ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑

      (เมื่อมาถึงอภิธัมมปิฎก ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจไว้ด้วยว่า ข้อความที่จะย่อต่อไปนี้ เป็นการกล่าว ถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่มีพาดพิงถึงบุคคล, เหตุการณ์ และเรื่องราวต่าง ๆ จะขออุปมาพอเข้าใจเป็นการเปรียบเทียบ คือบุคคล คณะหนึ่งเดินทางไปโดยรถยนต์ วินัยปิฎก เปรียบเหมือนการกล่าวถึงจรรยา มารยาทของบุคคลเหล่านั้น สุตตันตปิฎก เปรียบ เหมือนการกล่าวถึงเหตุการณ์ และบุคคล ตลอดจนข้อเตือนใจที่ได้พบปะระหว่างทาง ส่วนอภิธัมมปิฎก เลิกพูดถึงเรื่องบุคคล แต่ พูดถึงเครื่องยนต์กลไกในรถยนต์ หรือส่วนประกอบต่าง ๆในร่างกายจิตใจคน เป็นวิชาล้วน ๆ ซึ่งไม่มีนิทานหรือเรื่องสนุกอื่น ๆ ประกอบ โดยทั่วไปจึงรู้สึกกันว่า อภิธัมมปิฎกเข้าใจยาก แต่ถ้าสนใจศึกษาพิจารณาหรือทำความเข้าใจตาม โดยไม่กลัวความยาก จนเกินไป ก็จะเกิดความเพลิดเพลินในธรรม ในหลักวิชา. ตามที่ได้สังเกตมาผู้ศึกษาอภิธรรม มักจะติดใจเพลิดเพลินในความยาก แต่มีเหตุผลเกี่ยวโยงกันหลายแง่หลายมุม. เพราะฉะนั้น ในการย่อความต่อไปนี้ จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายเท่าที่สามารถจะทำได้ ข้อความใดไม่ชัด จะทำคำอธิบายไว้ในวงเล็บ ในเชิงอรรถ เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น.

      ความจริง คำว่า อภิธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมอันยิ่งนั้น มิใช่มีแต่ในอภิธัมมปิฎกเท่านั้น แม้ใน สุตตันตปิฎกก็มีอยู่ทั่วไป คือตอนใดพูดถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคลและเหตุการณ์ ตอนนั้นย่อมเป็นอภิธรรม ขอยกตัว อย่างข้อความในกินนิสูตร อันเป็นสูตรที่ ๓ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ และได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ ในเชิงอรรถ,หมายเลขที่ ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ามีภิกษุ ๒ รูป พูดไม่ลงกัน ใน อภิธรรม ภิกษุ ( ผู้หวังจะระงับข้อโต้เถียง ) พึงเข้าไปหาภิกษุที่ว่าง่ายกว่า พูดให้รู้ถึงความต่าง กันโดยอรรถะพยัญชนะ เตือนอย่าให้วิวาทกัน อันไหนถือมาผิดหรือเรียนมาผิด ก็พึงกำหนดไว้แล้วกล่าวแต่ที่ถูกธรรมถูกวินัย. คำว่าอภิธรรมในพระสูตรที่กล่าวนี้ อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่โพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ) ๓๗ ประการ มี สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง เป็นต้น มีอริยมรรค ( ทางหรือข้อปฏิบัติอันประเสริฐ ) ๘ อย่างเป็นที่สุด เมื่อโพธิปักขิยธรรม มีความหมายเป็นอภิธรรมได้ เราก็เห็นได้ชัดว่า เพราะมีเนื้อหาเป็นธรรมะล้วน ๆ นั้นเอง.

      ผู้ที่ทราบหลักการข้อนี้ จึงมองเห็นอภิธรรมได้ในเรื่องราวทุกอย่าง เป็นแต่ให้รู้จักถอดธรรมะ เป็นเท่านั้น ขอยกตัวอย่าง หลักธรรมในพระสูตร ที่มีลักษณะเป็นอภิธรรม คือเป็นหลักธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาอีกสักข้อหนึ่ง เพื่อให้เห็นความเกี่ยวโยงอย่างน่าสนใจในธรรมะ คือเรื่องเวทนา.

๑. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น มีชื่อเรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาโดยลำดับ เรื่องนี้เป็นการแบ่งตามข้อเท็จจริงธรรมดา.

๒. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนี้ จัดว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม นับว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ ทั้งสิ้น. ข้อนี้ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริง แต่ว่ามองในอีกแง่หนึ่ง คือแง่ที่ว่า ทนอยู่ไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นทุกข์.

๓. ในกรณีที่เวทนามีเพียง ๒ ข้อ คือพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กล่าวโดยนัยหนึ่ง เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์นั้น มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ สุข กับ ทุกข์. ก็เกิดปัญหาขึ้นว่าความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุขจะเอาไปไว้ ที่ไหน ตอบว่า ความรู้สึกเฉย ๆ จัดเข้าในสุข คือเมื่อไม่ทุกข์ ก็จัดเข้าในสุขได้ นี่ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงอีกแง่หนึ่ง.

๔. เกิดปัญหาขึ้นอีกว่า ทุกข์เป็นทุกข์นั้น ลงตัวอยู่แล้ว แต่สุขกับไม่ทุกข์ไม่สุข ทำไม จึงกลายเป็นทุกข์ไปได้ ก็จะต้องตอบย้อนไปหาเหตุผลข้อที่ ๒ อีก คือจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ทุกข์ ที่ชี้ไปถึงความ ทนอยู่ไม่ได้ เพราะสุขก็ไม่คงที่ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่คงที่ มีความแปรปรวนไปทนอยู่ไม่ได้ จึงจัดว่าเป็นทุกข์.

หลักวิชาดั่งกล่าวข้างบนนี้ เป็นการวิเคราะห์ตามแนวพระสูตรล้วน ๆ แต่ก็มีลีลาเป็น อภิธรรมอยู่ในตัว, เพราะฉะนั้น ธรรมะอันยิ่ง ธรรมะล้วน ๆ หรืออภิธรรมนั้นย่อมมีอยู่ แม้ในพระสูตร ถ้าเข้าใจความหมาย หรือ ถอดความได้ ).

 ||  หน้าถัดไป  >>

- อภิธรรม ๗ คัมภีร์
- ธัมมสังคณี
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายพระสูตร
- คำอธิบายเรื่องจิตเกิด
- การนับจำนวนจิต
- ธรรมะประกอบกับจิต
- อกุศลจิต ๑๒
- อัพยากตจิต ๕๖
- วิบากจิตฝ่ายอกุศล
- กิริยาจิต ๒๐
- คำอธิบายเรื่องรูป
- คำอธิบายบทตั้งอย่างย่อ


» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๒

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๔

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๕

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๖

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๗

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๘

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๙

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๐

» พระะอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๒

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย