วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ธัญพืช
(Cereals)

ข้าว (Rice) Oryza sativa L.
ข้าวโพด (corn, maize) Zea mays L.
ข้าวฟ่าง (Sorghum) Sorghum bciolor (L.) Moench
ข้าวสาลี (Wheat) Tritcum aestivum Linn.
ข้าวบาร์เลย์ (Barley) Hordeum vulgare L.
ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.
เอกสารอ้างอิง

ข้าวไรน์ (Rye) Secale cereale L.

วงศ์ GRAMINAE, POACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

บริเวณเทือกเขาของประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน และตะวันออกกลาง เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว แต่เดิมถูกจัดเป็นวัชพืชในนาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ต่อมามีการนำไปปลูกเพื่อบริโภค จากนั้นมีการแพร่กระจายมายังประเทศอิรักและตุรกี ซึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา รัสเซีย ทวีปยุโรปตอนกลาง และทางตะวันตก ซึ่งเจริญเติบโตได้ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่น มีความทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้งและน้ำค้างแข็ง สามารถเจริญเติบโตได้จนถึงเขตเส้นรุ้งที่ 60 องศาเหนือ และบนพื้นที่สูงในเขตอากาศแบบร้อนชื้นและเขตกึ่งร้อน เช่น ในพื้นที่ของทวีปแอฟริกาทางภาคใต้และภาคตะวันออก (Darwinkel, 1996; Levetin and McMahon, 2003)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สปริงไรน์(spring rye) เป็นพืชปีเดียว ส่วนวินเทอร์ไรน์(winter rye) เป็นพืชสองปี ลำต้นอ่อนนุ่มไม่มีเนื้อไม้ แตกกอเป็นกระจุก ลำต้นสูง 1-3 เมตร สีเขียวปนฟ้า ระบบรากแผ่กระจายได้ดีมีความลึก 1-2 เมตร กอของลำต้นตั้งตรงลำต้นผอมเรียว มี 6-12 ปล้องขึ้นกับสายพันธุ์ บริเวณข้อของลำต้นมีลักษณะตัน ส่วนบริเวณปล้องมีลักษณะกลวง ข้อบริเวณโคนลำต้นมีการแตกหน่อใหม่ กาบใบยาวและห่อหุ้มลำต้นแบบหลวมๆ เขี้ยวใบมีขนาดเล็กและสั้น ลิ้นใบเป็นจักแหลม แผ่นใบรูปแถบผสมรูปใบหอก กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาว 7-15 เซนติเมตร มีลักษณะโค้ง มีหาง ช่อดอกย่อยติดอยู่บนแกนกลางช่อดอกแบบสลับ ดอกย่อยไม่มีก้านดอกย่อย กาบช่อย่อยยาว 1 เซนติเมตร กาบล่างมีลักษณะแคบ ความยาว 1.8 เซนติเมตร มีหางยื่นยาวออกมา 2-8 เซนติเมตร มีฟันเลื่อยเล็ก ๆ ที่สันตรงกลางกาบล่าง กาบบนอยู่ทางด้านบนของกาบล่าง ดอกย่อยมีเกสรเพศผู้ 3 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นพู่แยกออกเป็นสองแฉก ผลแบบธัญพืชรูปขอบขนาน ยาว 5-9 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ มีร่องแคบๆ ปลายแหลม (Darwinkel, 1996)


ภาพวาดแสดงส่วนต่างๆ ของข้าวไรน์
1. ลำต้นและราก 2. ดอกย่อย
3. ดอกสมบูรณ์เพศที่นำกาบหุมออก
4. ดอกไม่สมบูรณ์
5. เมล็ด (Darwinkel, 1996)

การจำแนกข้าวไรน์

จำแนกตามฤดูกาลปลูก

  • ข้าวไรน์สำหรับปลูกฤดูใบไม้ผลิ(spring rye)
  • ข้าวไรน์สำหรับปลูกฤดูหนาว(winter rye)

จำแนกตามการใช้ประโยชน์

  • ข้าวไรน์ขนมปัง (Rye bread) เพื่อเป็นอาหารมนุษย์
  • ข้าวไรน์ผลิตเมล็ดทำอาหารเสริมของมนุษย์หรือเลี้ยงสัตว์ (Rye Millet)

การใช้ประโยชน์

นำเมล็ดข้าวมาบดเป็นแป้งสำหรับทำขนมปัง ขนมเค้ก หรือผสมกับแป้งสาลีในการทำขนมปังหรือขนมเค้ก ซึ่งเป็นที่นิยมมากในทวีปยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ สวีเดน โปแลนด์ เยอรมัน และรัสเซีย เมื่อนำเมล็ดไปเพาะให้งอกจะได้ข้าวมอลต์ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตเบียร์

เมล็ดข้าวไรน์ถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเลี้ยงสัตว์ ฟางข้าวและลำต้นสดก็ถูกนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวต้นอ่อนสำหรับเลี้ยงสัตว์แล้วไถกลบส่วนที่เหลือลงดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

นอกจากนั้นฟางข้าวยังถูกนำมาใช้ปูพื้นคอกสัตว์ คลุมแปลงปลูกพืช ผลิตกระดาษ กระดานอัด และใช้เป็นเชื้อเพลิง (Darwinkel, 1996; Levetin and McMahon, 2003)

คุณค่าทางอาหาร

ส่วนของเมล็ดที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 14 กรัม โปรตีน 11 กรัม ไขมัน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 69 กรัม เส้นใย 2 กรัม และเถ้า 2 กรัม มีโปรตีนชนิดไลซีน (lysine) และทรีโอนีน (threonine) ค่อนข้างสูง แต่มีปริมาณกลูเท็น (gluten) ต่ำ ทำให้ขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวไรน์มีเนื้อแน่นแข็ง เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด หนัก 30-40 กรัม (Darwinkel, 1996)

 

การขยายพันธุ์

ข้าวไรน์ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดลงในแปลงปลูก โดยการหยอดด้วยมือคน หรือเครื่องจักรลงในแถวที่เป็นร่องลึก 2-4 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 10-25 เซนติเมตร(Darwinkel, 1996)

นิเวศวิทยา

ข้าวไรน์ชนิดวินเทอร์ไรน์ต้องการอุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส ภายใน 4 วัน สำหรับการงอกของต้นกล้า และต้องการอุณหภูมิต่ำในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุมลำต้นสำหรับกระตุ้นการออกดอก (vernalization) ซึ่งทนอุณหภูมิต่ำได้ถึง –25 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 10-15 องศาเซลเซียส จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของลำต้นและการแตกกอ ซึ่งอุณหภูมิที่ใช้ในการเจริญเติบโตนี้ไม่ควรสูงเกิน 20 องศาเซลเซียส ข้าวไรน์สามารถทนทานต่อการขาดน้ำได้ขณะออกดอกควรได้รับสภาพอากาศแห้งและมีแสงแดดจัด ถ้าได้รับฝนที่ตกต่อเนื่องกันหลายวัน ความชื้นในอากาศสูง และอุณหภูมิต่ำในช่วงที่มีมีการถ่ายเรณู จะทำให้ไม่มีการติดเมล็ดเกิดขึ้น การถ่ายเรณูอาศัยลมเป็นพาหะ และวินเทอร์ไรน์เป็นพืชวันยาวต้องการความยาวช่วงวัน 14-20 ชั่วโมงสำหรับการออกดอก พื้นที่ซึ่งมีการปลูกวินเทอร์ไรน์อยู่ในเขตเส้นรุ้ง 40-65 องศาเหนือ

สปริงไรน์มีการเจริญเติบโตในเขตพื้นที่สูงของเขตอากาศร้อนชื้นและเขตกึ่งร้อนชื้นเป็นพืชที่ไม่ต้องการสภาพอุณหภูมิต่ำกระตุ้นการออกดอก และความยาวช่วงวัน 12-13 ชั่วโมง สำหรับการออกดอกและติดเมล็ด

ข้าวไรน์เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ค่า pH 5-7.5 ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงจะทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น (Darwinkel, 1996)

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวจะกระทำเมื่อใบเหี่ยวแห้ง ลำต้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาลและความชื้นของเมล็ดลดต่ำลงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าต้องการให้คุณค่าทางอาหารในเมล็ดยังคงอยู่ในสภาพดี อาจเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดมีความชื้น 18-20 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำเมล็ดมาลดความชื้นลงให้ต่ำกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ โดยการตากเมล็ดในแปลงปลูกหรือเข้าเครื่องอบลดความชื้นเมล็ด ก่อนเก็บรักษา ซึ่งจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาเมล็ดได้เป็นเวลานาน

ในการเก็บเกี่ยวนิยมใช้การเกี่ยวด้วยมือหรือเครื่องจักร จากนั้นทำการนวดเมล็ดลดความชื้นของเมล็ด และบรรจุในภาชนะก่อนทำการเก็บรักษา(Darwinkel, 1996)

การส่งออก
ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวไรน์ได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการปลูกตามสถานีทดลอง จึงไม่มีการผลิตเพื่อการส่งออก แต่มีการนำเข้าเพื่อนำมาใช้ผลิตอาหารเสริม และเบเกอรี่ชนิดต่างๆ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย