วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
ข้าว (Rice) Oryza sativa L.
ข้าวโพด (corn, maize) Zea mays L.
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
ข้าวสาลี (Wheat) Tritcum aestivum Linn.
ข้าวบาร์เลย์ (Barley) Hordeum vulgare L.
ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.
เอกสารอ้างอิง
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
การจำแนกข้าวฟ่าง
ข้าวฟ่างเป็นพืชที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมาก
เนื่องจากมีการผสมข้ามระหว่างข้าวฟ่างที่เป็นพันธุ์ป่าและพันธุ์ปลูก
ในการจำแนกข้าวฟ่างพันธุ์ปลูกนั้นมีการจำแนกตามลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. การจำแนกตามลักษณะรูปร่างของเมล็ด กาบช่อย่อย และช่อดอก
โดยจำแนกตามกลุ่มสายพันธุ์ (cv.group) หรือเผ่าพันธุ์ (race) ดังนี้
- กลุ่มสายพันธุ์ไบคัลเลอร์ (cv. group Bicolor)
หรือเผ่าพันธุ์ไบคัลเลอร์ (race bicolor) ช่อดอกแผ่กระจาย
กาบช่อย่อยยาวห่อหุ้มเมล็ดขนาดเล็กไว้จนกระทั่งเมล็ดแก่ มีการปลูกในทวีปแอฟริกา
และเอเชียที่มีฝนตกมาก
ข้าวฟ่างในกลุ่มนี้บางพันธุ์มีน้ำตาลในลำต้นมากใช้ทำน้ำเชื่อมและโมลาส
(molasses) บางพันธุ์เมล็ดมีรสขมใช้ในการผลิตเบียร์
- กลุ่มสายพันธุ์คอดาทัม (cv. group Caudatum) หรือเผ่าพันธุ์คอดาทัม
(race caudatum) เมล็ดข้าวฟ่างกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายหลังเต่า
คือด้านหนึ่งแบนและอีกด้านหนึ่งนูนโค้ง ช่อดอกมีรูปร่างหลายแบบ กาบช่อย่อยสั้น
มีการปลูกกันอย่างกว้างขวางในประเทศ ชาด ซูดาน ไนจีเรีย และอูกันดา
- กลุ่มสายพันธุ์เดอร์รา (cv. group Durra) หรือเผ่าพันธุ์เดอร์รา
(race durra) ช่อดอกเบียดอัดกันแน่น
ช่อดอกย่อยมีลักษณะแบนไม่มีก้านช่อดอกย่อย
กาบช่อย่อยมีลักษณะโค้งอยู่ด้านล่างของเมล็ดซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกลมมีการปลูกกันมากบริเวณตอนเหนือของทะเลทรายซาฮารา
ส่วนที่แห้งแล้งในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา
แถบภาคตะวันออกและพื้นที่บางส่วนของประเทศอินเดีย
- กลุ่มสายพันธุ์กินี (cv. group Guinea) หรือเผ่าพันธุ์กินี (race
guinea) ช่อดอกขนาดใหญ่แผ่กระจาย และห้อยลงเมื่อเมล็ดแก่
เมล็ดมีลักษณะเบี้ยวและมีรอยบิด กาบช่อย่อยยาว มีการปลูกในทวีปแอฟริกา
ประเทศอินเดีย และพื้นที่บริเวณชายฝั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- กลุ่มสายพันธุ์แคเฟอร์ (cv. group Kafir) หรือเผ่าพันธุ์แคเฟอร์ (race kafir) มีช่อดอกเบียดอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกรวย ช่อดอกย่อยมีลักษณะรีไม่มีก้านช่อดอกย่อย กาบช่อย่อยแยกออกจากกันมีขนาดสั้นกว่าเมล็ด เมล็ดกลม มีการปลูกมากในเขตทุ่งหญ้าสะวันนา ตั้งแต่ประเทศแทนซาเนีย จนถึงแอฟริกาใต้ (Stenhouse and Tippayaruk, 1996)
ภาพที่ 4.45 ภาพวาดแสดงลักษณะช่อ
และผลที่มีเมล็ดอยู่ภายในของข้าวฟ่างในกลุ่มสายพันธุ์ต่างๆ
1. กลุ่มสายพันธุ์ไบคัลเลอร์ (cv. group Bicolor)
2. กลุ่มสายพันธุ์คอดาทัม
(cv. group Caudatum)
3. กลุ่มสายพันธุ์เดอร์รา (cv. group Durra)
4. กลุ่มสายพันธุ์กินี (cv.
group Guinea)
5. กลุ่มสายพันธุ์แคเฟอร์ (cv. group Kafir)
(Stenhouse and Tippayaruk,
1996)
2. การจำแนกตามสีของเมล็ด เป็นการจำแนกในทางการค้า
เมล็ดข้าวฟ่างมีสีสันต่างๆ ปรากฏอยู่บนผนังผล (pericarp)
หรืออาจอยู่บนเปลือกเมล็ด(seed coat) หรืออยู่ในเอนโดสเปิร์ม(endosperm)
ซึ่งพบว่ามีระดับสีต่างๆ มากกว่า 200 สี มีการจำแนกเมล็ดข้าวฟ่างเป็น 4 กลุ่ม
เพื่อใช้กำหนดราคาดังนี้
- เมล็ดสีเหลือง ได้แก่ สีเหลืองอ่อน สีเหลืองแก่ สีเหลืองทอง สีแสด สีแดง และสีชมพู
- เมล็ดสีขาว ได้แก่ สีขาวขุ่น สีขาวเป็นมัน สีครีมอ่อน
- เมล็ดสีน้ำตาล ได้แก่ สีน้ำตาลแดง
- เมล็ดสีคละ หมายถึง กลุ่มของเมล็ดข้าวฟ่างที่มีหลายสีปนกัน (จุฬี, 2540)
3. จำแนกตามการใช้ประโยชน์ เป็นการจำแนกที่นิยมกันมากดังนี้
- ข้าวฟ่างใช้เมล็ด (grain sorghum) มีการใช้เมล็ดเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์
บางพันธุ์ถูกปรับปรุงให้มีน้ำตาลในลำต้นมากและใบใหญ่
เพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ด ได้แก่ พันธุ์เฮกการีหนัก
เฮกการีเบา อู่ทอง 1 สุพรรณบุรี 60 เคยู 439 เคยู 630 และเคยู 8501
- ข้าวฟ่างหญ้า (grass sorghum)
มีการปลูกเพื่อใช้ต้นและใบเลี้ยงสัตว์อาจปลูกเป็นแปลงใหญ่เพื่อปล่อยให้สัตว์เข้าไปกิน
หรือตัดต้นมาทำเป็นหญ้าแห้ง หรือหญ้าหมัก ได้แก่ หญ้าซูดาน หญ้าจอนสัน
- ข้าวฟ่างหวาน (sorgo หรือ sweet sorghum) ในลำต้นมีปริมาณน้ำตาลมาก
ซึ่งมีการนำลำต้นมาหีบทำน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม
กากลำต้นที่เหลือนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์และทำเชื้อเพลิง ได้แก่
พันธุ์สุพรรณบุรี 1
- ข้าวฟ่างไม้กวาด (broom corn)
มีการปลูกเพื่อใช้ช่อดอกมาทำไม้กวาดปลูกกันมานานในยุโรปและอเมริกา
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ทำแปรงทาสี และพู่กันได้ด้วย
พันธุ์ที่มีการส่งเสริมโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ เคยูบี 1 (KUB1)
(ธำรงศิลป, 2547)
- ข้าวฟ่างคั่ว (pop sorghum) มีการนำเมล็ดมาคั่วให้พองแตกออกสำหรับรับประทานเหมือนข้าวโพดคั่ว เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เกษตรกรในประเทศไทยมีการปลูกข้าวฟ่างชนิดนี้บ้างแต่ในปริมาณน้อย เรียกข้าวฟ่างหางช้าง (จุฬี, 2540)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
การจำแนกข้าวฟ่าง
การใช้ประโยชน์
คุณค่าทางอาหาร
การขยายพันธุ์
นิเวศวิทยา
การเก็บเกี่ยว-การส่งออก