ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ
พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดูเหมือนมีความเชื่ออย่างเด็ดขาดมั่นคงว่า วิธีบำเพ็ญให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงจนบรรลุมรรคผลนิพพานต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ "นั่งสมาธิ" และยังเชื่อกันต่อไปว่า เป็นการปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธองค์สรรเสริญกิจกรรมสมาธิ จึงบานสะพรั่งเต็มเมืองไทย วัดไหน อาจารย์ไหนไม่รู้เรื่องสมาธิ วัดนั้นอาจารย์นั้นล้าหลังหาความเจริญรุ่งเรืองมิได้ "สมาธิ" จึงกลายเป็น "พุทธพานิชย์" อีกแบบหนึ่งซึ่งสร้างความร่ำรวยให้แก่วัดและอาจารย์เหล่านั้นที่กำหนดรูปแบบสมาธิขึ้นมาแล้วยืนยันว่าเป็นวิธี ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อกันมา และในที่สุดอาการ "งมงายสมาธิ" หรือ "สมาธิแบบงมงาย" จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัตินั้นยังเร่าร้อน ลุ่มหลง โทสจริต โมหาคติ ยังแรงกล้า ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบงมงายจึงเต็มไปด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นและก่อกรณีรุนแรงร้าวฉานขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบรู้แจ้ง จิตใจเบิกบาน ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงได้ ชีวิตดำเนินไปด้วยปัญญา ความสงบสันติในตัวเองและผู้อื่นจึงปรากฏขึ้น สมาธิ จึงมีอยู่สองวิธี คือ "มิจฉาสมาธิ" เป็นสมาธิที่หลงงมงายไม่สามารถพาให้จิตญาณของตนพ้นเวียนว่ายตายเกิด แม้มีอิทธิฤทธิ์มากมายแค่ไหนก็ไม่อาจพ้นนรก "สัมมาสมาธิ" เป็นสมาธิที่พาให้จิตญาณพ้นไปจากความหลงงมงาย และดำรงตนมั่นอยู่ในสัจธรรมอันเป็นผลมาจากปัญญาที่มีกำลังกล้าแข็งตัดความทุกข์ได้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้ในพระสูตร "ว่าด้วยสมาธิและปัญญา" ว่า "ในระบบคำสอนของอาตมา สมาธิปัญญา นับเป็นหลักสำคัญแต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าธรรมะสองข้อนี้แยกจากกันเป็นอิสระ เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้และมิใช่ของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง" ความหมายแห่งคำสอนนี้ถ้าเอา "น้ำ" มาเปรียบเทียบจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำ มีคุณสมบัติเด่นคือ ความเย็น และ เหลว เราไม่อาจแยก "เหลว" ออกจาก "น้ำ" ได้ ฉันใด สมาธิ และปัญญาก็แยกจากกันมิได้ฉันนั้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้วอย่างชัดเจนว่า "สมาธิ นั่นแหละคือ ตัวจริง ของปัญญา ในเมื่อปัญญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตังของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปัญญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือกล่าวกลับกันว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปัญญาดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักดังนี้ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปัญญา ผู้ศึกษาไม่ควรไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันระหว่างคำว่า "สมาธิทำให้เกิดปัญญา" กับคำว่า "ปัญญาทำให้เกิดสมาธิ" การถือว่าความเห็นแยกกันได้นั้นย่อมสำแดงว่ามันมีอะไรแตกต่างเด่นๆ รู้ถึงสองฝักสองฝ่ายในธรรมะนี้" พุทธศาสนิกชนที่ศึกษาสมาธิของพระพุทธศาสนาต่างมีความเชื่อว่า สมาธิ และ ปัญญา เป็นเรื่องที่แยกจากกันและเป็นคนละส่วนกันแต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพราะเราเชื่อกันตามที่อรรถาจารย์ได้ตีความและแยกแยะออกมาว่า การปฏิบัติธรรมต้องมี "ศีล สมาธิ ปัญญา" เพราะความเชื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดอาการงมงายกันคนละแบบ บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งศีลนกลายเป็น "บ้าศีล" บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งสมาธิจนกลายเป็น "สมาธิบ้า" บางสำนัก บางอาจารย์ก็หลงไหลปัญญา จนกลายเป็น "ยโสโอหังมมังการ" "อาการบ้าศีล" มิได้มีแต่ในปัจจุบันสมัยเท่านั้น แม้แต่อดีตกาลคนบ้าศีลก็ปรากฏอยู่ทั่วไป คนเหล่านี้ไร้ปัญญาพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม เมื่อสมาทานศีล "ปาณาติปาตา" เว้นจากการฆ่าสัตว์น้ำก็ดื่มไม่ได้เพราะในน้ำมีชีวิตสัตว์ อากาศมีเชื้อโรคหายใจเข้าไปก็ฆ่าเชื้อโรค ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น คนบ้าศีล จึงอยู่ในโลกนี้ และตายไปความทุกข์ทรมาน อาการ "สมาธิบ้า" นับว่าอันตรายที่สุด เพราะนั่งกันจนเพลิดเพลินหลอกหลอนตัวเองงว่าได้พบ สวรรค์วิมาน ระลึกชาติได้ พบพระพุทธองค์ขนาดได้นั่งฟังพระพุทธองค์เทศนาให้ฟังจนบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อสำเร็จเป็นอรหันต์จึงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ต้องตายภายใน 7 วัน คนบ้าสมาธิจึงพากันฆ่า ลูก ฆ่าเมีย และตัวเองตายตกนรกไป ส่วนคน "บ้าปัญญา" ก็ไม่อาจแยกแยะให้เห็นสัจธรรมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ตามที่อาจารย์บอกเล่าแลยึดแต่คำสอนของอาจารย์เป็นสรณะ คำสอนอื่นๆ ไร้สาระ คนบ้าปัญญาไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง "ความรู้" กับ "ปัญญา" เพราะฉะนั้นจึงมีอาการน้ำล้นแก้ว ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นเลย ความจริงแล้ว "สมาธิ" และ "ปัญญา" ถ้าเข้าใจความสมดุลย์ถูกต้องย่อมยังประโยชน์มหาศาลแก่มนุษย์ แต่เพราะความเข้าใจผิดชีวิตของผู้ปฏิบัติสมาธิจึงมีความมืดอยู่ในความสว่าง เพราะเราพากันนั่งเฝ้าก้อนเนื้อกันมานานแล้วนานแสนนานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ แก่ตัวเองและผู้อื่นเลย
» มหาปัญญา
» อหังการ