ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารมอญพม่า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21
หน้า 5 >>>
พระยายุตราชา เป็นหลาน พระยายักขราชา ได้ราชสมบัติ คนทั้งหลายเรียก สมิงกำลัง
แปลว่าพระยากำพร้า ใจร้ายนัก มีแต่ทำการบาปหยาบช้า
มิได้คิดการกุศลและบำรุงพระพุทธศาสนา ครองราชย์เจ็ดเดือนก็สวรรคต ในปี จ.ศ.825
พระราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชยังเหลืออีกองค์หนึ่ง รามัญเรียกว่า วิสัทธราชา
ต่อมาเรียกพระยาท้าวได้ครองราชย์ ได้บำเพ็ญพระราชกุศล
และบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระสถูปน้อยใหญ่ สร้างอาราม
กุฎี พิหาร ถวายพระภิกษุนับประมาณมิได้ มีบุญญาธิการมาก
กษัตริย์ต่างเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายก็มาก
ข้างภุกามประเทศ พระเจ้าภุกามให้สร้างเมืองใหม่แล้วให้ชื่อว่า เมืองอังวะ
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิราวดี ฝั่งตะวันออก ตรงเมืองจะเกิงขาม
เหนือเมืองภุกามเก่าขึ้นมาทางประมาณห้าวัน เมืองพุกามนั้นพม่าเรียกว่า เมืองปะกัน
รามัญเรียก เมืองพะกำ แล้วพระเจ้าภุกามก็ยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองอังวะๆ
ก็เป็นเมืองหลวงในประเทศพม่าตั้งแต่นั้นมา
เมื่อขณะนางพระยาท้าวได้ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี
พระเจ้าอังวะทรงทราบว่า เจ้าแผ่นดินเมืองรามัญเป็นสตรีก็ดีพระทัยนัก
ปรารถนาจะได้รามัญประเทศเป็นเขตแดนของพระองค์
ล่อลวงนางพระยาท้าวให้เสด็จออกจากเมืองหงษาวดี
แล้วขุนนางพม่าก็จับพระนางไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ จึงตั้งพระนางเป็นพระอัครมเหสี
ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็อ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ
พระมหาปิฎกธะระ ราชบุตรเลี้ยงนางพระยาท้าว อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่
ได้ปรึกษาขุนนางรามัญทั้งปวง จะคิดอุบายพานางพระยาท้าวกลับมาครองกรุงหงษาวดีดังเก่า
จึงได้เที่ยวเทศนาในเมืองทุกตำบล
ขุนนางและราษฎรในเมืองอังวะก็นิยมนับถือจนมีชื่อเสียงปรากฏไป
ต่อมาได้เข้าไปเทศนาในพระราชวัง จึงได้พบกับนางพระยาท้าวยินดีนัก
ได้ตกลงกันที่จะเชิญเสด็จกลับมาเมืองหงษาวดี จึงคิดอุบายพาพระนางมาเมืองหงษาวดีได้
แล้วรามัญทั้งปวงก็มิได้นอบน้อมต่อพระเจ้าอังวะสืบไป
ต่อมา พระมหาปิฎกธารา คิดสงสัยตัวด้วยลักพานางพระยาท้าวลงไปนั้น
จะเกี่ยวข้องในข้ออทินาทานสิกขาบท เห็นว่าจะไม่บริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนา
จึงได้สึกออกมาแล้วนางพระยาท้าวก็ตั้งให้เป็นพระยาอุปราช
นางพระยาท้าวครองราชย์เมื่อภายหลังนี้ได้เจ็ดปี ก็มอบราชสมบัติให้แก่พระยาอุปราช
แล้วเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้ง ให้ก่อพระอุโบสถในที่ใกล้พระเจดีย์ร่างกุ้ง
ให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ใหญ่ แล้วให้เอาเงินมาชั่งหนักเท่าพระองค์
คิดเป็นราคาทองหนักยี่สิบห้าชั่ง ให้ช่างแผ่หุ้มพระเจดีย์ตแต่ยอดลงมา
แล้วตั้งราชบุรุษเป็นตัวนายใหญ่สี่คน นายรองสี่คน ไพร่ร้อยคนให้เป็นข้าพระปฏิบัติ
พระเกศธาตุร่างกุ้ง แล้วให้หล่อระฆังหนักร้อยเจ็ดสิบชั่งไว้สำหรับตีที่ลานพระเจดีย์
ได้ปักเสาศิลามีแป้นรายรอบพระเจดีย์ ฯลฯ
นางพระยาท้าวพระชนม์หกสิบห้าปีก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี จ.ศ.832
ในปีนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพมาตีเมืองทวายได้แล้วกวาดครัวเรือนทวายไปมาก
พระยาอุปราชมีชื่อว่าพระยาธรรมเจดีย์ เพราะเหตุทรงพระไตรปิฎก
พระองค์ชำนาญทั้งคดีโลกคดีธรรม มีพระราชศรัทธามาก
ออกไปตั้งพระราชวังอยู่ในทิศตะวันตกของพระมุตาว ต่อมาได้เสด็จไปเมืองร่างกุ้ง
ให้หล่อระฆังใบใหญ่ใบหนึ่งทองหนักแสนแปดหมื่นชั่ง ปากกว้างแปดศอก ลึกสิบศอก
สร้างไว้บริเวณพระเกศธาตุเจดีย์ พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
สิบสี่ปีก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี จ.ศ.853
ราชบุตรพระเจ้าธรรมเจดีย์ชื่อหัตถีราชา คนทั้งหลายเรียกว่าพระยาราม
ได้ฆ่าราชกุมารพี้น้องทั้งหลายเป็นอันมากด้วยเกรงจะชิงราชสมบัติ
ต่อมาจึงตั้งอยู่ในราชธรรมสิบประการ
จ.ศ.854 เกิดพายุใหญ่ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักพังลงมา
ลมพาไปตกถึงเมืองเสี่ยง พระยารามได้จัดแจงยกขึ้นดังเก่า พระชนม์ได้สี่สิบแปดปี
ก็สร้างพระเจดีย์สี่สิบองค์ล้อมพระเจดีย์ใหญ่ในเมืองร่างกุ้ง พระองค์พระชนม์ได้
หกสิบเจ็ดปีก็สิ้นพระชนม์ ราชบุตรชื่อพระธิโรราชาได้ครองราชย์
ตั้งอยู่ในยุติธรรมน้อยนัก
จ.ศ.892 พระเจ้าธิโรราชา ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ตีล่วงเมืองกาญจนบุรี
เมืองสุพรรณบุรี เข้าไปจนเห็นกำแพงกรุงศรีอยุธยา
แล้วเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สะดวกด้วยขัดสนสะเบียง จึงส่งทัพกลับกรุงหงษาวดี
พระชนม์ยี่สิบแปดปีก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี จ.ศ.901