ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประชุมพงศาวดาร

พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง

พงศาวดารมอญพม่า

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21

หน้า 3 >>>

พระองค์จึงตรัสถามกับนางว่า ถ้ารูปพระของนางประเสริฐแล้ว ทำให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้นางจึงจะรอดชีวิต ถ้าทำไม่ได้ก็จะให้สับกายเสียเป็นเจ็ดท่อน นางก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชา ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้านับถือคุณพระรัตนตรัยเป็นที่ยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง พระรัตนตรัยประเสริฐกว่าสิ่งทั้งหลายในโลก ด้วยเดชะ ความสัตย์ของข้าพเจ้าสองประการนี้ ขอให้พระรูปแปดองค์นี้ ลอยขึ้นไปในอากาศให้ถึงสำนักพระเจ้าแผ่นดิน ให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลก จบคำอธิษฐานพระพุทธรูปทั้งแปดองค์ก็ลอยขึ้นไปบนอากาศ ที่พระพุทธรูปลอยนั้นต่อมาคนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ลงไว้ รามัญให้ชื่อว่า ตีละบอเติน คำไทยว่า พระบินขึ้น พระเจดีย์นั้นอยู่ข้างทิศตะวันออกของวัดปะลองซอน พระพุทธรูปทั้งแปดให้ลอยออกไปทางทิศตะวันตก ณ ที่ซึ่งพระพุทธรูปทั้งแปดลอยกลับออกมา ต่อมาคนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ชื่อว่า กะยัดปอ แปลว่า พระบิน ตำบลที่พระพุทธรูปทั้งแปดองค์ลงประดิษฐานนั้น เรียกว่า ตำบลกะยัดปอซอ คำไทยว่า พระลง พระเจ้าดิสราชาได้เห็นคุณของนางเป็นที่ประจักษ์ จึงตั้งนางเป็นพระอัครมเหสีให้ชื่อว่า สมเด็จพระภัทราราชเทวี พระนามยังปรากฎอยู่ถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าดิสราชาก็รู้คุณพระพุทธศาสนา จึงให้เที่ยวเก็บพระพุทธรูป ซึ่งหักพังมากองไว้แล้วได้พระเกศธาตุองค์หนึ่ง จึงก่อพระเจดีย์สวมพระพุทธรูปทั้งปวงไว้ แล้วบรรจุพระเกศธาตุไว้ในพระเจดีย์นั้น ให้ชื่อว่าพระโวรต แปลว่ากองแก้ว ต่อมาชื่อเปลี่ยนไปเรียกว่า กะยัดกลอมพะโว แปลว่า พระร้อยกอง ต่อมาชื่อเปลี่ยนไปอีกเรียกว่า กะยัดกลอมปอน แปลว่า พระเจดีย์ร้อยอ้อม ชื่อนั้นปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ ครั้นพระเจ้าดิศราชาทิวงคตแล้ว เมืองหงษาวดีสิ้นวงศ์กษัตริย์รามัญ ร้างเป็นป่าไปครั้งหนึ่ง

กาลต่อมากษัตริย์พม่าชื่อว่า พระเจ้าอลังคจอสู่ เป็นใหญ่ในภุกามประเทศ ยกกองทัพมาตีเมืองหงษาวดีกับเมืองสเทิมได้ เสด็จประพาสป่าชื่อตำบลเมาะตมะ เห็นภูมิฐานสนุกจึงให้สร้างเมืองลง ณ ที่นั้น ให้ชื่อว่า เมืองเมาะตมะ แล้วตั้งแขกผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมือง จากนั้นเสด็จลงไปประพาสป่า ณ ชายทะเลฝั่งตะวันออก ถึงตำบล ตะแว มีต้นทุเรียนมาก จึงให้สร้างเมือง ณ ที่นั้นให้ชื่อเมือง ตะแว คือ เมืองทะวาย ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งให้เป็นเจ้าเมือง กับไพร่พลพอสมควร แล้วกวาดครัวรามัญเมืองหงษาวดี เมืองสเทิมไปเมืองภุกาม ทั้งสองเมืองก็ร้างไป เมืองทวายที่สร้างไว้ให้พวกพม่าอยู่นั้น คนในเมืองพูดภาษาพม่า ต่อมาภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ว่าพม่าพอฟังได้ ภาษาทวายนั้นไม่เหมือนกับภาษารามัญ



จ.ศ.630 พระเจ้าอลังคจอสู่สวรรคตไปแล้ว พระเจ้าภุกามองค์ใหม่ ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งชื่อ สมิงอะขะมะมอญ ลงมาสร้างเมืองหงษาวดี รวบรวมพวกรามัญในที่ต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองหงษาวดีให้เป็นปกติดังเก่า ต่อมาสมิงอะขะมะมอญคิดขบถต่อพระเจ้าภุกาม แล้วได้ครองเมืองพะโค คือเมืองหงษาวดี ไม่ได้ขึ้นแก่เมืองพุกาม เชื้อวงศ์สมิงพม่าสามองค์ได้เสวยราชย์ในเมืองหงษาวดี เมื่อสมิงตะยาพยาได้เสวยราชย์นั้น ปี จ.ศ.634

มีมอญรามัญคนหนึ่งชื่อมะกะโท เป็นชาวเมืองเมาะตมะ เป็นคนมีวาสนามีทรัพย์มาก มิตรสหายก็มีมาก เข้ามาทำราชการอยู่ในสมเด็จพระร่วงเจ้า ณ เมืองศุโขทัย แล้วหนีกลับมาเมืองเมาะตมะ จ.ศ.643 คิดขบถจับ อสิมามางเจ้าเมืองเมาะตมะฆ่าเสีย แล้วได้เป็นใหญ่ในเมืองเมาะตมะ มีอานุภาพมาก หัวเมืองรามัญทั้งปวงยำเกรง แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมิงวาโร คำไทยเรียกพระเจ้าฟ้ารั่ว

จ.ศ.646 พระเจ้าฟ้ารั่วให้สร้างปราสาทในเมืองเมาะตมะ เป็นปฐมกษัตริย์ในเมืองเมาะตมะ

จ.ศ.655 พระเจ้าฟ้ารั่วได้ช้างเผือกผู้ช้างหนึ่ง ชาวเมืองทั้งปวงจึงเรียกพระองค์ว่า ตะละจงพะต่าง แปลว่า พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าตะยาพยากับ พระเจ้าฟ้ารั่วส่งเครื่องบรรณาการไปมาถึงกัน ตั้งสัญญากันไว้ว่า ถ้าพม่ายกกองทัพลงมาเมื่อใดให้ยกไปช่วยกัน อย่าให้พม่าย่ำยีรามัญสืบต่อไปได้

อ่านต่อ หน้า 4 >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย