ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑
อภิธรรม ๗ คัมภีร์
ชาวไทยนิยมเรียกอภิธัมมปิฎกว่า อภิธรรม๗ คัมภีร์ ก็เพราะอภิธัมมปิฎกแยกเป็นหัวข้อสำคัญ ๗ ข้อ คือ :-
๑. ธัมมสังคณี ว่าด้วยการ " รวมกลุ่มธรรมะ " คือจัดระเบียบธรรมะต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่มากมายมาไว้ในหัวข้อสั้น ๆ เทียบด้วยการนำเครื่องประกอบต่าง ๆ ของนาฬิกามาคุมกันเข้าเป็นนาฬิกาทั้งเรือน มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๔.
๒. วิภังค์ ว่าด้วยการ " แยกกลุ่ม " คือกระจายออกไปจากกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ เห็นรายละเอียด เช่น ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง แต่ละข้อนั้นแยกออกไปอย่างไรได้อีก เทียบด้วยการถอดส่วนประกอบของนาฬิกา ออกมาจากที่รวมกันอยู่เดิม มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๕.
๓. ธาตุกถา ว่าด้วย " ธาตุ " คือสิ่งที่เป็นต้นเดิมในทางธรรม ( โปรด เข้าใจว่า เป็นคนละอย่างกับธาตุทางวิทยาศาสตร์ เพราะทางธรรมมุ่งคติสอนใจ สิ่งที่เป็นต้นเดิมทางธรรม จึงมีความหมายตาม คติธรรม ) มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๖ อนึ่ง เล่มที่ ๓๖ นี้ ยังมีปุคคลบัญญัติรวมอยู่ด้วย.
๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วย " การบัญญัติบุคคล " โดยกล่าวถึงคุณธรรมสูง ต่ำของบุคคล เช่น คำว่า " สมยวิมุตฺโต " " ผู้พ้นเป็นคราว ๆ " คือบางคราวก็ละกิเลสได้ บางคราวก็ละไม่ได้ " อสมย- วิมุตฺโต " " ผู้พ้นตลอดไปไม่ขึ้นอยู่กับคราวสมัย " ได้แก่ผู้ละกิเลสได้เด็ดขาด เป็นต้น รวมอยู่ในเล่มที่ ๓๖ เป็นอันว่าเล่มที่ ๓๖ มี ๒ หัวข้อ.
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย " เรื่องของถ้อยคำ " คือการตั้งคำถามคำตอบ เพื่อชี้ให้ เห็นหลักธรรมที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๗.
๖. ยมก ว่าด้วย " ธรรมะที่เป็นคู่ " คือการจัดธรรมะเป็นคู่ ๆ โดยอาศัยหลัก การต่าง ๆ มี ๒ เล่ม คือเล่มที่ ๓๘ และ ๓๙.
๗. ปัฏฐาน ว่าด้วย " ที่ตั้ง คือปัจจัย ๒๔ " แสดงว่าอะไรเป็นปัจจัยของ อะไรในทางธรรม มี ๖ เล่ม คือเล่มที่ ๔๐, ๔๑, ๔๒, ๔๓, ๔๔ และ ๔๕ .
- อภิธรรม ๗ คัมภีร์
- ธัมมสังคณี
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม
- แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายพระสูตร
- คำอธิบายเรื่องจิตเกิด
- การนับจำนวนจิต
- ธรรมะประกอบกับจิต
- อกุศลจิต ๑๒
- อัพยากตจิต ๕๖
- วิบากจิตฝ่ายอกุศล
- กิริยาจิต ๒๐
- คำอธิบายเรื่องรูป
- คำอธิบายบทตั้งอย่างย่อ