วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ธัญพืช
(Cereals)

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.
ข้าวโพด (corn, maize) Zea mays L.
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
ข้าวสาลี (Wheat) Tritcum aestivum Linn.
ข้าวบาร์เลย์ (Barley) Hordeum vulgare L.
ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.
เอกสารอ้างอิง

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.

การจำแนกข้าว

พันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกเพื่อบริโภคนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไปมากมายตามความต้องการของผู้บริโภค ลักษณะพื้นที่และสภาพแวดล้อม ข้าวในประเทศไทยสามารถถูกจำแนกได้ดังนี้ (บริบูรณ์, 2540; นิรนาม, 2548 ก.)

1. การจำแนกพันธุ์ข้าวตามระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมที่ข้าวเจริญเติบโต แบ่งเป็น

  • ข้าวนาชลประทาน(irrigated rice) หมายถึง ข้าวซึ่งปลูกในสภาพนาที่มีน้ำขัง มีการทำนาเพื่อกักเก็บน้ำและมีการให้น้ำโดยระบบชลประทานซึ่งรักษาระดับน้ำไว้ 5-15 เซนติเมตรตลอดฤดูปลูก ได้แก่ พันธุ์ปทุมธานี 1 ปทุมธานี 2 และสุพรรณบุรี 60
  • ข้าวนาน้ำฝน(rainfed lowland rice) หมายถึง ข้าวซึ่งปลูกในสภาพนาที่มีน้ำขัง มีการทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ โดยอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติตลอดฤดูปลูก ระดับน้ำโดยทั่วไปไม่เกิน 50 เซนติเมตร แต่บางครั้งน้ำในนาอาจจะแห้งหรือมีระดับน้ำสูงกว่านี้ ขึ้นกับปริมาณของน้ำฝน ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เฉี้ยงพัทลุง เล็บนกปัตตานี
  • ข้าวทนน้ำลึก(deepwater rice) และข้าวขึ้นน้ำ(floating rice) ข้าวทนน้ำลึก หมายถึง ข้าวซึ่งปลูกในแหล่งที่มีระดับน้ำสูงไม่เกิน 1 เมตร และเมื่อระดับน้ำสูงเกิน 1 เมตร ต้นข้าวจะมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหนีน้ำได้ทันในระยะ 1-3 เดือนแรก ทำให้ต้นข้าวมีการยืดยาวตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ พันธุ์ ปราจีนบุรี 2 ปิ่นแก้ว 56 เล็บมือนาง 111
  • ข้าวไร่ (upland rice) เป็นข้าวที่ปลูกในสภาพที่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในพื้นที่สภาพไร่หรือที่ดอน ซึ่งไม่มีการทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ ไม่มีน้ำขังบนผิวดิน ปลูกโดยวิธีหยอดหรือโรยเมล็ดแห้งลงในดินโดยตรง ได้แก่ พันธุ์ขาวโป่งไคร้ เจ้าฮ่อ น้ำรู ลีซอสันป่าตอง ซึ่งปลูกทางภาคเหนือ และพันธุ์กู้เมืองหลวงสำหรับปลูกทางภาคใต้


ภาพการปลูกข้าวเจ้าในนาชลประทานที่ได้รับน้ำตลอดปี


ภาพการปลูกข้าวเจ้าในนาน้ำฝน (Pramkaew, 1996)


ภาพการปลูกข้าวโพดและข้าวเจ้า
แบบข้าวไร่ของชาวไทยภูเขา (มูลนิธิโครงการหลวง, 2548)

 

2. การจำแนกพันธุ์ข้าวตามลักษณะความไวต่อช่วงแสง แบ่งเป็น

  • พันธุ์ข้าวไวต่อความยาวของช่วงแสง (photoperiod sensitive rice variety) โดยปกติข้าวเป็นพืชวันสั้น (short-day plant) ซึ่งต้องการสภาพช่วงวันหรือช่วงแสงสั้น ในขณะที่มีการเจริญเติบโตในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นให้มีการสร้างและออกดอกหรือรวงข้าว ซึ่งมีวันออกดอกที่ค่อนข้างแน่นอนทุกปี แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
    - ข้าวเบา (early maturing rice) ออกดอกในช่วงปลายเดือน กันยายนถึงราววันที่ 20 ตุลาคม
    - ข้าวกลาง (medium maturing rice) ออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม
    - ข้าวหนัก (late maturing rice) ส่วนใหญ่ออกดอกเดือน พฤศจิกายน บางพันธุ์ออกดอกเดือนธันวาคมหรือมกราคม
  • พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อความยาวของช่วงแสง (photoperiod insensitive rice variety) เป็นข้าวที่มีการออกดอกตามอายุ ซึ่งนับเป็นจำนวนวันตั้งแต่วันตกกล้าถึงวันออกรวง และจะเก็บเกี่ยวได้ภายหลังจากออกรวงประมาณ 30 วัน ซึ่งมักมีอายุตั้งแต่ 90-140 วัน สามารถปลูกได้ตลอดปีและนิยมปลูกในนาปรังที่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูก

3. การจำแนกพันธุ์ข้าวตามชนิดของแป้งในเนื้อเมล็ด แบ่งเป็น

  • ข้าวเหนียว (glutinous rice หรือ waxy rice) ประกอบด้วยแป้งอะไมโลเพคทิน (amylopectin) เป็นส่วนใหญ่ มีแป้งอะไมโลส (amylose) น้อยหรือไม่มีเลย เมื่อเป็นข้าวสารมีสีขุ่น เมื่อนึ่งแล้วได้เมล็ดข้าวสุกที่จับตัวกันเหนียวและมีลักษณะใส ได้แก่ พันธุ์สันป่าตอง 1 เขี้ยวงู สกลนคร หางหยี 71 กข 2 กข 4 กข 6 กข 8
  • ข้าวเจ้า (non-glutinous rice) มีแป้งอะไมโลสอยู่ 7-33 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นอะไมโลเพคทิน เมื่อเป็นข้าวสารมีลักษณะใส เมื่อหุงสุกแล้วมีสีขาวขุ่น เมล็ดร่วนไม่ติดกัน ได้แก่ พันธุ์กข 1 กข 2 กข 15 ปทุมธานี 1 ขาวดอกมะลิ 105 หอมนิล

ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมของข้าวจากโครโมโซม 24 ตัว และยีน 40,000 ชนิด โดยมีรหัสพันธุกรรม(genome) 42x108 คู่เบส รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไทย และประเทศอื่นๆ กำลังถอดรหัสพันธุกรรมข้าวในประเทศของตน เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตมากขึ้น ต้านทานต่อโรค แมลง และวัชพืช มีการออกดอกเร็ว สามารถใช้น้ำได้น้อยลง มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ปริมาณโปรตีน วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และไอโอดีน (นิรนาม, 2547 ; Benette and Leitch, 2005)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
การจำแนกข้าว
การใช้ประโยชน์
คุณค่าทางอาหาร
การขยายพันธุ์
นิเวศวิทยา
การเก็บเกี่ยว
การส่งออก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย