ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารมอญพม่า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21
หน้า 11 >>>
จ.ศ.1102 มะยวน ขุนนางพม่า คือ มองซวยตองกะยอ ซึ่งมาครองเมืองหงษาวดี แต่ปี
จ.ศ.1099 รามัญทั้งหลายเรียกว่า มังสาอ่อง คิดขบถต่อพระเจ้าอังวะ
จะตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี จึงคบคิดกับขุนนางพม่า
และขุนนางมอญหลายคน ขุนนางรามัญคนหนึ่ง ชื่อ ธอระแซงมู
เป็นนายกองช้างได้ปรึกษากับรองปลัด และยกกระบัตร มีหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ
จึงตรัสสั่งให้มังมหาราชา กับมังรายองค์เนิน เกณฑ์ไพร่พลหนึ่งหมื่น
ยกกองทัพไปจับมังสาอ่อง ๆ หนีไปอาศัยอยู่ในหัวเมืองทะละ
เจ้าเมืองทะละจับตัวส่งมังมหาราชา ๆ เอาตัวไปฆ่าเสียที่เมืองหงษาวดี
มังมหาราชาจึงตั้งให้มังรายองค์เนินครองเมืองหงษาวดีต่อไป ต่อมามังรายองค์เนินโลภ
ข่มเหงราษฎรได้รับความเดือดร้อน
จ.ศ.1102 เดือนยี่ มีชายผู้หนึ่งเป็นชาติเซมกวย
บวชเป็นภิกษุมาช้านานในเมืองหงษาวดีใกล้บ้านอเวิ้ง ซึ่งมีพวกเงี้ยวอยู่ประมาณ
สามร้อยเศษ เมื่อสึกจากภิกษุ เจ้าเมืองหงษาวดีเก่าตั้งให้เป็นพระยาชื่อ สมิงธอกวย
พวกเซมกวยพูดภาษาไม่เหมือนภาษารามัญ เป็นชาวป่าอยู่นอกเมืองหงษาวดี
สมิงธอกวยเป็นคนมีวิชาเป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง พวกรามัญชาวเมืองรักใครมาก
สมิงธอกวยได้คุมพวกเซมกวยประมาณ สามพันคนเศษ ครั้นเห็นมังรายองค์เนินข่มเหงราษฎรนัก
จึงยกพวกมาตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลเภานักที่นอกเมืองหงษาวดี
ส่วนธอระแซงมูรู้เหตุจึงมีหนังสือออกไปนัดหมายกับสมิงธอกวย กำจัดมังรายองค์เนินเสีย
เมื่อกำจัดได้แล้ว สมิงธอกวยได้เป็นเจ้าเมืองหงษาวดี เมื่อปี จ.ศ.1103
ธอระแซงมูยกบุตรสาวชื่อมียายเสมให้เป็นภรรยาสมิงธอกวย
สมิงธอกวยได้ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี มีพระนามว่า พระยาพธิโรราชา จึงตั้งธอระแซงมู
เป็นที่พระยาสัสดีแม่กองเลข ต่อมาได้ตั้งให้เป็นเจ้ามหาเสนาบดี
เป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิขาดในรามัญประเทศทั้งปวง
พระเจ้าหงษาวดีมีเมืองขึ้นสามสิบสองหัวเมือง
พระเจ้าอังวะทราบข่าวจึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวง
จะยกกองทัพไปจับสมิงธอกวยกับธองแซงมูฆ่าเสีย
พวกโหรทำฎีกาถวายว่า ในสิบสองปีนี้เป็นคราวชะตาเมืองอังวะตก
พวกรามัญทั้งหลายเป็นคราวชะตาขึ้น ถ้ายกทัพไปทำสงครามกับรามัญจะไม่มีชัย
พระเจ้าอังวะจึงรับสั่งให้มังมหาราชายกกองทัพไปตั้งอยู่เมืองแปร
รามัญเรียกเมืองปรอน อันเป็นพรมแดนรามัญกับพม่าต่อกัน เพื่อเป็นการขัดตาทัพไว้ก่อน
ครั้งนั้นเจ้าเมืองเมาะตมะชื่อมังนราจอสูเป็นชาติพม่ากลัวมอญเมาะตมะ
จะฆ่าเสียจึงพาครอบครัวและพวกพ้องหนีไปอยู่กับมังลักเวเจ้าเมืองทวายอันเป็นชาติพม่าด้วยกัน
พระเจ้าหงษาวดีทราบเรื่อง จึงให้มีหนังสือไปถึงกรมการเมืองทวายทั้งปวง
ให้ส่งมังนระจอสู กับมังลักเวขึ้นมา ณ เมืองหงษาวดี
มิฉะนั้นจะให้กองทัพลงไปตีเมืองทวาย
กรมการเมืองทวายรับหนังสือก็ตกใจคิดจะจับทั้งสองคนดังกล่าว
ทั้งสองคนรู้เหตุนั้นจึงอพยพครอบครัวหนีลงไป ณ เมืองตะนาวศรี
อันเป็นเขตแดนพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เจ้าเมืองตะนาวศรีมีหนังสือบอกเข้าไป ณ
กรุงศรีอยุทธยา จึงมีรับสั่งให้ส่งทั้งสองคนกับพวกพ้องทั้งปวงเข้าไปกรุงศรีอยุทธยา
แล้วให้ปลัดเมืองทวายกับเจ้าเมือง ตะนาวศรีกำกับกันยกกองทัพออกมารักษาเมืองทวายไว้
พระเจ้าหงษาวดีทราบเรื่องจึงคิดว่าจะสู้พม่าแต่ด้านเดียวก่อน
จึงจัดเครื่องราชบรรณาการให้เจ้าเมืองเร นำลงมาถึงเจ้าเมืองตะนาวศรี
และให้นำเจ้าเมืองเรเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา
แล้วพระเจ้าหงษาวดีจัดกองทัพบกกองทัพเรือ ยกขึ้นไป ณ เมืองปรอน
เพื่อจะตีทัพมังมหาราชา แล้วจะเลยไปติดเมืองอังวะ
ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบเรื่องว่ามังนราจอสู กับมังลักเว
หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระองค์จึงให้แต่งพระราชสาส์นขอบพระคุณ
พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา กับเครื่องราชบรรณาการมอบให้ราชทูตลงไป ณ กรุงศรีอยุทธยา
พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงจัดราชทูตไทยสามนาย
นำพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรรณาการตอบไปพร้อมราชทูตพม่า
เดินทางไปทางปลายแดนเมืองตองอู
ขณะนั้นพระยาหงษาวดีขึ้นไปตั้งค่ายประชิดเมืองปรอนอยู่
ยังไม่แพ้ชนะกับมังมหาราชา พอขาดเสบียงลงจึงให้เที่ยวแยกย้ายหาเสบียง
มีกองหนึ่งมาจนถึงแดนเมืองตองอู
พวกรามัญรู้จับได้ไพร่พม่าสองคนในขบวนราชทูตมาถวายพระเจ้าหงษาวดี
เมื่อสอบถามได้ความว่า
พระเจ้าอังวะให้ราชทูตไปขอกองทัพไทยขึ้นมาช่วยป้องกันเมืองอังวะก็ตกพระทัย
จึงเลิกทัพกลับเมืองหงษาวดี