ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
สัจธรรมแห่งการกินเจ
ภายหลังที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนแยกออกเป็นนิกาย "อาจารยวาท" หรือ "มหายาน" และขยายมาทางใต้ของอินเดียถือว่าเป็นเถรวาท หรือหินยาน ฝ่ายมหายานยึดหลักแห่งเมตตาธรรมมีวัตรปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือฉันภัตตาหารเจ คัมภีร์สำคัญของมหายาน 4 พระสูตรซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธวจนะ ได้บัญญัติห้ามการกินเนื้อสัตว์คือ หัสติกักสยะ, มหาเมฆะ, นิรวาณางคุลี มาลิกา แลละ ลังกาวตาร ท่านพุทธทาสได้แปลบางตอนในลังกาวตารสูตรมีความว่า "โอ มหาบัณฑิต ในวัฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการเวียนว่าย ในการเกิดอีก ตายอีก ไม่มีสัตว์แต่ตัวเดียวที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่ชาย น้องชาย พี่หญิงน้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์ สองเท้า สัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนกฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติ ของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนาจะทำลงไปได้อย่างไรหนอ จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาอยู่ก็ตาม ผู้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นภราดรของตน แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ" และอีกบางตอนมีความว่า "..เพราะฉะนั้น เนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเอง และผู้อื่น นักกินเนื้อย่อมเป็นเหยื่อแห่งโลกหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน ใครเจ็บในท้อง ฯลฯ โอ มหาบัณฑิต เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิตเป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป เต็มไปด้วย มลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง" และปัญหาที่ถกเถียงกันไม่เป็นข้อยุติคือ ระหว่างผู้ฆ่า กับผู้กิน ใครคือผู้รับบาป ในลังกาวตารสูตรได้กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า "เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตามเพื่อเงิน และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น ทั้งสองพวกได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบอกุศลกรรม จักจมลงในนรกโรรวะ และนรก ฯลฯ ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายหินยานยึดถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ.900 ได้กำหนดโดยอ้างว่าเป็นพระพุทธวจนะห้ามเสพเนื้อสัตว์สิบอย่างคือ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเนื้อเสือดาว นอกนั้นฉันได้แต่ต้องไม่อยู่ในข้อกำหนดอีกสามประการคือได้ยิน ได้เห็น และเจาะจง แต่ตามหลักฐานค้นพบใหม่กล่าวว่า พุทธศาสนาหินยานแต่เดิมนั้น มิได้ฉันเนื้อสัตว์ โดยมีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงลังกา 3 ครั้ง พระสายลังกาวงศ์แท้ จึงไม่เสพเนื้อสัตว์ แต่พอไปจากสยามวงศ์ในภายหลังจึงหันมาฉันเนื้อสัตว์ ปัญหาที่ค้างคาใจพุทธศาสนิกชนก็คือ พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ หรือไม่ ผู้ที่ตอบว่า "เสวย" กับ "ไม่เสวย" ต่างไม่เคยเห็นพระพุทธองค์เสวย เพราะฉะนั้นผู้ไปจึงเป็น "ทุวาจา" คือ คำพูดชั่วก่อนรกให้แก่ตัวเอง แต่มีข้อควรพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก อาหารสามมื้อของพระพุทธองค์เป็น ภัตตาหารมังสวิรัติ ทั้งสิ้น คือ ก่อนตรัสรู้เสวยข้าวมธุปายาส ซึ่งนางสุชาดานาถวายรุกขเทวดา ตรัสรู้แล้วนายวานิชสองพี่น้องนำข้าว สัตตุผงมาถวาย และมื้อสุดท้ายที่เป็นปัญหาคือ "สูกรมัทวะ" ที่นายจุนทะนำมาถวายนั้นแปลกันว่า "เนื้อสุกรอ่อน" เป็นคำแปลที่ผิดท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า "สิ่งที่หมูชอบ" คือเห็ดชนิดหนึ่งฝังอยู่ใต้ดินภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "ลูกบุก" ภาษาอังกฤษเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า Truffle มีสีดำกับสีน้ำตาล เวลาหาเห็ดชนิดนี้ต้องพาหมูไปด้วย เพราะจมูกหมูไวต่อกลิ่นเห็ดนี้เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า ภัตตาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์เป็นหมู หรือ เห็ด ประการที่สองปัญหาที่พระเทวทัตทูลขอต่อพระพุทธองค์ให้บังคับสาวกทั้งปวงฉันอาหารมังสวิรัติ และพระพุทธองค์ ทรงไม่อนุมัติตามคำขอนี้มาแปลความว่า พระภิกษุฉันอาหารเนื้อสัตว์เป็นปกติ ทำไมจึงไม่แปลความหมายว่า การที่พระพุทธองค์ทรงไม่อนุมัติเพราะการบังคับย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องด้วยการกินเป็นเรื่องเฉพาะตัวบังคับกินไม่ได้ถ้าหากกฎขึ้นมาแล้ว ย่อมมีผู้รักษากฎการกินเป็นเรื่องที่ต้องคุมตัวเองไม่มีใครคุมใครได้ ประการสุดท้ายพระพุทธองค์ทรงสอนเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้รักษาเบญจศีลซึ่งข้อที่หนึ่งคือ ห้ามเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เมื่อพระพุทธองค์สอนเช่นนี้ ย่อมปฏิบัติได้เป็นนิจศีลอยู่แล้ว หากเสวยเนื้อสัตว์ย่อมอยู่ในฐานะสอนอย่างหนึ่งแต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ย่อมถูกตำหนิติเตียนจากผู้คนของลัทธิอื่นอย่างแน่นอน ถึงจะกินโดยจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ลองใคร่ครวญจากคำพูดต่อไปนี้ "กินหมูก็อย่าหมายความว่าเป็นหมู ก็ไม่บาป" คนกินหมูพูดอย่างนี้ "หมูมันยินยอมพร้อมใจให้หมายอย่างนี้หรือ" คนไม่กินหมูตอบ การกินเนื้อกับกินผักเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่มีข้อยุติเพราะต่างก็มีเหตุผลของตนเอง เพราะฉะนั้นควรยุติปัญหานี้ด้วยการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันใครมีสติปัญญาเห็นอย่างไรก็กินไปตามที่ตนเองเชื่อเพราะตามสัจธรรมใครประกอบกรรมเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องมาทะเลาะกันด้วยความเห็นที่แตกต่างกันเลย เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงมาถึงตำบลเฉาซี คนใจบาป พยายามตามมาจองเวรเพื่อหวังทำลายล้าง ท่านฮุ่ยเหนิงจึงต้องหลบซ่อนอยู่ที่ ซื่อฮุยกับพวกพรานป่า นานถึง 15 ปี ช่วงเวลานี้ท่านก็พยายามสั่งสอนพรานป่าเท่าที่จะสอนได้ แต่บางเวลาพรานป่าใช้ท่านฮุ่ย- เหนิงนั่งเฝ้าตาข่ายดักจับสัตว์ พอเห็นสัตว์มาติดตาข่ายท่านก็ปลดปล่อยให้สัตว์นั้นรอดชีวิตไป ท่าฮุ่ยเหนิงกินเจเวลาหุงต้มอาหาร ท่านก็นำผักใส่ตะกร้าแล้วใส่ไปในหม้อต้มเนื้อของพรานป่า "และถ้าผักแกงรวมอยู่กับเนื้อจะทำอย่างไร" "เราก็จะเลือกกินแต่ผักอย่างเดียว" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบ ท่านฮุ่ยเหนิงบรรลุธรรมจึงแจ้งชัดในสุจธรรมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดมิได้มีความสงสัยในชาติกำเนิดสี่ภูมิวิถีหก ที่สรรพสัตว์ต้องไปเวียนว่ายเพราะฉะนั้นจึงตัดพันอันต้องเกี่ยวพันกันโดยการไม่กินเนื้อสัตว์ ประการสำคัญแสดงให้เห็นถึงมหาเมตตายอมลำบากด้วยตัวเอง แทนที่ให้สรรพสัตว์ทั้งปวงต้องทุกข์ยาก บาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ด้วยความอาฆาตพยาบาทและจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผักที่ท่านฮุ่ยเหนิงแช่ลงไปในหม้อต้มเนื้อของพรานป่าคงได้ชื่อว่า "ผักขะน้า" มาจนถึงทุกวันนี้
» มหาปัญญา
» อหังการ