ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประชุมพงศาวดาร

พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง

พงศาวดารมอญพม่า

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21

หน้า 10 >>>

จ.ศ.1024 พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ จากขุนนางรามัญในเมืองเมาะตมะ เมืองจิตตอง และขอให้กองทัพกรุงศรีอยุทธยายกออกมา พวกรามัญทั้งปวงจะช่วยเป็นกำลัง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงจัดทัพเป็นสองฝ่าย ให้เจ้าพระยาโกษาเสนาบดี เป็นแม่ทัพบกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปยั้งอยู่เมืองเมาะตมะทัพหนึ่ง ให้พระยากำแพงเพชร เป็นแม่ทัพยกไปทางด่านบ้านระแหง ไปบรรจบกันที่เมืองเมาะตมะ ให้พระยาสีหราชเดโชขึ้นไป ณ เมืองเชียงใหม่ เกณฑ์พวกลาวเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร เข้ากองทัพ ยกออกไปข้างด่านเชียงใหม่ให้ถึงเมืองจิตตอง แล้วให้เกณฑ์รามัญเมืองจิตตองเข้ากองทัพ แล้วยกไปสมทบกองทัพหลวงที่เมืองเมาะตมะ พวกรามัญทั้งปวงชวนกันมาเข้ากองทัพไทยเป็นอันมาก แม่ทัพใหญ่จึงให้ยกไปตีเมืองหงษาวดี เมืองเสรียง เมืองร่างกุ้ง ก็ได้โดยง่าย พม่าเจ้าเมืองพากันหนีกลับไปเมืองอังวะ เจ้าพระยาโกษาเสนาบดี จึงจัดพลไทยพลรามัญออกเป็นทัพเรือทัพบก ขึ้นไปจากเมืองร่างกุ้ง ตีหัวเมืองรามัญเมืองพม่าทั้งปวงแตกสิ้น จนถึงเมืองปะกันคือเมืองภุกาม อันเป็นเมืองหลวงเก่า ให้ตั้งค่ายประชิดเมืองภุกาม พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้ราชบุตรมังจาเล เจ้าเมืองจาเล ทิ้งเมืองจาเลเสีย แล้วถอยขึ้นมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพุกามด้วยเมืองนั้นกำแพงเมืองมั่นคงนัก กองทัพไทยจะหักเข้าไปมิได้

ขณะนั้นแว่นแคว้นเมืองอังวะข้าวแพงนัก เกิดเจ็บไข้ตายก็มาก พวกกองทัพขัดสนเสบียงจึงล่าทัพกลับไป พวกรามัญทั้งหลายชวนกันอพยพครอบครัวตามไป พระเจ้าอังวะจึงให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนยกกองทัพลงมา ณ รามัญประเทศ ให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมรามัญทั้งปวงให้เข้าอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน และห้ามปรามกันสิทธิขาดไม่ให้ขุนนางพม่าข่มเหงมอญสืบไป ครั้นนั้น พวกมอญค่อยได้ความสุข ขุนนางพม่าทั้งปวงก็จัดพลพม่า แยกย้ายกันไปรักษาหัวเมืองรามัญทั้งปวงไว้ หัวเมืองรามัญทั้งปวงก็กลับไปขึ้นแก่พระเจ้าอังวะเหมือนแต่ก่อน



จ.ศ.1025 เดือนสิบได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ได้อังคาสเลี้ยงพระสงฆ์สามเมืองคือ เมืองเสี่ยง เมืองพะโค เมืองร่างกุ้ง พวกเจ้ามังรายกะยอปรารถนา จะลงมาเยี่ยมเยือน หัวเมืองรามัญทั้งปวง ได้เสด็จลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง แล้วสั่งให้ราชบุรุษออกไปสอดแนมจากราษฎรทั้งปวงว่า ในหัวเมืองมอญจนถึงเมืองทวาย ถ้าเจ้าเมืองและขุนนางผู้ใดสงเคราะห์ราษฎรโดยสุจริต ราษฎรสรรเสริญก็ให้มารับพระราชทานรางวัล และยศศักดิ์เพิ่ม ถ้าทำให้ราษฎรเดือดร้อน ก็ลงโทษตามโทษานุโทษ ครั้งรามัญทั้งปวงชวนกันสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าอังวะเป็นอันมาก พระเจ้าอังวะจึงให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ซึ่งหักลงมาให้เป็นปกติดังเก่า แล้วเสด็จกลับเมืองอังวะ ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็ราบคาบอยู่เป็นอันดี แต่เมืองมฤตกับเมืองตะนาว พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้ขุนนางมารักษาอยู่ และเมืองลาวพุงคำ คือเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร พระเจ้ากรุงไทยก็ให้ขุนนางไทยไปกำกับอยู่ พระเจ้าอังวะก็มิได้ให้กองทัพไปตีหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ ทั้งห้าตำบลนี้ต่อไป ไทยกับพม่าก็งดสงครามกันตั้งแต่นั้น

จ.ศ.1026 เดือนอ้าย แผ่นดินไหว ยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งตกลงมาหลายชั้น อินทจักรหัก องค์พระเจดีย์ชำรุดไปมาก

จ.ศ.1027 เดือนยี่ พระเจ้ามังรายกะยอของตรัสสั่งให้จัดผังอินทจักร เดือนสาม ให้ยกยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง พระองค์มีชนมายุสามสิบเก้าปี อยู่ในราชสมบัติสามสิบสี่ปี

จ.ศ.1068 พระเจ้ามังรายกะยอของพระชนมายุ เจ็ดสิบสามปี สิ้นพระชนม์ อินแซะแมงราชบุตรได้ราชาภิเษก ชาวเมืองทั้งหลายเรียกว่า เนมะโยแมง แปลว่าเจ้าอาทิตย์ จ.ศ.1098 เนมะโยแมงสิ้นพระชนม์ ราชบุตรชื่อ มังลาวะมิน ได้ครองราชย์ต่อมา

จ.ศ.1097 พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามพระเจ้าธรรมิกราช ปรารถนาจะเป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะ ให้ราชทูตนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะยินดีนัก ให้แต่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการตอบกรุงศรีอยุทธยา ตั้งแต่นั้นมากรุงศรีอยุทธยากับกรุงอังวะเป็นทางพระราชไมตรีกัน

จ.ศ.1101 เดือนห้า เวลาเช้า เกิดแผ่นดินไหวอยู่นาน ฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาว ณ เมืองหงษาวดีหังลงมา

อ่านต่อ หน้า 11 >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย