ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประชุมพงศาวดาร

พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง

พงศาวดารมอญพม่า

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21

หน้า 2 >>>

ขณะนั้นสมเด็จพระอัมรินทราธิราช ได้ทราบความดำริของราชกุมารทั้งสอง ก็ทรงระลึกถึงพุทธพยากรณ์ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์นครวัฒกี มาถามราชกุมารทั้งสองว่าปรึกษากันด้วยการสิ่งใด ราชกุมารทั้งสองก็แจ้งให้ทราบ นครวัฒกีจึงบอกว่าการทั้งนี้ไว้เป็น พนักงานของเรา

นครวัฒกีมองไปดูเห็นประเทศข้างทิศตะวันออกที่หงษ์ทองจับอยู่เป็นชัยภูมิที่เหมาะ แต่ประเทศที่นั้นสจาตทุโล กับพวกแขกสิบเจ็ดคนไปตั้งรักษาอยู่เดิม และบอกว่าตำบลนี้เป็นของเรา และได้แจ้งที่มาของเรื่องแต่เดิมให้ทราบว่าได้ครั้งที่ตำบลนี้เป็นทะเลลึกได้สิบสามวา พระเจ้าบัณฑุราเยนได้ให้เอาเสาศิลามาทิ้งไว้ท่อนหนึ่ง ยาวเจ็ดศอกใหญ่ห้ากำจารึกอักษรศักราชไว้ นครวัฒกีจึงตอบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการทำภายหลังเรา เราได้จดหมายจองไว้ เมื่อน้ำยังลึกได้ยี่สิบสามวา โดยได้เอาเสาทองคำท่อนหนึ่งยาวเจ็ดศอก กว้างเจ็ดกำ จารึกอักษรมาทิ้งไว้เป็นสำคัญมีแจ้งอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะแสดงของสำคัญ ก็กล่าวอ้างแก่กับในวันรุ่งขึ้น ในคืนวันนั้นสมเด็จอัมรินทราธิราชจึง นฤมิตเสาทองคำแท่งขึ้นท่อนหนึ่ง พร้อมด้วยจารึกศักราชไว้ลึกลงไปใต้เสาศิลาของพวกแขกอีกสิบวา

วันรุ่งขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายมาพร้อมกันแล้ว สจาตทุโลจึงให้พวกแขกขุดลงไปลึกสิบสามวา เอาเสาศิลาขึ้นมาแสดงหลักฐาน ฝ่ายนครวัฒกีก็ให้พวกมอญขุดลึกลงไปอีกสิบวา เอาเสาทองคำขึ้นมาแสดงให้เห็นพร้อมทั้งจารึกศักราช สจาตทุโลจึงยอมแพ้ สถานที่ที่ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันนั้น เป็นกลางเมืองเรียกว่า อินทจักรเมือง ต่อมาได้สร้างพระสถูปลงไว้ ณ ที่นั้นเรียกว่า ยัดเติง คือ พระเจดีย์เห็นหลัก ฝ่ายสจาตทุโลกับพวกก็พากันไปตั้งอยู่ ณ ตำบลแห่งหนึ่ง รามัญเรียกว่า ตายคะลา คำไทยว่า โรงแขก



พระอินทรให้พวกมอญเอาเสาทองคำไปฝังไว้ข้างทิศใต้ ต่อมาพวกรามัญได้ก่อพระสถูปบรรจุพระเกษาธาตุไว้องค์หนึ่งเรียกว่า พระเจดีย์ได้ชนะ จากนั้นก็เริ่มสร้างพระนคร โดยเอาสถานที่ได้เสาทองคำขึ้นมา ที่หงษ์ทองทั้งคู่เคยจับอยู่นั้น ให้เป็นอินทจักรกลางเมือง สร้างกำแพง ค่าย คู ประตู หอรบ พระราชวัง ปราสาททองเรือนยอดเสร็จแล้ว สมมตินามชื่อ เมืองหงษาวดี ได้ราชาภิเษกสมลราชกุมารผู้พี่ด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี เมื่อศักราชในตติยปริเฉทได้ 514 ปี พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ 1116 พรรษา สมลราชกุมารเป็นปฐมกษัตริย์ทรงพระนาม พระเจ้าสักรทัต วิมลกุมารผู้เป็นอนุชา ทรงพระนามพระเจ้าสักตรทัดที่สอง และได้มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกสิบเจ็ดพระองค์ สืบมาได้ร้อยห้าสิบปี ทั้งสิบหกพระองค์แรกล้วนทรงพระราชศรัทธา บำรุงพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ และทศกุศลธรรมบท สร้างพระอุโบสถวิหาร การเปรียญ กุฎี ศาลา อาราม พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ ปลูกต้นไม้ศรีมหาโพธิ ตั้งความเพียรเรียนภาวนา รักษาศีล มีเมตตาจิต ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาถึงกษัตริย์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่สุดวงศ์องค์ที่สิบเจ็ด ทรงพระนามพระเจ้าติสราชา กลับถือทิฐิไปเลื่อมใสในลัทธิเดียรถี ไม่นับถือพระรัตนตรัย นับถือแต่เทพารักษ์ แล้วตรัสให้ราชบุรุษเก็บเอาพระพุทธรูปทั้งปวงไปทิ้งเสียในแม่น้ำคงคา

มีนางกุมารีคนหนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีอยู่ในเมืองหงษาวดี ชื่อนางภัทรา มีจิตรเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ และรักษาศีลบำเพ็ญทานมิได้ขาด วันหนึ่งขณะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ได้คลำพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ปิดทองอร่ามงามนักจึงถามทาสีว่า เหตุใดพระพุทธรูปจึงมาจมน้ำอยู่เช่นนี้ นางทาสีก็บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินตรัสสั่ง และถ้าผู้ใดนมัสการบูชาพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ และนับถือคุณพระรัตนตรัยแล้ว ถ้าพระองค์ทราบจะให้จับฆ่าเสีย นางภัทราได้ฟังแล้วก็คิดว่าเราจะสู้เสียสละชีวิตถวายพระรัตนตรัยแล้ว จึงชวนทาสีที่เป็นบริวารงมพระพุทธรูปได้หลายองค์ยกไปตั้งไว้ในศาลา ตำบลที่นางภัทราคลำถูกพระพุทธรูปนั้น ต่อมาเรียกเป็นภาษารามัญว่า กยัดสะโปดเถาะ แปลเป็นไทยว่า ที่คลำถูกพระ

พระเจ้าดิสราชาทรงทราบก็ทรงโกรธ จึงตรัสให้ไปจับตัวนางภัทรา ขณะนั้นนางยังชำระล้างพระพุทธรูปไม่แล้ว ปรารถนาจำทำกุศลให้สำเร็จ นางจึงให้แหวนเพชรมีราคามากวงหนึ่งแก่ราชบุรุษ ขอผลัดแค่ให้พอชำระล้างพระพุทธรูปแล้ว จึงจะยอมไปตามรับสั่ง ราชบุรุษก็ยอมรออยู่ พระเจ้าดิสราชาจึงให้ราชบุรุษไปอีกพวกหนึ่ง นางขัดไม่ได้จึงยอมมา พระเจ้าดิสวาราตรัสถาม นางก็รับเป็นสัตย์ พระองค์จึงให้ฆ่านางเสียโดยให้พานางออกไปที่แจ้ง แล้วให้เอาช้างซับมันมาแทง นางจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วแผ่เมตตาไปในพระเจ้าแผ่นดิน และควารญช้าง บริกรรมภาวนาว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ แต่เท่านี้ ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย คุณเมตตา บันดาลให้ช้างสะดุ้งตกใจกลัว ร้องอื้ออึงแล้วหนีไป พระองค์จึงให้พานางไปฝังลงในหลุมเพียงอก คลุมด้วยฟางข้าวเอาเพลิงจุดเผา นางก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย บริกรรมภาวนา แผ่เมตตาไปเหมือนเดิม เพลิงก็ไม่เป็นอันตราย

อ่านต่อ หน้า 3 >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย