วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ธัญพืช
(Cereals)

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.
ข้าวโพด (corn, maize) Zea mays L.
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
ข้าวสาลี (Wheat) Tritcum aestivum Linn.
ข้าวบาร์เลย์ (Barley) Hordeum vulgare L.
ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.
เอกสารอ้างอิง

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.

วงศ์ GRAMINAE, POACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
พืชในสกุล Oryza มีถิ่นกำเนิดในดินแดนที่เรียกว่ากอนด์วันนาแลนด์ (Gondwanaland) ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงไปเมื่อ 200-600 ล้านปีที่แล้ว โดยดินแดนแห่งนี้ได้แยกตัวออกมาตามทฤษฎีการเลื่อนไหลของทวีปในยุคครีเตเชียส (Cretaceous period) เป็นเขตร้อนชื้นของทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศจีน โอเชียเนีย และทวีปออสเตรเลีย


ภาพรวงข้าวสุกเหลืองอร่ามเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว
(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2535)


ภาพข้าวสารของข้าวเหนียวและข้าวเจ้าสายพันธุ์ต่างๆ
ที่มีสีสันแตกต่างกัน เป็นพันธุ์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์
ของอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชนิด (species) ของข้าวป่าที่พบในทวีปเอเชียคือ Oryza nivara, O. rufipogon และ O. minuta ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในอินเดียตอนเหนือของบังคลาเทศ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมติดกับพม่า ไทย ลาว เวียดนาม มีการสันนิษฐานว่าข้าวป่าชนิด O. rufipogon เป็นต้นตระกูลของข้าวปลูกในทวีปเอเชีย คือ O. sativa ที่มีการวิวัฒนาการจากการเป็นข้าวป่าข้ามปีมาเป็นข้าวป่าล้มลุกและข้าวปลูกไปในที่สุด และมีการสันนิษฐานว่าการวิวัฒนาการของข้าวเกิดขึ้นบริเวณเชิงเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ซึ่งมีการคัดเลือกพันธุ์ไปปลูกตั้งแต่ยุคอินเดียโบราณ ต่อมาได้มีการคัดเลือกลักษณะที่ต้องการเป็นบริเวณกว้างขวางตั้งแต่อินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้ จากนั้นมีการนำไปเผยแพร่เป็นสามทางคือ

  • สายที่ 1 ถูกนำไปปลูกในบริเวณแม่น้ำเหลืองของจีน และแพร่หลายต่อไปยังประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตศักราช มีการคัดเลือกพันธุ์จนสามารถปลูกได้ในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ถูกจัดอยู่ในประเภท จาโปนิกา (japonica type) และมีการขยายการปลูกไปในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิตาลี อียิปต์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มีลักษณะเป็นข้าวต้นเตี้ย ฟางแข็ง ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยดี ใบสีเขียวเข้มและแคบ เมล็ดมีรูปร่างสั้นป้อมและร่วงยาก เมื่อหุงเมล็ดจะเกาะติดกันมียางเหมือนข้าวเหนียว
  • สายที่ 2 เป็นพวกที่มีถิ่นกำเนิดและมีการปลูกในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ถูกจัดอยู่ในประเภทอินดิกา (indica type) และถูกนำไปปลูกในบริเวณลุ่มน้ำแยงซีของจีนในราวปี ค.ศ. 200 มีลักษณะเป็นข้าวต้นสูง ล้มง่าย ไม่ค่อยตอบสนองต่อปุ๋ย ใบกว้าง สีเขียวอ่อน เมล็ดมีรูปร่างยาวเรียว มีทั้งเมล็ดร่วงง่ายและร่วงยาก
  • สายที่ 3 เป็นข้าวที่ถูกนำไปปลูกในประเทศอินโดนีเซียในระยะหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นข้าวที่ถูกคัดเลือกพันธุ์มาจากประเภทอินดิกา ซึ่งมีการปลูกมากในประเทศอินโดนีเซีย ถูกจัดอยู่ในประเภทจาวานิกา (javanica type) และมีการนำไปปลูกในประเทศฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นข้าวต้นสูง ฟางแข็ง ใบกว้างแข็ง มีสีเขียวอ่อน เมล็ดมีรูปร่างยาว มีความกว้างและความหนามากกว่าข้าวอินดิกา เมล็ดร่วงยาก


ภาพวาดแสดงลักษณะของเมล็ดข้าวชนิดต่างๆ
1. Oryza australiensis 2. O. granulate
3. O. longiglumis 4. O. meridionalis
5. O. meyeriana 6. O. minuta
7. O. nivara 8. O. officinalis
9. O. ridleyi 10. O. rufipogon
11. O. sativa 12. O. schlechteri (Vergara and Datta, 1996)

นอกจากนี้ข้าวเอเชียยังถูกนำไปปลูกเผยแพร่ในทวีปยุโรปและแอฟริกา ต่อมามีการนำไปปลูกในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ในคริสตวรรษที่ 17 สหรัฐอเมริกาได้นำเมล็ดข้าวจากหมู่เกาะมะละกาของประเทศอินโดนีเซียไปปลูกในประเทศ (ชาญ, 2536; บริบูรณ์, 2540; Chang and Harahap, 1996)

การปลูกข้าวในประเทศไทยนั้น ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการปลูกข้าวมานานประมาณ 9,000 ปี จากการขุดค้นพบมีดเกี่ยวข้าวในถ้ำผีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจากหลักฐานการขุดค้นที่บ้านโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ก็ค้นพบหลักฐานของเครื่องปั้นดินเผาที่มีแกลบผสมอยู่ ซึ่งคาดว่ามีการปลูกข้าวมานานประมาณ 5,500 ปี ส่วนที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบว่ามีการปลูกข้าวเมื่อประมาณ 2,500 – 3,000 ปี มาแล้ว



จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมล็ดข้าวและแกลบข้าวที่พบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่ขุดค้นพบได้ พบว่าที่ถ้ำปุงฮุง เป็นข้าวเมล็ดเรียว(slender type) หรือข้าวพวกอินดิกา คือ พวกข้าวเจ้า และข้าวใหญ่ (large type) หรือ อาจเป็นข้าวพวกจาวานิกา คือข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่งอกงามบนที่สูง และแกลบข้าวที่พบบริเวณบ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่นเป็นข้าวเมล็ดป้อม ซึ่งน่าจะเป็นข้าวเหนียวพวกอินดิกา ที่ปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริบูรณ์, 2540 ; กรมการค้าต่างประเทศ, 2548)

จากการศึกษาแกลบข้าวในแผ่นอิฐของโบราณสถานที่มีอายุในสมัยต่างๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น คือ ยามาโตะ วาทาเบะ(Yamato Watabe) โทมายะ อะกิฮามะ (Tomaya Akihama) และโอซามุ คิโนชิตะ(Osamu Kinoshita) ในปี พ.ศ. 2510-2512 ได้รายงานว่า

  • พุทธศตวรรษที่ 16-20 คนไทยปลูกข้าวเหนียวแบบนาน้ำขัง รองลงมาเป็นข้าวเหนียวที่ปลูกแบบข้าวไร่ มีการปลูกข้าวเจ้าน้อย
  • พุทธศตวรรษที่ 20-23 ยังมีการปลูกข้าวเหนียวแบบนาน้ำขัง และมีการปลูกข้าวเจ้ามากขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนข้าวเหนียวชนิดข้าวไร่มีการปลูกน้อยลงอย่างมาก
  • พุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา มีการปลูกข้าวเจ้ามากที่สุด โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลาง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวเหนียว ซึ่งในช่วงเวลานี้ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาที่คนไทยมีการติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวฮอลันดาได้ซื้อข้าวจากไทยไปขายต่อให้กับตลาดในหมู่เกาะมลายู และหมู่เกาะชวา จึงทำให้รูปแบบการปลูกข้าวของคนไทยจากข้าวเหนียวมาเป็นข้าวเจ้าเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน (ชาญ, 2536)

ข้าวเจ้าเป็นธัญพืชที่มีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับสองของโลกรองมาจากข้าวสาลี (บริบูรณ์, 2540) และมีการปลูกในทุกประเทศของทวีปเอเชีย เกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ถึงแม้ว่าข้าวจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและเขตค่อนข้างหนาว (ชาญ, 2536)

ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งได้แก่ประชากรในประเทศบรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
การจำแนกข้าว
การใช้ประโยชน์
คุณค่าทางอาหาร
การขยายพันธุ์
นิเวศวิทยา
การเก็บเกี่ยว
การส่งออก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย