ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑

ธรรมะประกอบกับจิต

  ( ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า ในจิตตุปปาทกัณฑ์ อันเป็นคำอธิบายภาคแรกของบทตั้ง นั้น อธิบายเพียง คำว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ( ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ) โดยอธิบายจิตตาม ๓ หัวข้อนั้น และ ในขณะเดียวกันก็อธิบายธรรมะประกอบกับจิตทีละข้อด้วยว่า จิตชนิดไหนมีธรรมะประกอบอะไรบ้าง. เฉพาะจิตดวงแรกได้ แสดงให้เห็นแล้วว่ามีธรรมะประกอบ ๕๖ ข้อ และจิตดวงต่อ ๆ ไปก็มีเท่ากันบ้าง มากกว่าบ้าง น้อยลงบ้าง จะนำมากล่าวจน หมดทุกอย่าง ก็ไม่มีหน้ากระดาษพอ. แต่มีข้อสังเกตที่ใคร่ฝากไว้แด่ท่านผู้รักการค้นคว้า คือในปัจจุบันนี้เรามักไม่เรียนอภิธรรม จากอภิธัมมปิฎก แต่เรียนตำราย่อเนื้อความแห่งอภิธรรมที่ชื่อว่า อภิธัมมัตถสังคหะ ท่านผู้อ่านภาษาบาลีได้ควรจะได้ติดตามสอบ สวนดูด้วย โดยตั้งใจเป็นกลาง ๆ อย่างปลงว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์นั้นถูกต้องดีแล้วหรือยังบกพร่อง อะไรอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเจตสิก ๕๒ นั้น ก็คือธรรมะประกอบกับจิต ๕๒ ประการนั่นเอง ในพระอภิธัมมปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้ จิตบางดวงมีธรรมประกอบถึง ๖๐ บางดวงก็มีไม่ถึง ควรจะได้สอบสวนเทียบเคียงดูว่า ที่ว่าเจตสิก ๕๒ นั้นสมบูรณ์ถูกต้องดี หรืออย่างไร หรือท่านรวมอะไรเข้ากับอะไร ตัดอะไรออก การด่วนลงความเห็นว่าอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์มี บกพร่อง ยังไม่เป็นการชอบ ควรจะได้ตรวจสอบค้นคว้าให้ละเอียดลออถี่ถ้วน ที่เสนอไว้นี้เพื่อให้ท่านผู้รักการค้นคว้าได้ พยายามขบคิดและสอบสวนเรื่องนี้ทำเป็นตำราขึ้น เพื่อเป็นทางเรืองปัญญาของผู้ใคร่การศีกษาต่อไป. ข้าพเจ้าผู้ทำหนังสือนี้ ยัง ไม่พร้อมที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเล่มนี้ ขอเสนอชักชวนผู้ชอบงานค้นคว้าให้ช่วยกันทำอีกส่วนหนึ่ง. ต่อไปนี้จะ แสดงจิตดวงอื่น ๆ จนจบชนิดของจิต และจะละเรื่องธรรมะที่ประกอบกับจิต แต่ละดวงไว้ไม่กล่าวถึง เพราะจะทำให้พระ- ไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนจบลงไม่ได้ใน ๑ เล่ม ตามที่ตั้งใจไว้ ).

แสดงจิตจากลำดับที่ ๑ ถึง ๘๙

  ( ต่อไปนี้จะแสดงจิต ๘๙ ชนิดโดยลำดับ จากที่ ๑ ถึง ๘๙ ความจริงโดยพิสดาร มีหลายร้อยหลายพัน และพึงทราบว่า จากลำดับที่ ๑ ถึง ๒๑ เป็นกุศลจิต ; จากลำดับที่ ๒๒ ถึง ๓๓ รวมเป็น ๑๒ เป็น อกุศลจิต ; จากลำดับที่ ๓๔ ถึง ๘๙ รวม ๕๖ เป็นอัพยากตจิต คือจิตที่เป็นกลาง ๆ อนึ่ง ในจิตที่เป็นกลาง ๕๖ นี้เป็นวิบาก จิต คือจิตที่เป็นผล ๓๖ เป็นกิริยาจิต คือจิตที่เป็นกิริยา ๒๐ ) ดังต่อไปนี้ :-

กุศลจิต ๒๑

๑. กามาวจร ( ท่องเที่ยวไปในกาม ) ๘

    ๑. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยโสมนัส ( ความดีใจ ) ประกอบด้วยญาณ ( ความรู้ ) เป็น อสังขาริก ( คือไม่ต้องมีสิ่งชักจูง จิตก็เกิดขึ้น ).

    ๒. จิตเหมือนข้อที่ ๑ แต่เป็นสสังขาริก ( คือต้องมีสิ่งชักจูง จิตจึงเกิดขึ้น ).

    ๓. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยโสมนัส แต่ ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.

    ๔. จิตเหมือนข้อที่ ๓ แต่เป็นสสังขาริก.

    ๕. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่ดีใจไม่เสียใจ ) ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.

    ๖. จิตเหมือนข้อที่ ๕ แต่เป็นสสังขาริก.

    ๗. จิตอันเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร ประกอบด้วยอุเบกขา แต่ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก.

    ๘. จิตเหมือนข้อที่ ๗ แต่เป็นสสังขาริก.

๒. รูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในรูป ) ๕

    ๙. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๑ ประกอบด้วยวิตก ( ความตรึก ), วิจาร ( ความตรอง ), ปีติ ( ความ อิ่มใจ ), สุข, เอกัคคตา ( ความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ).

    ๑๐. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๒ ประกอบด้วยวิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา.

    ๑๑. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๓ ประกอบด้วยปีติ, สุข, เอกัคคตา.

    ๑๒. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๔ ประกอบด้วยสุข, เอกัคคตา.

    ๑๓. จิตอันเป็นกุศล เนื่องด้วยฌานที่ ๕ ประกอบด้วยอุเบกขา (ความวางเฉย) กับเอกัคคตา.

        ( หมายเหตุ : มีเรื่องแทรกที่ใคร่อธิบายไว้ในเรื่องจิตอันเป็นกุศลฝ่ายรูปาวจรไว้ ประกอบประกอบการพิจารณาของผู้ใคร่การศึกษา คือการนับจำนวนจิตในรูปาวจรกุศล ที่นับไว้เพียง ๕ ในที่นี้ เป็นการนับ อย่างรวบรัดตามแบบอถิธัมมัตถสังคหะ แต่ถ้าจะแจกตามบาลีอภิธัมมปิฎก เล่มที่ ๓๔ นี้จริง ๆ ก็หลายร้อยหลายพัน ผู้ศึกษา อภิธรรมที่ไม่เคยนับตามอภิธัมมปิฎกเลย ก็อาจเข้าใจว่า รูปาวจรกุศลจิตมี ๕ เท่านั้น แท้จริงที่นับว่ามีขันธ์ ๕ นับตามฌาน ๕ และย่นย่อ ถ้านับอย่างพิสดารจะเป็นดังนี้ :-

    ๑. ท่านแสดงฌาน ๔ เรียกจตุกกนัย ( นัยที่มี ๔ )

    ๒. แล้วแสดงฌาน ๕ เรียกปัญจกนัย ( นัยที่มี ๕ )

    ๓. แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ( ดูปฏิปทา ๔ นัยแรกในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ) จตุตถปัณณาสถ์ หมวด ๕๐ ที่ ๑...หมายเลขที่ ๒.

    ๔. แล้วแสดงอารมณ์ ๔ ( ฌานเล็กน้อยมีอารมณ์น้อย, ฌานเล็กน้อยมีอารมณ์ไม่มีประมาณ, ฌานไม่มี ประมาณมีอารมณ์เล็กน้อย, ฌานไม่มีประมาณมีอารมณ์ไม่มีประมาณ )

    ๕. แล้วแสดงปฏิปทา ๔ กับอารมณ์ ๔ ผสมกัน เรียกว่าหมวด ๑๖ ( ๔?๔ = ๑๖ = โสฬสกะ )

    ๖. แล้วแสดงกสิณ ๘ ( ความจริงกสิณมี ๑๐ แต่ที่จะใช้เป็นอารมณ์ของรูปฌานได้ มีเพียง ๘ เว้นวิญญาณ กสิณและอากาสกสิณ )

    อรรถกถานับฌาน ๔ ฌาน ๕ เป็นหมวด ๙ ตั้งเกณฑ์เป็น ๑ ; คิดตามปฏิปทา ๔ตั้งเลข ๔ ; คิดตามอารมณ์ ๔ตั้งเลข ๔ ; คิดตามแบบผสมคือปฏิปทา ๔ กับอารมณ์ ๔ ตั้งเลข ๑๖ เมื่อนำเลขที่ตั้ง เป็นเกณฑ์ไว้มารวมกันจะได้ ๒๕, เลข ๒๕นี้ เมื่อนับตามฌาน ๔ จะได้ ๑๐๐ ( ๒๕?๔ = ๑๐๐ ), เมื่อนับตามฌาน ๕ จะได้ ๑๒๕ ( ๒๕?๕ = ๑๒๕ ) เพราะฉะนั้น เพียงนับธรรมดาทั้งฌาน ๔ และฌาน ๕ รวมกัน จะได้ฌานจิตถึง ๒๒๕ แต่ถือว่าฌาน ๔ รวมไว้ในฌาน ๕ จึงนับเพียง ๑๒๕ ก็ได้. คราวนี้เมื่อเอาอารมณ์ของฌานมาคูณ เช่น กสิณ ๘ ก็จะ ได้จิต ( ๑๒๕?๘ = ๑,๐๐๐ ) ดวง !

    แต่การแสดงอารมณ์ของฌานมิได้มีเพียงเท่านี้ ท่านยังแสดงอภิภายตนะ,วิโมกข์ ๓, พรหมวิหาร ๔, อสุภะ ๑๐. เมื่อเอาตัวเลขต่าง ๆ มาคูณเกณฑ์ ๑๒๕ ทุกประเภท แล้วนำมารวมกันจะได้ตัวเลขเป็นพัน ๆ ทีเดียว ทั้งตัวเลขเหล่านี้ อรรถกถาอัตถสาลินี ซึ่งแก้พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ก็นับให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย. จึงบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อให้เทียบเคียงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะกับอภิธัมมปิฎกแท้ ๆว่า มี ต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างเหมือนกัน ).

๓. อรูปาวจร ( ท่องเที่ยวไปในอรูป ) ๔

๑๔. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๑ )

๑๕. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๒ )

๑๖. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๓ )

๑๗. จิตอันเป็นกุศล ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ( จิตในอรูปฌานที่ ๔ ),

๔. โลกุตตระ ( จิตพ้นจากโลก ) ๔

๑๘. จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยโสดาปัตติมรรค ๑๙ จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยสกทาคามิมรรค

๑๙. จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยอนาคามิมรรค ๒๑ จิตอันเป็นกุศลที่เนื่องด้วยอรหัตตมรรค.

  ( หมายเหตุ : มีข้อที่น่าจะอธิบายแทรกไว้อีก คือเมื่อจบการแสดงอรูปาวจร- กุศลจิตแล้ว ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ได้ตั้งอธิบายกามาวจร, รูปาวจร และอรูปาวจรซ้ำอีก โดยตั้งเกณฑ์อิทธิบาท คือธรรม อันให้บรรลุความสำเร็จ ๔ ประการ คือฉันทะ ความพอใจ, วิริยะ ความเพียร, จิตตะ ความฝักไฝ่, วิมังสา การพิจารณาสอบ สวน แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คืออย่างเลว, อย่างกลาง, และอย่างประณีต ( ๔?๓ = ๑๒ ) นำมาประกอบกับกุศลจิตที่ เป็นกามาวจร, รูปาวจร และอรูปาวจร จนจบ. ครั้นถึงคราวแสดงกุศลจิตที่เป็นโลกุตตรธรรม ก็ตั้งเกณฑ์ฌาน ๔ และ ฌาน ๕ อันเป็นโลกุตตระ ( พ้นจากโลก ), แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ( ปฏิบัติลำบาก ตรัสรู้ได้ช้า, ปฏิบัติลำบาก ตรัสรู้ได้เร็ว, ปฏิบัติสะดวก ตรัสรู้ได้ช้า, ปฏิบัติสะดวก ตรัสรู้ได้เร็ว ), แล้วแสดงสุญญตะ ( ความว่างเปล่า ), แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ผสมกับ สุญญตะ, แล้วแสดงอัปปณิหิตะ ( ความไม่มีที่ตั้ง ) แล้วแสดงปฏิปทา ๔ ผสมกับอัปปณิหิตะ, ครั้นแล้วตั้งเกณฑ์การเจริญธรรม ที่เป็นโลกุตตระอีก ๑๙ ข้อ) รวมเป็น ๒๐ ข้อทั้งโลกุตตรฌาน. เมื่อตั้งเกณฑ์ ๒๐ ข้อ ตั้งเกณฑ์แจกรายละเอียดข้อละ ๑๐ จึงเป็นโลกุตตรจิตที่เป็นกุศล ๒๐๐ ดวง หรือ ๒๐๐ นัย ( ดูอรรถกถา หน้าพระ สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ซึ่งมีแสดงไว้ว่า กายวูปกาเสน จิตฺตวูปกาเสน เป็นคำนาม เมื่อเทียบกับ คุณศัพท์ วูปกฏฺฐ ) อนึ่ง การตั้งเกณฑ์ ๑๐ เพื่อนำมาคูณธรรมะ ๒๐ ข้อ คือ ๑. ปฏิปทา ๔ ล้วน ๆ ๒. สุญญตะล้วน ๆ ๓. สุญญตะกับปฏิปทาผสมกัน ๔. อัปปณิหิตะล้วน ๆ ๕. ปฏิปทา ๔ กับ อัปปณิหิตะผสมกัน รวม ๕ อย่าง คูณด้วยนัย ๒ คือฌาน ๔ นัยหนึ่ง ฌาน ๕ นัยหนึ่ง ๕?๒ = ๑๐ ดูอรรถกถาหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ หน้า ๒ เชิงอรรถหมายเลขที่ ๗ ต่อจากนั้นจึงแสดงมรรค ๔ ).

<< ย้อนกลับ  ||  หน้าถัดไป  >>

- อภิธรรม ๗ คัมภีร์
- ธัมมสังคณี
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายพระสูตร
- คำอธิบายเรื่องจิตเกิด
- การนับจำนวนจิต
- ธรรมะประกอบกับจิต
- อกุศลจิต ๑๒
- อัพยากตจิต ๕๖
- วิบากจิตฝ่ายอกุศล
- กิริยาจิต ๒๐
- คำอธิบายเรื่องรูป
- คำอธิบายบทตั้งอย่างย่อ


» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๒

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๔

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๕

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๖

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๗

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๘

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๙

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๐

» พระะอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๒

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย