ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พระสูตรของท่านเว่ยหลาง

บรรลุอย่างฉับพลัน

นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณทรงเผยแผ่คำสอนอยู่ 45 พรรษา และถ่ายทอด "ประตูอนุตตรธรรม" แก่พระมหากัสสปะเพื่อรักษาสายธรรมะอันสูงสุดเอาไว้แต่เพียงท่านเดียว ภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว คำสั่งสอนได้เผยแผ่ออกไปทุกทิศานุทิศและแบ่งออกเป็นสองนิกายใหญ่ๆ โดยแผ่จากอินเดียทางเหนือเข้าสู่ประเทศจีนกลายเป็นมหายานและแตกออกเป็นนิกายต่างๆ อีกมากมาย ส่วนที่แผ่ลงมาทางใต้ของอินเดียนั้นล้วนเป็นภาษาบาลีและกลายมาเป็นหินยานซึ่งก็แบ่งออกเป็นหลายนิกายอีกเช่นกัน ทั้งสองนิกายใหญ่นี้มีจุดศูนย์รวมอยู่ที่การนับถือพระพุทธองค์เป็นพระศาสดาเหมือนกัน การสังคายนาคำสอนของพระพุทธองค์และจัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบจนกลายมาเป็นพระไตรปิฎก แปลว่าคัมภีร์สามอย่างคือ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของพระภิกษุ ภิกษุณี พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆ ไป พระอธิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะอันยิ่ง ในส่วนของพระวจนะของพระพุทธองค์ซึ่งกลายมาเป็นพระธรรมคำสอนนั้น มิใช่สภาวะแห่งการตรัสรู้แต่เป็นผลแห่งการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ "อนุตตรธรรม" เท่านั้น คำสอนในพระไตรปิฎกจึงเป็นเพียงความรู้ มิใช่ปัญญาอันแท้จริงที่ทำให้ตัดกิเลสทั้งปวงได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมีอยู่สองเรื่อง คือ พระโปฐิละ อันเป็นฉายาที่ได้มาจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญในคำสอนของพระพุทธองค์นำมาสั่งสอนผู้คนจนมีลูกศิษย์มากมาย แต่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "คุณใบลานเปล่า" และในที่สุดต้องไปหาศิษย์ซึ่งเป็นเณรอายุ 7 ขวบ ผู้บรรลุธรรมแล้วเพื่อปฏิบัติให้บรรลุธรรมด้วย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ พระอานนท์ พุทธอุปฐากซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้มีความจำดีเลิศ แต่ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่พระอานนท์มิได้บรรลุธรรมใดๆ เลย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วในเวลาสามเดือนได้เพียรพยายามปฏิบัติจนบรรลุได้ก่อนที่จะมีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งแรก คำสอนของพระพุทธองค์ที่ตกทอดกันมาแต่โบราณกาลจึงเป็นเพียงความรู้ ส่วนปัญญาตรัสรู้เป็นอีกสภาวะหนึ่งอันไม่สามารถบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาใดๆ ได้เลย แต่มีการถ่ายทอดสสายแห่งการตรัสรู้เพื่อเป็นการสืบสายอนุตตรธรรมไว้แต่เพียงสายเดียว นับแต่พระมหากัสสปะได้รับถ่ายทอดจากพระพุทธองค์และสิ่งต่อๆ กันมาตามลำดับ นับได้จนถึงพระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 พระโพธิธรรมได้เดินทางไปสู่ประเทศจีนจึงถือว่าเป็นองค์ที่หนึ่งของจีนและถ่ายทอดต่อไปจนถึงองค์ที่ 6 คือ ท่านฮุ่ยเหนิง หลังจากที่ท่านเจ้าอาวาสแห่งวัดฝ่าซิ่งได้สดับอรรถาธิบายจากท่านฮุ่ยเหนิงแล้วจึงกล่าวว่า "คำอธิบายพระสูตรที่ข้าพเจ้าอธิบายไปแล้ว ไร้ค่าเปรียบได้เช่นกองขยะมูลฝอยเกะกะไปหมด ส่วนคำอธิบายของท่านมีคุณเปรียบประดุจดังทองคำอันบริสุทธิ์" หลังจากนั้นท่านอิ้นจงจึงจัดการอุปสมบทให้ท่านฮุ่ยเหนิงได้เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาและขอร้องให้รับท่านเอาไว้เป็นศิษย์คนหนึ่งด้วย ท่านฮุ่ยเหนิงได้กล่าวว่าเป็นเพราะบุญสัมพันธ์แต่อดีตชาติบรรดาสาธุชนทั้งปวงจึงได้สดับคำสอนแห่ง "สำนักบรรลุฉับพลัน" อันเป็นคำสอนที่ได้สืบทอดต่อๆ ลงมาจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อนๆ มิใช่เป็นคำสอนที่ท่านคิดขึ้นเอง "ผู้ปรารถนาสดับพระธรรมชั้นแรกจึงควรชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ ครั้นได้ฟังแล้วจึงควรชะล้างความสงสัยให้เกลี้ยงเกลาไปเฉพาะตนเยี่ยงเดียวกับพระอริยะทั้งหลายที่ได้กระทำมาในกาลก่อน" การบรรลุอย่างฉับพลันอันถือเป็นต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนานิกายเซ็น ซึ่งแพร่หลายจากเมืองจีนเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นนั้นกล่าวได้ว่า คำสอนของท่านฮุ่ยเหนิงล้วนมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางนัก เพราะเป็นคำสอนที่มุ่งเข้าสู่จิตเพียงสถานเดียว มีปริศนาธรรมให้ใช้ปัญญาขบคิดจนกว่า ปัญญาของตนสว่างขึ้นมาเอง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแห่งความรู้แจ้งชัดในธรรมญาณของตน ตัวอย่างของปริศนาธรรมหรือ โกอาน มีอยู่มากมายล้วนแต่ต้องใช้ปัญญาและเวลาในการขบคิดบางเรื่องใช้เวลา สิบปี ยี่สิบปี ก็ขบไม่แตก แต่บางคนเพียงแวบเดียวก็สว่างไสวในธรรมญาณของตนเป็นผู้รู้แจ้ง ทันที บางอาจารย์ใช้วิธี "ตบและตี" จนปัญญาของศิษย์สว่างขึ้นมาก็มี "อาจารย์ครับ ธรรมะคืออะไร" ลูกศิษย์อาจารย์เซ็นถาม อาจารย์เซ็นไม่ตอบตรงๆ แต่กลับใช้ฝ่ามือฟาดเปรี้ยงจนลูกศิษย์ล้มคว่ำลงไป แต่ลูกศิษย์ก็ยังคงงงๆ อยู่อาจารย์จึงหยิบไม้เท้าฟาดโครมซ้ำลงไปอีกที คราวนี้ลูกศิษย์ร้องโอยและรู้แจ้งในทันทีว่า "ธรรมะคืออะไร" ความเจ็บตัวทำให้เกิดความรู้และ "บรรลุอย่างฉับพลัน" เพราะเกิดความเข้าใจในทันทีว่า "อ๋อ ตัวที่ร้องโอ๊ยและเจ็บก็คือ ธรรมญาณ นั่นเอง"

» เว่ยหล่าง หรือ ฮุ่ยเหนิง

» วิปัสสนาปัญญา

» จิตเดิมแท้

» อนุตตรสัมมาสัมโพธิ

» ต้นโพธิ์กับกระจกเงา

» โศลกอันลือเลื่อง

» ต้นธาตุ ต้นธรรม

» ศูนย์กลางจักรวาล

» ดวงตาเห็นธรรม

» สัจธรรมแห่งการกินเจ

» เอกธรรมมรรค

» บรรลุอย่างฉับพลัน

» มหาปรัชญาปารมิตา

» ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม

» สัมมาปัญญา

» กิเลสคือโพธิ

» มหาปัญญา

» เหมือนที่ต่าง

» ครูที่แท้จริง

» วิมุติปัญญา

» ความไม่ต้องคิด

» พ้นโง่-พ้นฉลาด

» มองหาความผิดตนเอง

» ทางที่ถูกต้อง

» มหาธรรมนาวา

» ติดบุญ-บาปพัวพัน

» อหังการ

» ดินแดนแห่งอมิตาภะ

» มนุษย์นคร

» แสงแห่งพระพุทธะ

» บำเพ็ญในครัวเรือน

» ถือศีลแต่ตกนรก

» ไหว้พระในบ้าน

» ความเป็นธรรม

» บัวสีแดงเหนือตมสีดำ

» เงินบังโพธิปัญญา

» นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ

» หลงสุขจึงไม่เห็นทุกข์

» สมาธิที่ถูกวิธี

» หลอกตัวเอง

» หลงข้ามภพข้ามชาติ

» ไม่ช้า-ไม่เร็ว

» หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย