฉลาดรอบรู้โดยที่ตนเองหารู้สิ่งใดไม่ การพูดเป็นเพียง ผลแห่งการใช้ "ปัญญา" ฉะนั้นจึงมิใช่ตัว "ปัญญา" ตามความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงเลย "ปัญญาหมายถึงความรู้แจ้งชัด เมื่อใดเราสามารถรักษาจิตไม่ให้ผูกพันด้วยตัณหาความทยานอยากที่โง่เขลาได้ทุกกาลแล้วไซร้ การกระทำทุกอย่างจึงเป็นไปด้วยปัญญา ในบัดนั้นจึงได้ชื่อว่ากำลังอบรมปัญญาให้เจริญงอกงามออกมา แต่ความรู้สึกที่โง่เขลาเพียงแวบเดียว ก็สามารถทำให้ปัญญาหายวับไป แต่มีความคิดที่ปรีชาฉลาดย่อมสามารถดึงปัญญากลับคืนมาได้อีก ดังนั้นใครที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาหรือความหลง ย่อมมองไม่เห็นปัญญาเพราะฉะนั้นจึงพูดถึงปัญญา ด้วยลิ้น แต่มิได้พูดด้วยใจเพราะภายในจิตยังเต็มไป ด้วยความงมงาย เช่นเดิม" ในคัมภีร์ "คุณธรรม" ของท่านเหลาจื๊อ ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ผู้ที่เข้าใจคนอื่นชื่อว่าเป็นผู้รอบรู้ ผู้ที่เข้าใจตนเองจึงชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้ง" ผู้รอบรู้อาจรู้สิ่งทั้งปวงนอกตัวเองมากมาย แต่เขาไม่อาจรู้จักจิตของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงมิใช่ปัญญาอันแท้จริงที่จะพาตัวเองให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือแก้ทุกข์ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นผู้รอบรู้เวลาเกิดทุกข์ต่างวิ่งเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ของต้นไม้ รูปเคารพหรือวัตถุอื่นใด กราบไหว้อ้อนวอนขออิทธิฤทธิ์มาช่วยแก้ทุกข์ของตนเอง แต่ผู้รู้แจ้งใช้ปัญญาของตนเองแก้ทุกข์ เขาเหล่านั้นจึงพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะดับทุกข์ที่ต้นเหตุเพราะทุกข์ที่จิต จึงดับเสียที่จิต ส่วนผู้รอบรู้แต่ภายนอกจึงวิ่งไปหาปลายเหตุคือพยายามดับผลเพราะฉะนั้นจึงวุ่นวายและทุกข์หนักยิ่งขึ้น แม้เอาอิทธิฤทธิ์มาดับผลแห่งทุกข์ ก็เป็นเพียงชั่วครึ่งชั่วคราวในที่สุดก็ยังคงวิ่งวนอยู่ด้วยความทุกข์นั้นไม่สิ้นสุด คนเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า ผู้หลงงมงาย พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงคนเหล่านี้ว่า "เขาชอบพูดเสมอว่าประพฤติปัญญา และพูดถึงความขาดสูญไม่หยุดปาก แต่เขาไม่ได้พบหรือทราบถึงความว่างเด็ดขาดเลย หัวใจแห่งความรู้ชัดแจ้ง จึงถือเป็นตัวปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้รูปร่างไม่มีท่าทางให้สังเกตเห็น ดังนั้นถ้าเราตีความหมายของปัญญากันในทำนองนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นความรอบรู้แจ้งชัดของปัญญาตัวจริงอย่างถูกต้อง" ท่านขงจื๊อได้กล่าวถึงปัญญาเอาไว้ในคัมภีร์ทางสายกลางว่า "ปัญญาเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด เมื่อได้ดำเนินกิจต่างๆ ไปตามปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง จึงเรียกว่า ธรรมะ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะจึงเรียกว่าเป็น อารยธรรม ธรรมะเป็นสิ่งที่คนเราละทิ้งไปไม่ได้แม้ชั่วขณะเดียว ถ้าสิ่งใดที่ละทิ้งได้สิ่งนั้นจึงมิใช่ธรรมะ" เพราะฉะนั้น ปัญญาตามความหมายของท่านขงจื๊อจึงเป็นไปตามธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่งจากปัจจัยภายนอก ปัญญาชนิดเช่นนี้ย่อมแยกแยะ "ดี" และ "ชั่ว" ได้หรือรู้ถึง "นรก" หรือ "สวรรค์" เมื่อแยกแยะได้เช่นนี้ย่อมนำพาตนเองพ้นไปจากความชั่วหรือนรก ด้วยตนเอง โดยมิต้องอาศัยสิ่งอื่นนอกตัวเองมาเป็นปัจจัยกำหนดเลย พระพุทธองค์ทรงตรัสพุทธภาษิตเอาไว้ว่า "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ผู้ที่มีปัญญาตามธรรมญาณของตนเองเช่นนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น "สัมมาปัญญา" เพราะสามารถหลุดพ้นไปจากทะเลทุกข์ได้ด้วยปัญญาอันชอบนั่นเอง
» มหาปัญญา
» อหังการ