วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ธัญพืช

(Cereals)

      ธัญพืชเป็นพืชอาหารหลักของประชากรโลก คุณค่าทางอาหารส่วนใหญ่คือ คาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้งซึ่งมีอยู่เป็นปริมาณมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง เป็นแหล่งของพลังงานแก่ร่างกายมนุษย์

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณ 30,000 ปี ที่แล้วในยุคพาลีโอลิทิค (Paleolithic) มนุษย์ในยุคเริ่มแรกได้เก็บรวบรวมเมล็ดพืชวงศ์หญ้าชนิดต่างๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติมาใช้เป็นอาหาร ต่อมาจึงมีการคัดเลือกชนิดและพันธุ์ที่มีรสชาติถูกปาก และสามารถนำมาปลูกตลอดจนขยายพันธุ์เพิ่มเติมต่อไปอีกได้ มีการค้นพบหลักฐานว่า ตั้งแต่เมื่อ 8,000-7,000 ปีก่อนคริสตศักราชมีการปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์และแม่น้ำยูเฟรติส ในยุคนีโอลิทิค (Neolithic) เมื่อประมาณ 7,000-3,000 ปีก่อนคริสตศักราช ถูกพบว่ามีการเก็บรวบรวมพันธุ์ป่าของข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมิลเลท ในหลายพื้นที่ของโลก และยังพบถิ่นกำเนิดและแหล่งปลูกเริ่มแรกของธัญพืชชนิดต่างๆ หลายแห่ง และมีหลักฐานว่ามีการปลูกธัญพืชบริเวณรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียตะวันออก และยุโรปตะวันตก เมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตศักราช

การเก็บเกี่ยวพันธุ์ข้าวหรือธัญพืชชนิดต่างๆ มารับประทานเป็นอาหาร ทำให้มีการรู้จักคัดเลือกชนิด ขนาด และรสชาติของธัญพืชซึ่งเป็นที่ต้องการ และทำให้มีการพัฒนาระบบและวิธีการปลูกธัญพืชขึ้นทดแทนการออกไปเก็บจากต้นที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งนำมาถึงการพัฒนาระบบชลประทานในการปลูกข้าวหรือธัญพืชชนิดต่างๆ ด้วย

ธัญพืชที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cereals ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Ceres ซึ่งเป็นเทพเจ้าของโรมันผู้ซึ่งรับประทานขนมปังเป็นอาหาร ในยุคโบราณบริเวณที่เป็นแหล่งอารยธรรมปลูกข้าวสาลีเป็นปริมาณมาก ได้แก่ อียิปต์โบราณ ดินแดนเมโสโปเตเมีย และอาณาจักรโรมัน พื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมปลูกข้าวได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมการปลูกข้าวโพดเมื่อสี่พันปีมาแล้ว คือ อาณาจักรอินคาและอาณาจักรแอซเทคในอเมริกากลาง (Grubben and Partohardjono, 1996)

ธัญพืชยังมีบทบาทต่อประเพณีและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งทำการปลูกพืชนั้นๆ มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยการทำพิธีเคารพบูชาเทพเจ้าแห่งธัญพืช ในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการทำพิธีขอพรจากเทพเจ้าให้สามารถปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้เป็นปริมาณมาก โดยในประเทศไทยมีการนับถือแม่โพสพเป็นเทพธิดาแห่งข้าว และมีการทำขวัญข้าวในช่วงข้าวตั้งท้องหรือออกรวง โดยนำเครื่องสังเวยไปวางไว้ในนาข้าว และนำธงสามอันไปปักไว้ในนา แล้วนำน้ำมนต์ที่ได้จากพิธีวันออกพรรษา มาพรมที่ต้นข้าวเพื่อให้ข้าวออกรวงได้ง่าย


ภาพนาข้าวแบบขั้นบันไดทางภาคเหนือ
ของประเทศไทยในฤดูฝน (Pramkaew, 1996)


ภาพนาข้าวแบบขั้นบันไดทางภาคเหนือ
ของประเทศไทยในฤดูหนาวก่อนเก็บเกี่ยว (Pramkaew, 1996)

  • ชาวอินโดนีเซียมีความเชื่อว่า ข้าวทุกเมล็ดมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ และเชื่อว่าพระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ทรงเนรมิตให้ข้าวกำเนิดขึ้นในโลก และพระอินทร์เป็นผู้สอนมนุษย์ให้ปลูกข้าว
  • ชาวศรีลังกาทำพิธีปลูกข้าวตามกำหนดเวลาที่หมอดูทำนายไว้
  • ชาวญี่ปุ่นต้องบริโภคข้าวทุกเมล็ดไม่ให้เหลือติดก้นถ้วยหรือก้นจาน

ในประเทศจีนตอนใต้และบางส่วนของอินเดีย มีการทักทายกันด้วยคำว่า “กินข้าวแล้วหรือยัง” ซึ่งอาจมีพื้นฐานมาจากการขาดแคลนข้าวในการบริโภคประจำวันมาก่อน (ชาญ, 2536)

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีวันขอบคุณพระเจ้า (thanksgiving Day) เพื่อรำลึกถึงการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ของกลุ่มคนที่อพยพมาจากทวีปยุโรป ซึ่งมีการฉลองเทศกาลนี้เป็นประจำทุกปี (Grubben and Partohardjono, 1996)



ธัญพืชเป็นพืชอาหารหลักที่นิยมรับประทานกันทั่วโลก เนื่องจากลักษณะรูปร่างน่ารับประทาน มีขนาดเล็ก ให้พลังงานสูง ปลูกง่าย การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาง่าย การขนส่งสามารถทำได้สะดวก จำหน่ายได้ง่าย และสามารถขนส่งทางเรือซึ่งใช้ระยะเวลานาน โดยที่คุณภาพของธัญพืชแทบไม่เปลี่ยนแปลงไป

ในการปลูกธัญพืชต้องคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ค่า pH ในดิน และปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ภายในดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของธัญพืชแต่ละชนิด

การจำแนกธัญพืช

ในการจำแนกธัญพืชซึ่งเป็นที่นิยม คือ การจำแนกโดยพิจารณาจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ธัญพืชเมืองร้อน สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส ที่บริเวณเส้นรุ้ง 0-30 องศาเหนือและใต้ ได้แก่

  1. ข้าว (rice) เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีทั้งพันธุ์ที่เจริญเติบโตบนที่สูงและตามไหล่เขาซึ่งต้องการน้ำน้อย พันธุ์ที่เจริญในสภาพน้ำท่วมขังลึกไม่เกิน 1 เมตร และพันธุ์ที่เจริญในน้ำท่วมลึกถึง 3 เมตร
  2. ข้าวโพด (corn) สามารถเจริญเติบโตได้ดีเกือบทั่วโลกยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา นิยมปลูกมากในเขตร้อนชื้น แต่สามารถเจริญเติบโตในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นได้ ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 55 องศาเหนือและใต้
  3. ข้าวฟ่าง (sorghum) เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้

2. ธัญพืชเมืองหนาว สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่นถึงหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 10-20 องศาเซลเซียส บริเวณเส้นรุ้งที่ 30-60 องศาเหนือ และใต้ ได้แก่

  1. ข้าวสาลี (wheat) ปลูกมากใน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา และประเทศในทวีปยุโรป
  2. ข้าวบาร์เลย์ (barley) เจริญเติบโตได้ดีในเขตอุณหภูมิต่ำแถบตะวันออกใกล้ ยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อนำมาปลูกในเขตร้อนต้องเลือกสายพันธุ์ที่ค่อนข้างทนร้อน และปลูกบนภูเขาสูง หรือที่สูงซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นราบ
  3. ข้าวโอ๊ต (oats) ปลูกมากในเขตอากาศแบบอบอุ่นและแบบเมดิเตอร์เรเนียน
  4. ข้าวไรน์ (rye) ปลูกมากในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย สามารถทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและหนาวได้

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.
ข้าวโพด (corn, maize) Zea mays L.
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
ข้าวสาลี (Wheat) Tritcum aestivum Linn.
ข้าวบาร์เลย์ (Barley) Hordeum vulgare L.
ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.
เอกสารอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย