ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เอกธรรมมรรค
เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงเห็นว่าถึงเวลาเผยแพร่ธรรมะจึงเดินทางมาถึงวัดฝ่าซิ่งแห่งนครกว่างตง ในขณะนั้นพระธรรมาจารย์อิ้นจงซึ่งเป็นเจ้าอาวาสกำลังเทศนาว่าด้วยมหาปรินิรวาณสูตร และธงริ้วกำลังโบกสะบัดพริ้วๆ พระภิกษุสองรูปก็โต้เถียงกันว่า "ผมว่าธงกำลังสั่นไหว" "หลวงพี่เข้าใจผิด แท้ที่จริงลมมันไหวต่างหาก" พระททั้งสองรูปต่างโต้เถียงไม่ยอมแพ้แก่กันและไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ เพราะต่างยึดถือความเห็นของตนเองเป็นใหญ่และถูกต้อง ท่านฮุ่ยเหนิงจึงเสนอข้อตัดสินว่า "ผมว่าท่านทั้งสองเข้าใจผิดแล้ว สิ่งที่สั่นไหวนั้นไม่ใช่ธงและลม แท้ที่จริงเป็นจิตของท่านทั้งสองต่างหาก" ที่ประชุมในขณะนั้นต่างตื่นตะลึงต่อถ้อยคำของท่านฮุ่ยเหนิงเจ้าอาวาสอิ้นจงจึงอาราธนาให้ขึ้นนั่งบนอาสนะอันสูง แล้วซักถามปัญหาสำคัญๆ ในพระสูตรต่างๆ เมื่อได้รับคำตอบอันชัดแจ้งซึ่งมีค่าสูงกว่าความรู้ที่ได้จากตำรา พระธรรมาจารย์อิ้นจงจึงกล่าวว่า "ท่านต้องเป็นบุคคลที่มิใช่ธรรมดา อาตมาได้ฟังข่าวมานานแล้วว่า บุคคลผู้ซึ่งได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรมะจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า บัดนี้ได้เดินทางลงมาทางทิศใต้เห็นทีท่านจะเป็นบุคคลผู้นั้นแน่แล้ว" ท่านฮุ่ยเหนิงแสดงกริยาตอบรับโดยอ่อนน้อม เจ้าอาวาสอิ้นจงจึงทำความเคารพและขอให้นำเอาผ้าและบาตรที่ได้รับมอบออกมาให้ที่ประชุมดูพร้อมทั้งซักถามว่า "เมื่อครั้งที่พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้ามอบธรรมะอันเร้นลับสำหรับพระสังฆปริณายกให้แก่ท่านนั้น ท่านได้รับคำสั่งสอนอย่างใดบ้าง" "นอกจากการชี้ให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณแล้ว ท่านมิได้ให้คำสอนอะไรเลย ท่านมิได้เอ่ยแม้คำว่าฌาณและวิมุติ" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบ "เอ๊ะ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น" อาจารย์อิ้นจงสงสัย "เพราะมันจะทำให้เกิดความหมายว่า มีหนทางขึ้นทั้งสองหนทาง ในทางพุทธธรรมจะมีสองทางไม่ได้ มันมีแต่ทางเดียวเท่านั้น" "ที่ว่ามีแต่ทางเดียวนั้นคืออะไร อาจารย์อิ้นจงถาม "ก็ในมหาปรินิรวาณสูตรที่ท่านเทศนาอยู่นั่นเองก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของทุกคน นั่นแหละคือทางเดียว ตัวอย่างตอนหนึ่งของพระสูตรนั้นมีว่าพระเจ้าเกากุ้ยเต๋อ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระภิกษุผู้ล่วงปาราชิกสี่อย่างหรือทำอนันตริยกรรมห้าอย่างและพวกมิจฉาทิฏฐินอกศาสนาก็ดี คนเหล่านี้จะได้ชื่อว่าถอนรากเง่าแห่งความมืดและทำลายธรรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตนเสียแล้วโดยสิ้นเชิงหรือไม่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า รากเง่าแห่งความดีนั้นมีอยู่สองชนิดคือ ถาวรตลอดอนันตกาล กับไม่ถาวร แต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นจะเป็นของถาวรตลอดอนันตกาลก็ไม่ใช่จะว่าไม่ถาวร ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นรากเง่าแห่งความดีของเขาจึงไม่ถูกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิง ท่านฮุ่ยเหนิงได้อธิบายสืบต่อไปว่า "บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพุทธธรรมมิได้มีสองทาง แต่ที่ว่ามีทางฝ่ายดีและฝ่ายชั่วนั้นจริงอยู่ แต่เหตุเพราะธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นของไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะฉะนั้นพุทธธรรมจึงไม่มีถึงสองทางตามความคิดของปุถุชนย่อมเข้าใจว่าส่วนย่อยๆ ของขันธ์และธาตุทั้งหลายย่อมแบ่งออกเป็นสองทาง แต่ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าสิ่งเหล่านั้นตามธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่เป็นของคู่เลย" เหตุแห่งปาราชิกมี 4 อย่างคือ 1. เสพสังวาสกับมนุษย์หรือสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือเป็นศพ 2. ฆ่ามนุษย์ 3. ขโมยหรือคดโกงทรัพย์ตั้งแต่ 1 บาสก 4. อวดธรรมวิเศษที่ไม่มีในตนเอง ความชั่วที่ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมมีอยู่ 5 อย่างคือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้เกิดสังฆเพทคือพระสงฆ์ แตกแยกและทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต กรรมทั้งห้าประการนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุด แต่ธรรมชาติของพระพุทธะก็มิได้ถอนทิ้งไปจากใครเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นผู้ที่เลิศฤทธิ์ ในอดีตชาติเคยกระทำ ปิตุฆาต และ มาตุฆาต คือฆ่าพ่อแม่ของตนเอง เพราะหลงคำยุยงของภริยาที่รังเกียจพ่อแม่ตาบอดพระโมคคัลลานะ จึงลวงพ่อแม่ของตนไปฆ่าด้วยการผลักตกเหว ด้วยอนันตริยกรรมในครั้งนั้นมีผลให้พระโมคคัลลานะต้องตกอยู่ในอเวจีนรกนับเป็นกัปกัลป์แต่เมื่อมาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะก็ได้บวชในพระพุทธศาสนาและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระโมคคัลลานะระลึกอดีตชาติได้อย่างนี้จึงยอมให้โจรจับแล้วทุบด้วยท่อนไม้จนกลายแหลกและละเอียดดับขันธ์ปรินิพพานแต่สภาวะแห่งธรรมญาณเดิมมิได้แหลกละเอียดไปด้วย กายเนื้อถูกทำลาย แต่เพียงอย่างเดียว ธรรมชาติของธรรมญาณ ไม่มีใครทำลายลงไปได้เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตก่อกรรมหนักเพียงใดก็ไม่มีผลแห่งการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของธรรมญาณเลย ธรรมญาณ เป็น ธรรมะอันแท้จริงของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นแต่เพียงหนทางเดียว มิได้เป็นหนทางคู่ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะดั้งเดิมของธรรมญาณ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า เพราะธรรมญาณ เป็น อสังขตธรรมไม่มีรูปลักษณ์ใดๆ เพราะเหตุนี้จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เลย หนทางอันแท้จริง ของธรรมญาณจึงเป็น "เอกธรรมมรรค"
» มหาปัญญา
» อหังการ